วันอังคารที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2556

สงคราม






น้ำเต้าหู้เจ้าหนึ่ง จอดรถเข็นขายอยู่หน้าร้านก๋วยจั๊บ
ทั้งคู่ต่างก็เป็นเจ้าดัง  ขายดีกันทั้งคู่

ถ้อยทีถ้อยอาศัยกันมานานเนหลายปี

วันหนึ่งทะเลาะกันเรื่องอะไรไม่รู้
เจ้าน้ำเต้าหู้บอกไม่ส่ง ถ้าจะไปนั่งกินในร้านก๋วยจั๊บ
เธอหาโต๊ะพับได้ตัวเล็กๆ  2-3 ตัว มาตั้งข้างรถเข็นให้คนนั่งกินแทน

ร้านก๋วยจั๊บก็ประกาศไม่รับสั่งน้ำเต้าหู้ให้ลูกค้าของเธออีกต่อไป

ลูกค้าจับอารมณ์ความรู้สึกเป็นศํตรูกันได้
บรรยากาศที่ไม่เป็นมิตร มีผลต่อบรรยากาศการกินของลูกค้าอย่างแน่นอน

อาหารที่เคยอร่อย เมื่อผสมอารมณ์เกลียดชังลงไปด้วย
รสชาติดีๆ ก็หายไปได้เหมือนกัน

ยิ่งถ้าลุกลามเป็นการด่าทอกันข้ามหัวคน
ก็มีโอกาสจะเสียลูกค้าด้วยกันทั้งสองฝ่าย

เจ้าขายสลิ่ม ลอดช่อง  กับเจ้าขายน้ำเต้าหู้ในตลาดอีกแห่งหนึ่งก็ไม่ถูกกัน
ร้านอยู่ติดกัน ที่ทางมีจำกัด  จึงจำต้องตั้งโต๊ะติดกัน

คนกินได้รับการชี้เขตด้วยเชือกฟางที่ขึงขวางไว้
ห้ามรุกล้ำไปในแดนของอีกฝ่ายอย่างเด็ดขาด

คับแคบเรื่องพื้นที่ ยังไม่เท่ากับใจที่คับแคบยิ่งกว่า

เวลาเรามองจากข้างนอก ด้วยสายตาของบุคคลที่สาม
ที่คิดว่าไม่มีผลประโยชน์ร่วมกับฝ่ายไหน
เราจะเห็นเส้นแบ่งนี้ชัดเจน แม้ไม่ได้ขึงเชือกแบ่งเขต

และบางครั้งก็อาจเผลอตัดสิน สรุปว่า
มันช่างไร้วุฒิภาวะกันเสียจริงๆ

แต่เมื่อใดที่เรากลายเป็นคู่กรณีไปเสียเอง
เราก็จะกลายเป็นส่วนหนึ่งของกองฝุ่น
เราจะมองไม่เห็นอะไร
เพราะฝุ่นกำลังเข้าตา

ความเกลียดชังทำให้เกิดภาวะมืดบอด
หรือภาวะฝุ่นเข้าตา
ปวดแสบปวดร้อน

ความเกลียดชังคือสงคราม
ที่ยากจะจบลงอย่างสันติ


ความเกลียดชังทำให้คนชาติเดียวกันฆ่ากันตายเป็นเบือ
บางครั้งจบลงด้วยการแบ่งแยกประเทศ
แล้วยังตามล่าล้างผลาญกันต่อไม่เลิก
เป็นโศกนาฏกรรมร่วมกันของมนุษยชาติ

สงครามเกิดขึ้นทุกที่  ทุกหนทุกแห่ง
เกิดตั้งแต่ในบ้าน  ในครอบครัว จนถึงท้องถนน
เกิดในประเทศ  ต่างประเทศและลามไปทั่วทั้งโลก

ถ้าพูดแบบพระ
ต้องบอกว่าจุดเริ่มต้นของสงคราม
อยู่ภายในใจของเรานี่เอง..

จะแสวงหาความสงบก็ต้องเริ่มที่ใจของเรานี่แหละ
ดับไฟในใจให้ได้เสียก่อน

และนั่นคือสิ่งที่ยากทีสุด...


วันนี้ขณะที่นั่งทำงาน
เสียงดังนอกหน้าต่าง ..พั่บ  ๆ  ๆ  พั่บ ๆ ๆ .. ติดๆ กัน
นานจนต้องลุกไปดู

นกเขาสองตัว กำลังกางปีกจิกตีกันอยู่ที่ลานบ้าน ใต้ร่มไผ่
ไล่จิก ไล่ตี คุมเชิงกันไม่ยอมถอย
ท่าทางไม่มีใครยอมใคร

นาทีนั้นอดคิดไม่ได้ว่า
โชคดีนะที่เราได้เกิดมาเป็นคน
ยังทันรู้ว่าต้องดับไฟในใจให้ได้เสียก่อน

ถ้าเราเป็นนกเขาสองตัวนี้
จะต้องเกิดอีกกี่ชาติก็ไม่รู้กว่าจะได้เป็นคน
และกว่าจะได้รู้...









วันเสาร์ที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

ความตายพรากเราจากกันไกล








ปี 2555  น่าจะเป็นปีที่ได้หัวเราะ ฮ่าฮ่าฮ่า อย่างมีความสุข
ตามสัญญลักษณ์เลข 5 ที่คนไทยเอามาใช้แทนเสียงหัวเราะ

แต่กลับเป็นปีแห่งการสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ของฉัน

ฉันสูญเสียคนใกล้ชิดที่สุดในชีวิตไปถึงสองคน
ในเวลาห่างกันเพียงวันเดียว

คนหนึ่งเปรียบเหมือนแม่คนที่สอง
เป็นผู้มีพระคุณยิ่งใหญ่ในชีวิต

อีกคนเป็นพี่สาวร่วมโลก  แม้ไม่ได้ร่วมสายเลือด
แต่ก็สนิทชิดเชื้อ รู้จักรู้ใจกันมายาวนานเกินกว่า 3 ทศวรรษ

ความตายพรากเราจากกันไกล
ทั้งที่ทำใจไว้ มาช่วงระยะเวลาหนึ่งแล้ว
ตั้งแต่ครั้งรู้ข่าวว่าทั้งคู่ล้มป่วย

เรานั่งอยู่หน้าห้องไอซียู รอเข้าเยี่ยมวันละสองรอบ
วันแล้ววันเล่า...
เป็นช่วงเวลาแห่งความอึดอัด ทรมาน

ใจของเราเล่นเอาล่อเอาเถิดกับความตายอย่างเหน็ดเหนื่อย
ต่อรองและแม้กระทั่งติดสินบนกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์
เหมือนเล่นเกม ที่ผลัดกันแพ้ชนะกับโชคชะตาเป็นรายวัน
อยู่ยาวนานหลายเดือน..

วันที่ 23 พฤศจิกายน 2555   พี่สาวจากไปตอนตีสอง
วันที่ 24 พฤศจิกายน 2555  น้าจากไปตอนสองทุ่ม

เหตุการณ์เกิดขึ้นตรงหน้า ทุบหัวที่มึนงงให้แกว่งไปมา
ด้วยภาระหน้าที่มากมาย ที่ต้องจัดการต่อไป

เวลาผ่านไปแล้ว 1 ปีเต็ม...

ฉันพยายามเปิดลิ้นชักแห่งความทรงจำ
แต่พบว่าทุกอย่างยังคงผูกปม
พันกันยุ่งเหมือนเส้นด้ายอยู่ในนั้น
บางอย่างยากต่อการคลี่คลาย
และอาจต้องใช้เวลาทั้งหมดของชีวิต
กว่าจะเข้าใจทุกสิ่งได้ถี่ถ้วน

น้าจากไปแบบที่เจ้าตัวไม่คาดคิดว่าจะเป็นการป่วยครั้งสุดท้าย
จึงไม่ได้จัดการเรื่องใดๆทั้งสิ้น
ทิ้งปัญหามหึมาไว้ให้ผู้เกี่ยวข้องสะสาง

ท่ามกลางฝุ่นตลบของปัญหา
เราได้เห็นความเป็นมนุษย์ในแง่มุมที่ชัดเจนขึ้น

ตัวละครหลากหลายใบหน้า เปลี่ยนกันมาเข้าฉาก
ละครชีวิตฉากหนึ่งจบลง  ในขณะที่อีกฉากหนึ่งกำลังเริ่มต้น






ปัจฉิมโอวาทของพระพุทธเจ้าก่อนปรินิพพาน
ลอยมาเข้าหัวสมองของฉันตลอดเวลา
กระจ่างแจ้ง ชัดเจน ลึกเข้าไปในหัวใจ
กระทั่งทุกวันนี้..


