วันพุธที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2556

บ่ขาย ๆ






เวลาได้ออกสนาม  เข้าหมู่บ้าน
จะด้วยไปจัดประชุมเขียนสื่อการเรียน
หรือจะด้วยไปเยี่ยมเยียนครูในโครงการ  เดือนละครั้ง ตามแผนงาน ก็แล้วแต่

สิ่งหนึ่งที่ก๊วนซ่าของเราชอบนักชอบหนา
ก็คือการได้ซื้อของ (เล็ก ๆ น้อย ๆ) ตามหมู่บ้าน ติดไม้ติดมือมาด้วยเสมอ

แม้จะไม่มีกฎระเบียบชัดเจนว่าห้ามซื้อของ
(ความหมายก็คือ  ห้ามใช้เงินในหมู่บ้าน)
แต่ก็ดูเหมือนเราเองจะเกร็ง ๆ  เกรง ๆ อยู่เหมือนกัน ว่าทำแล้วไม่ค่อยเหมาะค่อยควร
เกรงว่า "เงิน" จะไปทำลายคุณค่าบางอย่างในชุมชน
ยากที่จะหาความพอดีระหว่างคำว่า มากไป หรือ น้อยไป

แต่กระนั้นก็ยังทำอยู่เนือง ๆ
เพราะคิดว่าไม่ได้มากมายอะไร และบางสถานการณ์ก็กลับจะได้ช่วยเหลือชาวบ้าน

"สมบัติบ้า" ที่เคยมีคนบ่นว่า จึงมีอยู่เต็มบ้าน
ผ้าถุงเอย  ผ้าห่มเอย  ย่ามเอย  กระบุง ตะกร้า  หม้อไห
และแม้แต่ปิ่นปักผมก็ยังสามารถซื้อสด ๆ โดยดึงออกจากมวยผมของแม่เฒ่าได้

ร้ายจริง ๆ !

ตอนนั้น อะไร ๆ ที่เป็นของชาวบ้าน เห็นสวยเห็นงามกันไปหมด  น่าแปลกแท้ ๆ

และด้วยความที่เป็นก๊วนเดียวกัน  ชอบอะไรคล้าย ๆ กัน
รสนิยมถึงกันว่างั้นเถอะ
บางครั้งจึงเกิดพฤติกรรมน่าชังขึ้นในหมู่พวก
นั่นคือ - แย่งกันซื้อ

อยากให้เห็นภาพเวลาแม่คุณทั้งหลายพากันกระโดดผลุงขึ้นบันไดกระท่อมหลังหนึ่ง
เพียงเพราะหลานชายของแม่เฒ่ามาส่งข่าวว่า
"ครู ๆ  แม่เฒ่าให้มาถามว่าจะซื้อผ้ามั้ย"

บันไดกระท่อมแทบพังเลยทีเดียว

ผ้าซิ่นทอลายน้ำไหลของชาวกะเหรี่ยง
ที่ยังย้อมสีแดงฝาดของเปลือกไม้นั้น ยังมีมนต์เสน่ห์ไม่เสื่อมคลาย
สนนราคาก็ถูกแสนถูก สำหรับคนเมืองอย่างเรา

ฉันได้เสื้อแม่เฒ่ากะเหรี่ยง จากแม่ฮ่องสอน
เป็นเสื้อผ้าฝ้ายทอมือ ย้อมคราม ปักลูกเดือยทั้งตัว สวยสุดใจ
แม้จะมีรูโหว่นิดหน่อย เพราะเป็นเสื้อเก่าของแม่เฒ่า

ไม่ได้ไปถามซื้อ  นั่งอยู่ในบ้านพักดี ๆ แม่เฒ่าก็เดินเข้ามาบอกขายให้
แม่เฒ่าม้วนเสื้อเป็นท่อนกลม ๆ ยื่นมาตรงหน้า
พูดภาษากันไม่รู้เรื่อง  แต่สื่อความกันเข้าใจ
ทำไม้ทำมือ เดี๋ยวเดียวก็รู้เรื่อง

อีกครั้งหนึ่ง ที่ฉันได้กางเกงปักของเย้ามาครอบครองด้วยความบังเอิญ
ตอนนั้นอยู่ที่บ้านเย้า  แม่จัน เชียงราย
แม่เฒ่าคนหนึ่ง ขอร้องให้ช่วยซื้อกางเกง (ใช้แล้ว) ของเธอ
เธอกำลังต้องการเงิน เพื่อจะลงไปหาหมอในอำเภอ