"ท่านทั้งหลายจงยังกิจทั้งปวงให้ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาทเถิด"







วันศุกร์ที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

ไผ่





บ้านเราปลูกไผ่หลากหลายพันธุ์
ตั้งชื่อเองว่าสวนไผ่เพียงดิน

ตอนที่ปู่ยังอยู่ เมื่อเห็นลูกหัวแข็ง ดื้อด้าน ดันทุรังจะปลูกต้นไผ่ในบ้านให้ได้
ปู่รีบถีบจักรยานจากสวนปู่ เพื่อมาบอกเคล็ดลับบางประการ
เพราะรู้ว่าห้ามมันไม่ได้แล้ว

เคล็ดของปู่คือ ตอนที่ขุดหลุมเตรียมปลูกไผ่
ให้หาก้อนหินมาก้อนหนึ่ง ใส่ลงไปที่ก้นหลุม ก่อนจะเอาไผ่ลงตาม
แล้วอธิษฐานว่า..
ตราบใดที่หินก้อนนี้ยังไม่แตกสลายกลายเป็นดิน
ก็ขอให้ผู้ปลูกมีอายุยืนยาวดั่งต้นไผ่...

ดังนั้นใครอยากอายุยืนมากก็หาหินก้อนใหญ่หน่อยก็แล้วกัน

คนโบราณไม่ชอบให้ปลูกไผ่ในบ้านด้วยเหตุผลหลายประการ

เพราะไผ่เป็นไม้ใหญ่ กอใหญ่
ย่อมแผ่ขยายรากไปรบกวนบ้านช่อง
ลำที่สูงยาวก็อาจจะโค่นโน้มลงเกะกะระราน

ส่วนใบเหลืองที่ร่วงหล่นจนเกือบหมดต้นในช่วงฤดูแล้ง
ก็เป็นเชื้อไฟอย่างดี




อีกเหตุผลหนึ่งที่ไม่อยากให้ปลูกก็คือ
ไผ่มีอายุขัย

เมื่อถึงเวลาหมดอายุขัย ก็จะออกดอกสะพรั่งต้น
จากนั้นไม่นาน ไผ่ก็จะตายยกกอ

น่าใจหายนะ   หากไผ่ทั้งสวนของเราถึงอายุขัยพร้อมกัน
ชวนกันออกดอกสั่งลา
แล้วพากันแห้งเฉาไปทั้งสวน ทั้งบ้าน

แค่คิดก็ใจหายวาบ ๆ

แล้วคนก็จะเชื่อมโยงความตายนี้ไปถึงเจ้าของ
ตีความรหัสนัยแห่งธรรมชาติ ยึดโยงกับคนปลูก

อดคิดถึงวันเก่าๆนั้นขึ้นมาไม่ได้
ปู่กลัวลูกหัวดื้อมีอันเป็นไป  จึงรีบถีบรถเข้ามาหา
ทั้งที่ตอนนั้นปู่ไม่ค่อยแข็งแรงแล้ว
หลายครั้งที่ปู่ขี่รถไป ล้มไป เพราะแข้งขาอ่อน ไม่มีเรี่ยวแรง

ผ่านมาแล้ว 20 ปี พร้อมกับการจากไปของปู่
ไผ่บางกอเคยออกดอก  แต่ส่วนใหญ่ยังคงอยู่

เจ้าของพยายามยื้อชีวิตไผ่กอนี้ด้วยเทคนิคบางอย่าง
คือตัดลำไผ่ลงให้หมด เหลือตอสูงจากพื้นไม่มาก
จากนั้นก็กระหน่ำให้ปุ๋ยยูเรีย
ไม่นานไผ่ก็แทงหน่อ แตกยอดขึ้นมาให้ชื่นใจ

วิธีนี้ยื้อชีวิตไผ่กอนี้มาได้อีก 10 ปีทีเดียว
แต่ในที่สุดเขาก็จากไปอยู่ดี เพราะหมดอายุขัย

เมื่อรู้ว่าจะต้องจากไปแน่ ๆ แล้ว
ก็ทิ้งดอกลงสู่ดิน

รอน้ำฝน น้ำฟ้ามาชุบชูชีวิตใหม่
ก่อเกิดไผ่ต้นน้อยมากมาย ภายใต้ต้นแม่
เป็นตัวตายตัวแทน
ที่ทำให้โลกนี้ยังคงมีต้นไผ่

ธรรมชาติวางแผนของเขามาดีแล้ว

มนุษย์ต่างหากที่ยังต้องเรียนรู้อีกยาวไกล



วันเสาร์ที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2556

คนสาละวีก




ไม่มีใครไม่รู้จัก "แก้วโมโห"
ชื่อของหล่อนไปไกลเกินรัศมีหมู่บ้านหนองป่าครั่งนี่เสียอีก

เหตุที่แก้วโมโหมีคนรู้จักกว้างขวาง
ก็เพราะความเป็นคน "สาละวีก" ของหล่อนนั่นเอง

"รงค์ วงษ์สวรรค์" เคยให้นิยามคำว่า "สาละวีก"
ผ่านปากของน้อยแก้วใน "ขุนนางป่า" ไว้ว่า
"บ้า ๆ บอ ๆ  ไม่ครบสลึง ไม่ครบบาท"

แก้วโมโหก็เป็นคนอย่างนั้นแหละ

เมื่อหลายเดือนก่อน แก้วโมโหไปนอนเปลือยกายอยู่ใต้ต้นฉำฉา ริมทางหลวง
เดือดร้อนถึง "ตาเป็งผีกุ๋ม" ผัวของหล่อน
ที่ต้องมาลากมาดึง จับใส่เสื้อผ้าเป็นพัลวัน

แก้วโมโหมีผัวมาแล้วหลายคน ลูกก็คงจะหลายคน
ต่างกระจัดพลัดพรายกันไปคนละทิศละทาง
ไม่มีใครรู้ว่าหล่อนเป็นลูกเต้าเหล่าใคร เพราะหล่อนมาจากหมู่บ้านอื่น

ส่วนตาเป็งผีกุ๋มก็เคยมีเมียมีลูกมาแล้วเหมือนกัน
เรื่องอย่างนี้ไม่มีใครถือ ยิ่งเป็นคนสาละวีกทั้งคู่

เรือนรักของทั้งสองเป็นกระท่อมมุงหลังคาสัปรังเค
ปลูกอยู่ท้ายสุดของหมู่บ้าน

ที่ตรงนั้นเป็นที่สาธารณะ หลวงเป็นเจ้าของ เพราะติดกับลำเหมืองชลประทาน
อาศัยว่าเป็นบ้านนอกคอกนา  ห่างไกลจากในเมือง
พวกเขาจึงยังคงอาศัยอยู่ได้
กระท่อมน้อยมีไม้รวกเป็นรั้ว  หลังบ้านปลูกกล้วยอ้อย ตะไคร้อีก 1 กอ

ตาเป็ง  ที่จริงชื่อเป็งเฉย ๆ แต่เพราะคุ้มดีคุ้มร้าย เลยได้ชื่อต่อท้าย
ผีกุ๋ม ก็บอกอยู่แล้วว่าผีคุมหรือผีสิง

ตาเป็งมีอาชีพเป็นสัปเหร่อ  พอมีเงินมาให้เมียกินเหล้าไปวัน ๆ
ว่างเว้นจากการเป็นสัปเหร่อก็รับจ้างทำงานเล็ก ๆ น้อย ๆ
งานที่หาคนรับจ้างทำยาก อาทิ ขึ้นไปเก็บซากหนู หรือซากตุ๊กแกตายเน่าบนฝ้าเพดานบ้าน
งานขุดลอกท่อน้ำทิ้ง  หรืองานตักส้วม

ส่วนแก้วโมโห ชื่อก็บอกสรรพคุณของหล่อนอยู่ในตัว
ชาวบ้านมักมีสมญานามให้กัน
เป็นความคิดรวบยอดอันน่าทึ่งเกี่ยวกับคน ๆ นั้น

เมื่อเป็นสาวแก้วโมโหคงเป็นคนงามและช่างแต่งตัว
ทุกวันนี้ก็ยังเห็นเค้าความงามหลงเหลืออยู่  แม้อายุจะขึ้นเลข 5 มาหลายปีแล้ว

บางวันหล่อนแต้มสีปากแดงแช้ด  ใส่ต่างหูตุ้งติ้ง
ซิ่นดอกเสื้อดวงสีสด  ผมสั้นดัดเข้ารูปทันสมัย

แต่บางวันหล่อนก็ใส่ยกทรงสีขาวมอซอตัวเดียว (ยังนุ่งซิ่นอยู่)
เดินแอ่นหน้าแอ่นหลังอยู่กลางถนนตั้งแต่เช้าตรู่

ยังดีว่าหล่อนเป็นคนผอม นมต้มไม่ค่อยมี
จึงไม่ยั่วยุอารมณ์คนดูเท่าไร

หล่อนเป็นคนโมโหร้าย โดยเฉพาะกับตาเป็ง
ถ้าวันไหนหล่อนคิดว่าตาเป็งมุบมิบเงินไว้ ไม่ให้หล่อนเอาไปซื้อเหล้า
หล่อนจะอาละวาดบ้านแตก   และตาเป็งเป็นฝ่ายแพ้เสมอ

ตาเป็งเป็นคนตัวเล็ก ผอมบางยิ่งกว่าเมีย แต่ก็แกร่ง แข็งแรง
ขุดดินฟันหญ้า  ทำงานหนักได้สารพัด
แกตัดผมเกรียนเลยมองเห็นหูกาง
ตาโตดูตื่น ๆ ตลอดเวลา  กระนั้นก็มีแววซื่อ  บางคนว่าทึ่ม ไม่ทันคน

ตาเป็งสวมรองเท้าบู๊ทประจำกาย  แบกจอบพาดบ่า พร้อมลุยทุกที่
เดินอยู่ริมถนน   เดินลัดทุ่ง   เข้าไปถามหางานทำตามที่ต่าง ๆ
บางวันก็เคียงคู่ไปกับศรีภริยาแก้วโมโห
หยอกเอินกันไปเหมือนผัวหนุ่มเมียสาวยังไงยังงั้น

บ้านหนองป่าครั่ง เมื่อก่อนคงจะเลี้ยงครั่งกันมาก
เดี๋ยวนี้ยังพอมีร่องรอยเหลือนิดหน่อยจากต้นฉำฉาริมถนนไม่กี่ต้น

เดี๋ยวนี้คนทำนาน้อยลง เพราะไม่มีที่ดินเหลือ
พวกเขากลายเป็นแรงงานรับจ้าง
มีโรงงานทำเครื่องปั้นดินเผาอยู่รอบ ๆ หมู่บ้าน 2-3 โรง
สาวน้อยสาวใหญ่ ไปเป็นคนงานโรงถ้วยกันเกือบทั้งนั้น

ส่วนพวกผู้ชาย ถ้าไม่ทำงานโรงถ้วยก็ยังมีงานก่อสร้าง
เพราะพ่อกำนันเป็นผู้รับเหมาเสียเอง เรียกหาแรงงานจากลูกบ้านของตัวเองได้โดยง่าย

ระยะหลังๆ เริ่มมีคนภายนอกหมู่บ้าน เข้ามาถามหาซื้อที่ดิน
เมืองขยายออกมารอบนอกมากขึ้น
บางทีก็เป็นคนกรุงเทพฯ ที่หนีน้ำท่วมมาหาที่ดินสำรองไว้
หลายหมู่บ้านมีคนมากว้านซื้อเพื่อทำสวนยางพารา

บางคนตั้งใจมาอยู่จริงๆ
แต่บางคนที่มีเงินเย็นเหลือก็กะซื้อไว้เก็งกำไร

ล่าสุดมีชายสูงวัยจากที่อื่น  มาติดพันหญิงชาวบ้านคนหนึ่ง
ไปๆมาๆหลายรอบ  กระทั่งวันหนึ่งก็มาสร้างบ้านหลังใหญ่อยู่ติดถนน

ชื่อจริงชื่ออะไรไม่รู้ แต่ใครๆเรียกเขาว่า ผอ.
คนรู้ข้อมูลบอกว่า เขาเคยเป็น ผอ.โรงเรียนบ้านนอกแห่งหนึ่ง
ทีี่่มีนักเรียนทั้งโรงเรียนไม่ถึง 10 คน เป็นโรงเรียนขนาดเล็กที่รอทางราชการมายุบ

ตอนนี้เกษียณแล้ว  เลยมาใช้ชีวิตบั้นปลายกับแม่หม้ายคนนี้
ส่วนลูกเมีย ผอ. ไม่มีใครพูดถึง

ผอ.คนนี้คงมีสตางค์บำเหน็จบำนาญโขอยู่ จึงมาสร้างบ้านหลังใหญ่โตอย่างนี้ได้
ถ้าไม่บอกก็คงไม่มีใครรู้ว่าแกเป็น ผอ.
เพราะชอบนุ่งกางเกงขาสั้นเก่าๆ  ไม่ใส่เสื้อ  พุงพลุ้ย
เดินไปเดินมา ทำโน่นทำนี่  ดูไม่มีสง่าราศีแบบพวกข้าราชการอื่นๆ
ที่ชอบใส่เสื้อซาฟารี  และชอบเข้าร้านคาราโอเกะ

เรื่องของเรื่องเกิดจากอีตา ผอ.นี่เป็นคนขยันเกินไป
หลังบ้านของแกเป็นถนนเส้นเล็กๆ  ที่คั่นระหว่างบ้านกับลำเหมืองชลประทาน

เป็นลำเหมืองเส้นเดียวกับที่่ตาเป็งและนางแก้วโมโห มาสร้างกระท่อมอยู่

คนเคยมีอำนาจอยู่ในโรงเรียน แม้จะมีครูลูกน้องแค่คนเดียว
กับเด็กนักเรียนอีก 6-7 คน  แต่ก็เป็นอำนาจที่ติดตัวมาจนคุ้นชิน

อีตา ผอ.จึงไม่คิดจะถามไถ่ใคร
แกจัดการล้อมรั้วบริเวณผืนดินข้างลำเหมือง เลยหลังบ้านแกออกไป
ซึ่งที่จริงเป็นที่สาธารณะ  อยู่ในความดูแลของสำนักงานชลประทาน

ตาแก่ ผอ.ทำกรงเลี้ยงเป็ด  เลี้ยงไก่  กว้างยาวไม่ต่ำกว่า 3 เมตรคูณ 9 เมตร
แบ่งส่วนปลูกผักอีกต่างหาก  ล้อมรั้วไม้ไผ่แน่นหนา
ครอบครองที่ดินสาธารณะอย่างภาคภูมิ

ที่สำคัญแกคงคิดว่ากำลังสร้างวีรกรรม
ทำตัวให้เป็นตัวอย่างแก่ชาวบ้าน ในเรื่องของการพึ่งตัวเองอยู่กระมัง
โดยไม่เคยสำเหนียกว่า  การพึ่งตัวเองแบบนี้
จะกลายเป็นความเห็นแก่ตัว  หรือการเอาเปรียบสังคมใดๆทั้งสิ้น

ที่สำคัญกรงไก่ของแกไปสร้างติดหัวสะพาน
ที่ชาวบ้านใช้สัญจรไปมา  ทำให้มองไม่เห็นรถที่วิ่งสวนมาอีกด้าน
จนทำให้เกิดอุบัติเหตุรถชนกันตรงจุดนั้นหลายครั้ง