ฉันจ่ายเงินค่ากางเกง 500 บาท ตามที่เธอเรียกด้วยความเต็มใจ
งานฝีมือ ปักมือกันทั้งตัวอย่างนี้ ราคาตามตลาดในเมือง
ขายกันเป็นพันหรือกว่านั้น






เพื่อนเราบางคนเป็นนักสะสมย่าม  เขามีย่ามนับร้อยใบ
(หากนับรวมที่สะสมมาแต่ต้น)
แต่เหลือจริง ๆ ไม่กี่ใบหรอก เพราะแกชอบแจกจ่ายประสาคนมีน้ำใจ




พวกเราก็อย่างนี้แหละ  ทำท่างกแย่งชิงของกันไปอย่างนั้นเอง
พอได้มาแล้วก็เอามาอวด  มาชื่นชมกัน
ใครพูดถูกใจก็ยกให้เขาไปดื้อ ๆ  บางทีให้จนตัวเองแทบไม่มีเหลือ
เสียแรงที่อุตส่าห์แย่งชิงกันมาแทบแข้งขาหัก

คราวหนึ่ง คณะเราขึ้นไปจัดประชุมที่ดอยแม่สวรรค์ อำเภอแม่สะเรียง แม่ฮ่องสอน
เพื่อให้ผู้ร่วมประชุม ซึ่งส่วนใหญ่มาจากภาคกลาง ได้พักผ่อนคลายเครียด
เราจึงจัดให้คณะได้ไปเที่ยวชมตลาดแม่สะเรียงกันช่วงหนึ่ง

พวกเราเจ้าของงานก็แยก ๆ กันไปตามกลุ่มวิทยากร

จังหวัดแม่ฮ่องสอนมีประชากรเป็นชาวเขาเสียส่วนใหญ่
ตามตลาด ถนนหนทางจึงเต็มไปด้วยชาวกะเหรี่ยง  ชาวลัวะ และไทยใหญ่

ผู้หญิงกะเหรี่ยง ผู้หญิงลัวะส่วนใหญ่ จะชอบใส่กำไลมือจนเต็มแขน
เรียกว่าตั้งแต่ข้อมือเกือบถึงข้อศอก ทั้งสองข้างเลยทีเดียว

เพื่อนเราคนหนึ่ง คงไปถูกใจกำไลเงินของหญิงลัวะคนหนึ่งเข้า
เธอคงไม่ได้คิดจะซื้อ  คงหมายแค่เข้าไปชื่นชม

ทีแรกเธอคงจะเดินเข้าไปเพียงคนเดียว
แต่ตามวิสัยคนไทยเลือดสุพรรณ ไปไหนไปกัน
คนอื่น ๆ ที่เดินตามๆ กันมาใกล้ๆ จึงอดไม่ได้ที่จะแวะเข้ามารุมดูด้วย
จึงดูเหมือนฝูงชน กำลังกลุ้มรุมทำอะไรกันสักอย่างกับหญิงลัวะผู้น่าสงสาร

ตอนที่ฉันเดินเข้าไปสมทบ
ฝูงชนกำลังจับมือถือแขนหญิงลัวะ
พิศดูกำไลที่ข้อแขนสองข้างของเธอด้วยความชื่นชม

แม้รูปลักษณ์ของพวกเราจะไม่เหมือนพวกโจรห้าร้อย
แต่ก็ทำให้เธอตื่นตระหนก เสียขวัญอยู่ไม่น้อย

เธอถอยกรูด  ยกแขนชี้ไปข้างหน้าทั้งสองข้าง
กระดกมือขึ้นเป็นเชิงห้าม  แล้วพูดซ้ำ ๆ ซาก ๆ ว่า
"บ่ขาย..ๆ ๆ.."

นั่นแหละฝูงชนผู้ลืมตัว ทำบาปทำเวรให้แก่ชาวบ้านโดยไม่ตั้งใจ
จึงค่อย ๆ รู้สึกตัว พร้อมใจกันหัวร่องอหาย  สลายกลุ่ม
ก่อนจะเตร็ดเตร่ออกไปหาเหยื่อรายต่อไป










ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น