ขี้เป็ดขี้ไก่ก็ไหลลงลำเหมืองสาธารณะที่ชาวบ้านใช้กันอยู่
คนเป็น ผอ. คิดเรื่องนี้ไม่ได้ แปลกจริง
ชาวบ้านส่วนหนึ่งจึงพากันไปแจ้งผู้ใหญ่บ้าน

ผู้ใหญ่บ้านซึ่งปกติเป็นคนไม่ค่อยพูด  และไม่ค่อยมีเรื่องราวอะไรในหมู่บ้านให้แก้ไข
งานนี้ก็ยิ่งพูดไม่ออก เพราะเจอ ผอ. หัวหมอที่ดูมีสถานภาพสูงกว่า
จึงต้องวิ่งไปยืมมือเจ้าหน้าที่ชลประทานให้มาพูดแทน

ผอ.หัวหมอไม่ยอมรับคำสั่งของเจ้าหน้าที่ชลประทาน
ที่ให้รื้อถอนกรงเป็ดกรงไก่ออกเสีย

เหตุผลของตาแก่ ผอ.ก็คือ
ถ้าจะไล่เขา ต้องไล่ตาเป็งผีกุ๋มกับนางแก้วโมโหให้ได้ก่อน
เพราะสร้างอยู่บนที่สาธารณะเหมือนกัน

เอาล่ะซี ตอนนี้ตาเป็งกับนางแก้วถูกจับเป็นตัวประกัน

เจอไม้นี้ทุกคนก็อึ้ง
เจ้าหน้าที่ชลประทานกลับไปแล้ว
ผู้ใหญ่บ้านสั่นหัว  ส่ายหน้า
ชาวบ้านงง
ตาเป็งกับนางแก้วไม่รู้เรื่องว่าเขาพาดพิงถึงตัวเอง

และกรงเป็ดกรงไก่ยังคงอยู่เย้ยยุทธจักร

สรุปแล้วไม่เฉพาะแต่ตาเป็งผีกุ๋มและนางแก้วโมโห
ตัวละครทั้งหมดในเรื่องนี้
ล้วนเป็นคนสาละวีก








วันพุธที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2556

แสดงงาน




จู่ ๆ ก็มีคนมาชวนให้ร่วมแสดงงานศิลปะ

ครั้งแรกในชีวิตเลยนะนี่

ความรู้สึกนึกสนุก ทำให้รับปากรับคำ
ทั้งที่ ทั้งความรู้และฝีมือมีเท่าหางอึ่ง
และมีแต่ตาและใจ ที่ชอบดูงานศิลปะของคนอื่นตลอดมา

หัวข้อเกี่ยวกับวันแม่
ที่ตอนหลังมาช่วยกันคิดจนได้ชื่อมาว่า  "จากสายเปลไกว..."

จัดแสดงที่หอศิลป์ลำปาง ระหว่างวันที่ 3-31 สิงหาคม 2556
หอศิลป์เล็ก ๆ (แต่งดงามและเปี่ยมพลัง) ของเอกชน
ที่ต้องขอบคุณตรงนี้อีกครั้ง ในจิตสาธารณะของเจ้าของ
คือมูลนิธินิยม ปัทมะเสวี









เดิมที ศิลปินแท้คนเริ่มความคิด ซึ่งจองคิวหอศิลป์มาข้ามปี
บอกว่าจะเป็นการแสดงงานของเพื่อนสองครอบครัว
คือครอบครัวเขา และครอบครัวเรา

แต่ไป ๆ มา ๆ  นอกจากพ่อแม่ลูกแล้วยังมีหลาน  เพื่อนของหลาน
เพื่อนของพ่อ น้องของพ่อ มาร่วมแจมอีก
จึงกลายเป็นงานสนุกสนานของพวกเราที่กลายเป็นครอบครัวใหญ่ขึ้นมาแทน

ฉันมีงานชิ้นหนึ่งทำไว้นานแล้ว
แขวนฝุ่นจับข้างฝาบ้านมาเป็นปี




คุณพ่อบ้านชี้ขาดว่า "ชิ้นนี้แหละ ๆ ๆ"
หลังจากฉันบอกจะขอสละสิทธิ์ เพราะคิดว่าไม่มีปัญญาเป็นศิลปินกับเขา
แรก ๆ ตอนตกปากรับคำรู้สึกสนุก แต่พอใกล้วันส่งงาน  ความจริงและความกลัวเริ่มปรากฏ
จึงจำเป็นต้องกินบุญเก่า

คิดถึงครั้งที่ลูกๆ จากบ้านไปร่ำเรียนห่างไกล
ฉันเก็บเสื้อผ้าเก่าของลูกที่โละ ๆ แล้วมาตัดปะเป็นเรื่องราว

กระโปรงดอกดวงของลูกสาว เสื้อเก่าของลูกชาย
รวมทั้งเสื้อสีอิฐของยาย ตั้งแต่ครั้งคุณยายยังสาว
ก็เอามาเย็บเป็นตัวผนังบ้าน

กลายเป็นภาพแทนใจ ไว้ดูเวลาคิดถึงลูก คิดถึงแม่

ส่วนอีก 2-3 ภาพที่เอาไป"โชว์"  (วาดจริง ๆ ราว 7-8 ภาพ)
วาดขึ้นสด ๆ ก่อนติดตั้งไม่เกิน 5 วัน
เป็นภาพผู้หญิงล้วน






ฉัน "สนุก" กับการวาดผู้หญิงพวกนี้อยู่ราว 2-3 วัน
คิดว่าเข้าใจลาง ๆ ถึง "อารมณ์ศิลปิน" แล้วล่ะ

ฉันใช้จานสีของลูก ที่ยังมีเนื้อสีแห้ง ๆ ติดอยู่ในช่องต่าง ๆ เยอะแยะ
ไม่รู้หรอกว่าสีอะไร เป็นอะไร
เพราะฉะนั้นจึงไม่มีคำอธิบายภาพว่าเป็นสีน้ำ  สีอะคริลิก ฯ
หรืออื่น ๆ เหมือนภาพอื่นเขา  เพราะไม่รู้ค่ะ
รู้แต่ว่าเป็นสีเหลือ

กระดาษที่วาดก็เป็นกระดาษไผ่ขนาดโปสการ์ด
เหลือจากการคัดส่งให้ลูกค้า  วางทิ้งๆ อยู่ตรงนั้นตรงนี้
เมื่อก่อนรู้สึกว่ากระดาษพวกนี้หนามาก จะเอาไปทำอะไรได้ ทำการ์ดก็ไม่สวย
แต่พอเอามาวาด  ทีนี้เลยเห็นช่องทางสนุกไปใหญ่

วิญญาณแม่ขี้เหนียวยังไม่หมด
ฉันไม่ยอมเอาภาพที่วาดไปใส่กรอบ
ประเมินแล้วหลายร้อยบาทแน่ ๆ
ฝีมือระดับเราจะต้องไปลงทุนอะไรขนาดนั้นเนอะ

นึกขึ้นได้ว่าตอนลูกเล็ก ๆ เรียนอยู่ชั้นประถม
ลูกเคยได้รางวัลโน่นนี่นั่นมากมาย
แรก ๆ ก็บ้าเห่อ เอาใบประกาศพวกนี้ไปใส่กรอบ ห้อยเต็มฝาบ้าน

นานวันเข้าเริ่มรู้สึกรก
จึงปลดลงมากอง ๆ รวมกัน ยังไม่รู้จะเอาไปไหน
คิดว่าถ้าพวกเขาโต มีบ้านของตัวเอง คงจะอยากกลับมาเก็บสมบัติเก่าพวกนี้ไปเก็บต่อ
จินตนาการไปแทน

ฉันไปรื้อกรอบจากกองพวกนี้แหละ
ลอกเทป  ถอนตะปู  เก็บใบประกาศของลูกรวม ๆ กันไว้ในถุง
ใส่รูปวาดของตัวเองไปแทน  มันช่างพอดี๊ พอดี

เป็นอันว่า ในส่วนของฉันไม่ต้องเสียเงินเลยสักบาท

ยังไงก็ขอบคุณอาจารย์สมพงษ์ ศิลปินตัวจริงที่ชักชวนไปร่วมสนุก
ขอบคุณหอศิลป์อีกครั้ง

ไม่ได้อยากเป็นศิลปิน เพราะรู้ว่ายากสำหรับตัวเอง
แต่สามวันที่ได้ "สนุก" กับการวาด ก็เป็นประสบการณ์ที่สุดคุ้มของฉัน

วันเปิดงาน พวกเรา 2-3-4 ครอบครัว แห่กันไปให้กำลังใจงานของตัวเอง
มีผู้คนเข้ามาดูงานกันมากมาย  ทั้งไทยทั้งเทศ  ลูกเด็กเล็กแดง
ที่ดีมาก ๆ คือเด็กนักเรียน วัยรุ่น ที่มากันเป็นกลุ่มใหญ่ ๆ สนุกสนาน




บรรยากาศของกาดกองต้ากับหอศิลป์เป็นกันเองมาก ๆ
เพราะกลมกลืนเป็นส่วนหนึ่งของกันและกัน
บางคนยังเดินแทะลูกชิ้นปิ้งอย่างเอร็ดอร่อย ตอนที่ก้าวเท้าเข้าประตูมา
(แต่ตามระเบียบก็ห้ามนำน้ำ อาหารขึ้นไปในส่วนของการแสดงงานอยู่แล้ว)

บางคนอาจรู้สึกเหมือนบรรยากาศงานวัด
แต่ก็เป็นงานวัดที่คลาสสิคเอามาก ๆ

ลูกหลานคนหนึ่งพูดว่า
หอศิลป์ที่กรุงเทพฯยังไม่เคยมีคนเข้ามาดูงานมากขนาดนี้เลย
ขอบอก

























วันจันทร์ที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2556

ผืนผ้าแห่งชีวิต







จักรซิงเกอร์หลังนี้อายุมากกว่าฉันราวปีสองปี

แม่เคยเล่าความหลังครั้งชีวิตยังอบอวลด้วยความรัก ช่วงแต่งงานใหม่ ๆ
จักรหลังนี้คล้าย ๆ จะเป็นของขวัญที่พ่อซื้อให้แม่หลังการแต่งงาน เพราะแม่อยากได้มาก

ราคาในยุคเมื่อ 60 ปีก่อนนั้น  3500  บาท
หากเอามาเทียบกับค่าของเงินในสมัยนี้  คูณด้วยสิบ จะได้หรือเปล่าก็ยังไม่รู้

นับว่าไฮโซเอาการ แม่ฉัน

ทั้งที่พ่อเป็นเพียงเสมียนตัวเล็ก ๆ ของบริษัทขนส่งทางรถไฟแห่งหนึ่ง
แม่ก็เป็นเพียงแม่ค้าขายข้าวแกง  ในร้านของพี่สาวที่ได้สัมปทานจากสถานีรถไฟ
ไม่เคยได้เงินเดือนจากพี่สาว
ได้เพียงกินอยู่ฟรี และทำงานให้อย่างหนักตลอดเวลาหลายปี

แม่เล่าว่า ป้าสัญญาว่าจะซื้อทองให้แม่เป็นค่าตอบแทน
แต่ก็ไม่เคยให้  เพราะป้าติดเล่นหวยจนงอมแงม
ขายของดีแค่ไหน ได้เงินมากแค่ไหนก็ไม่เคยมีเหลือ เพราะไปเสียกับการเล่นหวย
มีหนี้มีสินรุงรังจนกระทั่งเลิกกิจการไป

ความรักในการเย็บผ้า ตัดผ้าของแม่แท้ ๆ ที่ทำให้ใจกล้า คิดซื้อจักรแพง ๆ อย่างนี้
ทั้งที่ไม่มีโอกาสได้ร่ำเรียนการตัดเย็บจากสถาบันไหน
แต่แม่ก็ขวนขวายเรียนด้วยตัวเอง
จากหนังสือผู้หญิงที่มีในยุคสมัยนั้น เช่นแม่บ้านการเรือน  หรือศรีสัปดาห์

ฉันยังเก็บสมุดวาดแพทเทิร์นเล่มหนึ่งของแม่ไว้จนบัดนี้





แม่เรียนหนังสือแค่ชั้น ป.4  แต่ลายมือสวยอย่างน่าทึ่ง
เป็นลายมือตัวโต ๆ ที่มีเส้นมั่นคง สม่ำเสมอ
เวลาเขียน แม่ตั้งใจและมีสมาธิอย่างยิ่ง








น่าแปลกอีกอย่างที่แม่เป็นคนชอบเขียนบันทึก  ดูผิดวิสัยคนเรียนมาน้อย
ไปทำอะไร  ที่ไหน  เมื่อไร  แม่เขียนไว้หมด
ใครพูดอะไรที่กระทบกระเทือนใจ หรือประทับใจ ก็จะบันทึกไว้

แม้แต่ดูโทรทัศน์  ตอนไหนใครพูดอะไรที่โดนใจก็จะจดไว้หมด
กระดาษจดของแม่มีไปทั่ว  ตั้งแต่เศษกระดาษที่ใคร ๆ ทิ้ง
ขอบหนังสือพิมพ์ส่วนที่ว่างอยู่  กระดาษซองบุหรี่

เรียกว่ากระดาษอะไรก็ตามที่มีที่ว่างให้เขียนและอยู่ใกล้มือ  แม่คว้ามาเขียนได้ทั้งนั้น

หลังจากนั้นก็จะรวบรวมไปเขียนลงในสมุดบันทึกเล่มเล็กเล่มน้อยของแม่
ที่มีหลายเล่ม หลายขนาด ตามแต่จะมีใครให้มา

ในตะกร้าใบเล็ก ๆ ของแม่ ที่หิ้วขึ้นหิ้วลงจากบ้านชั้นล่างขึ้นชั้นบน หรือหิ้วไปไหนมาไหน
นอกจากจะเต็มไปด้วยยาดม ยาหม่อง  ยาหอม และสารพัดยาแล้ว
ก็จะต้องมีสมุดบันทึกและปากกาอยู่ด้วยเสมอ

ผลงานตัดเย็บเสื้อผ้าที่แม่เรียนจากหนังสือ
ก็คือเสื้อผ้าของลูก ๆ
ทั้งชุดที่ใส่อยู่บ้านและเสื้อผ้าชุดนักเรียน  กระโปรง  กางเกง
ที่แม่ตั้งใจตัดให้ใหญ่เกินตัวไว้เสมอ

ฉันยังจำความรู้สึกอายเพื่อนได้
เมื่อต้องนุ่งกระโปรงยาวจนเกือบถึงตาตุ่มไปโรงเรียน
ดูเหมือนเราแทบจะไม่มีโอกาสได้ใส่เสื้อผ้าตัวใหม่ที่พอดีตัวเลยสักครั้ง
มีแต่เสื้อผ้า "เผื่อโต" แทบทั้งสิ้น

เมื่อพวกเราโตขึ้นและแยกย้ายกันไปเรียนหนังสือไกลบ้าน ไกลจากแม่
แม่ก็ไม่มีโอกาสเย็บเสื้อผ้าให้พวกเราใส่อีก

จักรของแม่ถูกทิ้งว่างไม่ได้ใช้งานอยู่นานหลายปี
จนผ้าคลุมจักรดั้งเดิมสีน้ำตาล ลายดอกไม้คุ้นตาผืนนั้นเปื่อยขาดหมด
แต่แม่ก็ยังคงหยอดน้ำมันจักรของแม่อยู่ไม่ขาด

ครอบครัวเราย้ายบ้านหลายครั้งหลายหน
แต่ก็ยังขนจักรหลังนี้ไปด้วยทุกครั้ง
กระทั่งสุดท้าย  แม่ยกให้เป็นสมบัติของฉัน
จักรหลังนี้จึงได้ตามฉันมาอยู่ที่บ้านหลังปัจจุบัน

ฉันใช้จักรเย็บผ้า  หัดตัดเสื้อผ้า ซ่อมแซมอะไรต่อมิอะไรมากมาย
ใช้งานหนักจนรู้สึกสำนึกในบุญคุณ

มีคนแนะนำให้ซื้อมอเตอร์มาใส่ จะได้เย็บเร็วขึ้น
แต่ฉันอยากถีบจักรแบบเก่ามากกว่า
ไม่เห็นจำเป็นต้องเร็วอะไรกันนักหนา

แวบหนึ่ง  คิดถึงสิ่งที่มหาตมะคานธีเคยบอกว่า
เครื่องมือเครื่องใช้สมัยใหม่ที่ท่านยอมรับได้เพียงอย่างเดียวก็คือ จักรเย็บผ้า
แต่ถ้าคานธีรู้ว่าจักรเย็บผ้ายุคนี้พัฒนาไปไกลขนาดไหนแล้ว
ท่านจะยังยืนยันความคิดเดิมอยู่หรือเปล่าก็ไม่รู้...


วันหนึ่ง จักรของฉันมีอาการรวนเรบางอย่าง
จนต้องไปตามหาช่างมาซ่อม

ช่างที่มาซ่อมให้ เป็นช่างประจำร้านซิงเกอร์ ชื่อช่างปรีชา
ช่างบอกฉันเมื่อซ่อมเสร็จแล้วว่า

"รักษาจักรหลังนี้ให้ดีนะครับ เป็นของแท้
กระสวยนี่ก็เป็นของแท้ ติดมากับจักร"

จักรหลังนี้เป็นจักรที่นำเข้าจากอังกฤษ
เขาบอกให้ฉันดูสัญญลักษณ์บางอย่าง บางที่ที่ฉันไม่เคยสนใจสังเกตมาก่อน




ของแท้นี่เองจึงราคาสูง และใช้งานได้ดี ทานทน ทนทานมาจนทุกวันนี้
หลังจากช่างเปลี่ยนอะไหล่บางตัวที่เสื่อมทรุดไปตามกาลเวลา
จักรหลังนี้ก็กลับมาใช้งานได้ดีเหมือนเดิม

แม้ลวดลายบางส่วนหลุดลอก
พื้นโลหะบางที่ที่ใช้งานบ่อยถลอกปอกเปิก
พื้นไม้บางส่วนมีรอยขีดข่วนจากการใช้งาน
และฝาผนังบางส่วนเริ่มเคลื่อนตัวแยกออกจากรอยเดิม

แต่แก่นแท้  คือโครงสร้าง และชิ้นส่วนสำคัญของจักรยังดีอยู่
จนนึกอยากติดทองคำเปลวตรงไหนสักที่ เป็นการคารวะ

ฉันเคยซื้อจักรอีกหลังหนึ่ง เมื่อไม่นานมานี้
ด้วยความคิดที่อยากทนุถนอมจักรหลังเก่า ไม่อยากให้ใช้งานหนักมาก
จะได้อยู่ด้วยกันนานๆ

จักรใหม่ตรานกหรือตาปลาอะไรสักอย่าง  เมดอินไชน่า
ราคาแค่สองพันบาท  เห็นแก่ของถูก
ซื้อมาแล้วก็เหมือนโยนเงินทิ้ง เพราะเป็นจักรที่ห่วยแตก (ทั้งที่ทดลองเย็บดูที่ร้าน ก็ดูดี)
แทบอยากยกไปคืนเจ๊เจ้าของร้าน   แต่รู้ว่าไม่มีทาง
ของถูกจึงกลายเป็นของแพงอย่างยิ่ง

ไป ๆมา ๆ ฉันก็ต้องกลับมาใช้จักรเก่า ที่ดีงามเสมอต้นเสมอปลาย
จักรใหม่ที่ใช้ไม่กี่ครั้ง กลายเป็นขยะ  เป็นของรกบ้าน
หากจะมีราคาอยู่บ้างก็ตรงที่จะถูกแยกส่วน เอาขาจักรออกมาทำเป็นขาโต๊ะ

จักรสองหลังทำให้คิดเรื่องของแท้ ของเทียม ไปได้อีกยาวไกล


วันหนึ่ง ฉันไปตามช่างปรีชาที่ร้านเดิม
คิดว่าจะวานช่างมาช่วยล้างเครื่องข้างในให้ใหม่หมดจดอีกสักรอบ

พนักงานที่ร้านบอกข่าวว่า
"ช่างปรีชาเสียไปหลายเดือนแล้วครับ"

ใจหาย...
เหมือนช่างเพิ่งบอกฉันเมื่อไม่กี่วันมานี้เอง..
ว่ารักษาจักรหลังนี้ให้ดีนะครับ

ผืนผ้าแห่งชีวิตของเราแต่ละคน กว้างใหญ่ และสั้นยาวไม่เท่ากัน
เรื่องราวบนผืนผ้าล้วนแตกต่าง  อยู่ที่ตัวเราจะเป็นผู้กำหนดลวดลายและสีสัน

ฝีจักรที่เหยียบย่ำไปบนผืนผ้า  ตอกย้ำเรื่องราวที่เราเองเป็นผู้กำหนด  ผืนแล้วผืนเล่า
บางผืนมีความงดงาม  ความสุข และรอยยิ้มจากการเย็บ
บางผืนอาจปวดร้าว ขมขื่น ที่เกิดจากเหตุไม่คาดคิดอันหลากหลาย


วันนี้ช่างปรีชาเลือกที่จะหยุดเย็บไปก่อนแล้ว

จักรหลังเก่าของคนสองรุ่นยังคงนิ่งสงบอยู่ที่ริมหน้าต่าง
รอให้เจ้าของจักรเข้าไปใช้งาน ตกแต่งผืนผ้าของตัวเองต่อไป

ฉันหวนนึกเห็นภาพตัวเองนุ่งกระโปรงนักเรียนยาวถึงตาตุ่ม
น้องชายใส่กางเกงตัวโคร่ง เอวสูง
เป็นภาพอดีตที่ทำให้ยิ้มกับตัวเองได้ทุกครั้ง  แม้ลึก ๆ น้ำตาจะเอ่อล้นอยู่ภายใน

วันนี้...ผืนผ้าแห่งชีวิตของฉัน ยังคงถักทอทำงาน
ท่ามกลางความผันแปร  ซับซ้อนที่ยากจะรู้ว่าสิ่งใดแท้ สิ่งใดเทียม

คิดถึงแม่และความรักของแม่ที่มีให้ลูกอย่างไม่มีข้อจำกัด
ของแท้ที่ไม่มีใครกล้าปฏิเสธ

และคิดถึงคำพูดของช่างที่บอกว่า
รักษาจักรหลังนี้ให้ดีนะครับ...






วันจันทร์ที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

ไอ้ห้าร้อย






* หมายเหตุ...   เรื่องนี้เคยส่งไปให้นิตยสารการเมืองฉบับหนึ่งพิจารณา แต่ไม่ผ่าน
การพิมพ์ครั้งนี้ ได้แก้ไข  ตัดทอน ตัดทิ้ง และเปลี่ยนแปลงเนื้อหาบางส่วน
(ไม่รู้เหมือนกันว่าบอกทำไม  ถึงไม่บอกมันก็เป็นเรื่องของผู้เขียน ไม่เกี่ยวกับใครอยู่แล้วค่ะ)




ไอ้ห้าร้อยอยู่กับเรามาสามเดือนเต็ม  ก็สิ้นบุญสิ้นกรรมต่อกัน

ฉันเรียกมันว่า "ไอ้ห้าร้อย"  เพราะพวกมันมีห้าร้อยตัว
และเราเริ่มต้นลงทุนไปกับพวกมันห้าร้อยบาท

พวกมันอยู่ในสระอย่างมีความสุข
ประเมินจากอาการแหวกว่ายกันอย่างเริงร่า

บางครั้งก็กระโจนพรวดสวนกันไปมา  บางทีไปไกลเกือบครึ่งสระ
เหมือนกำลังฝึกซ้อมกีฬากระโดดไกล หรือโปโลน้ำ เตรียมไปแข่งขันที่ไหนสักแห่ง

และบางวันที่น้ำในสระขึ้นสูงมาก  เช่นฝนตกหนักไม่ยอมหยุด
พวกมันบางตัวก็กระโดดออกมานอนกระแด่ว ๆ บนพื้นหญ้าข้างนอก
อาจเป็นเพราะประเมินระยะไกลไม่ถูก
ถ้าไม่มีใครเห็นและจับโยนลงสระคืนให้  ก็คงต้องนอนแห้งตายแหงแก๋อยู่ตรงนั้น

วันแรกที่ซื้อพวกมันมา
ฉันโยนถุงที่ใส่พวกมันลงสระ
ปล่อยให้ถุงอัดอากาศพองลมใบใหญ่  ลอยตุ๊บป่องอยู่ในน้ำเพื่อปรับอุณหภูมิ
ตามที่ผู้เชี่ยวชาญบอก
แล้วจึงค่อยเปิดปากถุง ปล่อยพวกมันลงไปสัมผัสน้ำจริงในสระ

ด้วยความยาวของช่วงตัว เพียง 1 นิ้วเศษ ๆ
เมื่อปล่อยออกจากถุง  พวกมันทั้งห้าร้อยจึงหายวาบไปกับตา

"ควรซื้อพวกมันมาเพิ่ม"  คุณพ่อบ้านเสนอแนะ
เพื่อให้สมดุลกับขนาดของบ่อหรือสระของเรา

เดชะบุญที่ฉันไปเสีัยอารมณ์กับ "มิสเตอร์บีน" คนขายลูกปลาเสียก่อน
ที่เสียสัจจะการนัดหมายไปถึง 4-5 รอบ
ทั้งที่รับคำ  "ครับ ๆ ๆ.." ทางโทรศัพท์อย่างพินอบพิเทา  เป็นมั่นเป็นเหมาะ
แต่ไม่เคยมาตามนัดเลยสักครั้ง

ฉันจึงตัดสัมพันธ์อย่้างไม่ไยดี
แม้จะยังจดจำหน้าตาบ้องแบ๊วของเขาได้อยู่เสมอ
และแอบตั้งชื่อให้ใหม่
ทั้งที่เขามีชื่อเดิมเป็นภาษาคำเมืองอันแสนไพเราะว่า นายสมโล่

ไอ้ห้าร้อยจึงยังคงเป็นไอ้ห้าร้อย
ไม่ได้เป็นไอ้พันห้า หรือไอ้สองพัน อย่างที่ตั้งใจ

มีคนถามว่า คิดยังไงจึงมาเลี้ยงไอ้ห้าร้อยพวกนี้
ยังไม่เข็ดอีกหรือ จากการเลี้ยงไก่เต็มบ้านนับร้อยตัวเมื่อหลายปีก่อน
ก่อนเกิดวิกฤติไข้หวัดนกลามไปทั่วโลก
และกระบวนการเลี้ยงไก่ก็จบลงอย่างไม่เป็นท่า
ขายไก่ได้ทั้งหมดทั้งสิ้นแค่ 250 บาท   ฟังดูน่าเวทนาจับใจ

เออนะ..มันก็คงจะยังไม่เข็ด

คนเรานี่อยู่ที่ความคิดจริง ๆ..

คิดง่าย ๆ ว่าลงทุนน้อย  พื้นที่เราก็ทิ้งว่างอยู่เฉย ๆ
ฝันหวานว่ามันจะเป็นงานอดิเรกที่สามารถเพิ่มรายได้อีกทางหนึ่ง
และคิดว่าไม่ต้องใส่ใจดูแลมันมาก  เลี้ยงๆ ไป เดี๋ยวมันก็โตเอง

แต่โลกนี้ไม่มีอะไรได้มาโดยง่ายเลยสักอย่าง
พวกคิดอะไรง่าย ๆ  จึงมักจะต้องจบลงอย่างง่าย ๆ เหมือนกัน

เมื่อโยนพวกมันลงน้ำแล้วใช่ว่าจะโตเองได้โดยอัตโนมัติ
ต้องให้อาหาร ต้องลงทุน

คนสมัยก่อน สมัยที่ยังไม่มีอาหารสำเร็จรูปขาย
เลี้ยงพวกมันด้วยเศษอาหาร ไส้ไก่ เครื่องในสัตว์ราคาถูก
เอามาสับ ๆๆ  โยนลงไปให้พวกมันกินกัน
บางทีก็เป็นเศษข้า่ว เป็นแกลบหรือรำ  ตามแต่สภาพของท้องถิ่น

บางคนยังบอกว่าแม้แต่กล้วยน้ำว้ามันก็กิน
แต่ฉันลองแล้ว ไม่ได้ผล
อาจจะทำไม่ถูกวิธีก็ได้

แล้วคนเมื่อก่อนก็คงเลี้ยงกันไม่มากนัก
เพราะพวกมันอยู่ในห้วยหนองคลองบึงตามธรรมชาติมากมาย
อยากกิน อยากขายเมื่อไรก็ไปหาจับเอาตามหัวไร่ปลายนา
ผู้รู้ทุกคนบอกตรงกันว่าปลานาอร่อยกว่าปลาเลี้ยงอย่างทาบกันไม่ติด

ยุคบริโภคล้นเกินนี่ต่างหาก ที่ต้องทำอะไรให้ใหญ่ ให้มากเกินความปกติ
รสชาติความอร่อยแบบธรรมชาติจึงไม่มีโอกาสได้ลิ้มกันแล้ว

ฉันไม่ได้เลี้ยงมันแบบคนสมัยก่อนหรอก เพราะเศษอาหารเรามีไม่มากพอ
จึงต้องซื้ออาหารเม็ดให้พวกมันกิน
มีตั้งแต่เม็ดเล็กจิ๋วสำหรับลูกปลา  ไล่ขนาดขึ้นไปตามอายุ

พวกมันโตวันโตคืน  แย่งกันสวาปามอาหารเม็ดอย่างบ้าระห่ำ

จากอาหารกระสอบละครึ่งเดือน ก็กลายเป็นสิบวันกระสอบ
อิ่มหมีพีมันแล้วพวกมันก็พากันขี้เต็มสระ จนน้ำเขียวอื๋อและเน่าเหม็น
ต้องถ่ายน้ำ เทน้ำหมักใส่บ่อกันอยู่หลายวันจนเหนื่อยอ่อน ไม่เป็นอันทำงานทำการอย่างอื่น

ฉันจดบันทึกค่าอาหารเม็ดห้อยไว้ข้างฝาบ้าน
มองจำนวนตัวเลขที่เพิ่มขึ้น ๆ บนแผ่นกระดาษด้วยใจระทึก

อาหารก็ยังมีหลายระดับ หลายราคา
คนขายตัวแทนบริษัทใหญ่อธิบายให้ฟังว่า
ถ้าซื้ออาหารราคาถูก ที่มีคนทำขายทั่วไป  ปลาอาจจะไม่โต
เหมือนคนกินของไม่มีประโยชน์

แต่ของบริษัทเจริญพันธุ์เจ้านี้สิของแท้  รับรองคุณภาพ เจ๊การันตี
ฉันทำใจเชื่อเจ๊อยู่ราว 5 -6 กระสอบ

จะเป็นเพราะอาหารเกรดดีอย่างเจ๊ว่าหรือเปล่าไม่รู้
ไอ้ห้าร้อยจึงพากันโตวันโตคืน
จนฉันเริ่มรู้สึกว่าทั้งค่าอาหารและขนาดตัวของมัน อาจจะโตเร็วเกินควร
จึงกลับไปซื้ออาหารเม็ดร้านเก่าที่เคยซื้อครั้งแรก  ซึ่งราคาถูกกว่ากัน

ลองกินของไม่มีประโยชน์ดูบ้างนะพวกเอ็ง
จะได้อุดหนุนผู้ประกอบการรายย่อยด้วยกันบ้าง
แทนที่จะอุดหนุนแต่ยักษ์ใหญ่ที่อิ่มอ้วนอยู่แล้ว

แล้วยังไงต่อไป ?
ความกังวลเริ่มเข้ามาเยือนตามการเติบโตของพวกมัน
การค้าขาย- สิ่งที่ยากที่สุดก็คือเรื่องการตลาดนี่แหละ

ฉันเริ่มเปิดฉากสนทนาหาความรู้กับแม่ค้าปลาย่างในตลาด เจ้าที่เคยซื้อกินก่อนอื่น
ลองทาบทามนำร่อง ด้วยการถามไถ่ถึงที่มาที่ไปและเสนอตัว
แต่แม่ค้ารู้ทัน รีบตัดบทว่า

"หนูมีขาประจำแล้วพี่  เขามาส่ง  โอ๊ย เขาเป็นขาใหญ่ มาจากสุพรรณโน่น"
"เฮ่ย  อะไรกัน ปล่อยให้คนถิ่นอื่นมาหากินเหยียบถิ่นเรา
ทำไมไม่อุดหนุนคนบ้านเรากันเองล่ะ"  ฉันโยนฟืนใส่ไฟ  หวังก่อกระแส

"มันสะดวกพี่ เข้าใจมั้ย"  เออแน่ะ เธอย้อนซะแสบ
"เขาคัดมาให้เสร็จ  จะเอาเบอร์ไหน ๆ  เขามีเครื่องคัดแยก ตัวเล็กตัวใหญ่
เราไม่ต้องมานั่งคัดเสียเวลา่  หนูมาย่างขายหนูก็ตั้งราคาได้เลยตามขนาด
สบายจะตาย.."

"เคยมีคนมาถามขายให้หนูแบบพี่นี่แหละ  ถูกกว่าตั้งเยอะหนูยังไม่เอาเล้ย..  มันยุ่ง"
เธอเน้นเสียงวลีสุดท้าย

มันยุ่ง - คำ ๆ นี้เด็ดขาดและเหมาะกับยุคสำเร็จรูปจริง ๆ ด้วย

อะไรที่ยุ่ง  อะไรที่ออกนอกทาง แล้วทำให้เหนื่อยขึ้น (แม้จะถูกลง และอาจจะดีกว่า)
ก็ไม่มีใครอยากทำหรอก   เพราะมันยุ่ง
มันรบกวนความลงตัว  ความสะดวกสบายที่เคยชิน

แม่ค้าสาวยังให้ความรู้ต่อไปอีกว่า
"เขาเป็นนายทุนใหญ่  เขาไม่ต้องขนปลามาจากสุพรรณให้เหนื่อยด้วย
เขา่มาจ้างคนบ้านเราเลี้ยง  กี่บ่อก็ว่ากันไป
เอาพันธุ์ปลา เอาอาหารมาส่งเป็นช่วง ๆ ถึงเวลาโตก็มารับซื้อ หักค่าอาหารไป
รับจ้างเลี้ยงอย่างเดียว มีตลาดแน่นอน ครบวงจร
สบายกว่าเรามาทำเองนะพี่"    เธอสอนด้วยความหวังดี

"ต้องใหญ่  ถ้าเล็กไม่รอดหรอก"  เธอย้ำ

ฉันเก็บคำพูดของเธอมานอนคิดอยู่หลายคืน
วงจรปลาก็ไม่ต่างจากวงจรไก่  วงจรหมู  รวมทั้งวงจรข้าว
ตลาดมีเจ้าของหมดแล้ว

จริงหรือ ?  ต้องใหญ่เท่านั้นจึงจะรอด  เล็ก ๆ ตายเรียบ
ก็ที่เห็น ๆ อยู่ทั้งบ้านทั้งเมือง ไปจนถึงระดับโลก
ก็ทฤษฎีเดียวกันนี่ไม่ใช่หรือ
ใครใหญ่ ใครมีอำนาจก็ครอบครองโลกได้
เป็นไอ้ห้าร้อยตัวจริง

ส่วนไอ้ห้าร้อยของฉันยังคงกระโดดตู้มต้าม
มีความสุขอยู่ในบ่อ แบบไม่รู้ร้อนรู้หนาวกับความทุกข์ของเจ้าของ

คนเล็ก ๆ ที่คิดการใหญ่ก็จะต้องเจ็บตัวกันทั้งนั้น
แจ็คผู้ฆ่ายักษ์มีอยู่แต่ในนิทานหลอกเด็ก
และในชีวิตจริง
ยักษ์ก็กวาดต้อนพวกเราลงไปอยู่ในคอก ในฝูงเดียวกับหมู ไก่ ปลา เรียบร้อยแล้ว

ราคาของเราถูกกำหนดมาแค่นั้นจริง ๆ
ถ้าไม่คิดอะไรมากมันก็ดูสุขสบายดี..

ฉันยอมแพ้..ตัดสินใจขายขาดทุนแบบยกบ่อ
ก่อนที่จะเข้าเนื้อเถือหนังไปมากกว่านี้

พรุ่งนี้จะมีมืออาชีพเข้ามาจัดการให้
แล้วทุกอย่างก็จะกลับคืนสู่ความเป็นปกติ










วันเสาร์ที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

งานสำคัญ







ตอนที่ตาจันทร์มาส่งเสียงเรียกที่ประตูหลังบ้าน  ฉันเพิ่งกลับมาจากข้างนอก
วางกระเป๋าไว้บนโต๊ะ  ตั้งใจว่าวันนี้จะเริ่มทำงานสำคัญเสียที

เสียงเรียกของตาจันทร์ฟังไม่ได้ศัพท์
แต่ก็จำต้องลุกออกไปดู 

"เอาปลามั้ย"  
ตาจันทร์ชายสูงวัยใกล้ 70 ยื่นถุงปลาให้ดู

ฉันถามว่าไปเอามาจากไหน  แกตอบว่าที่หนองน้ำโน่น พลางชี้มือไปทางทิศใต้
"ปลาอะไร"
"ปลาขาว"

ปลาตัวเล็กตัวน้อยเกล็ดสีเงิน  ปลายหางเป็นสีแสดสด
นอนแอ้งแม้งอยู่ในถุง"คอบแคบ"  - ตายหมดแล้ว
ถ้ายังเป็น ๆ ฉันคงไม่เสียเวลาซักถาม

"ลุงไม่ไปขายข้างใน"  ฉันหมายถึงหลังบ้านที่เป็นโรงงานเล็กๆ
มีคนงานอยู่จำนวนหนึ่ง

"ไปมาแล้วครับ  ไม่มีใครเอา.."
อ้าว..ฉันอุทานอยู่ในใจ  ก็เหลือเราคนเดียวงั้นสิ

ด้วยความใจอ่อนอันเป็นสันดานติดตัว
ฉันจึงเหมาซื้อปลาลุงจันทร์ทั้งหมดสามถุง 30 บาท

"ทอดได้มั้ย"  ฉันถาม ด้วยไม่คุ้นเคยกับปลาชนิดนี้
"ได้ครับ"  ลุงจันทร์ตอบรับแข็งขัน
รับเงิน 30 บาทไปด้วยสีหน้าแช่มชื่น

ไหน ๆ มือก็จับถุง ติดกลิ่นติดเมือกลื่นของปลาแล้ว
จึงจัดการเทใส่กะละมังล้างเสียเลย

กลิ่นคาวปลาคลุ้งไปทั่วบริเวณ

กางเกงขายาวสีครีมที่ใส่เป็น "ชุดนอกบ้าน"
เมื่อกี้ตั้งใจตอนกลับมาถึง ว่าจะไปเปลี่ยนเป็น"ชุดอยู่บ้าน" ให้สบาย ๆ
ก็เลยไม่ทันได้เปลี่ยน

ฉันหิ้วกะละมังปลาไปนั่งข้างก๊อกน้ำนอกบ้าน
มีปลาตัวเขื่อง ๆ ติดมาด้วยหลายตัว
จึงจำต้องลุกไปหยิบมีดด้ามเล็กมาผ่าท้อง ควักขี้ควักไส้ออกทิ้ง

แมลงวันหัวเขียวจมูกไวพากันมารุมตอมอย่างน่ารำคาญ
ฉันล้างปลาไปหงุดหงิดไป

ทำไมหนอจึงเกิดชะตากรรมอันไม่คาดคิด
ฉันไม่ได้อยากจะทำปลาเลยแม้แต่น้อย

งานสำคัญที่ตั้งใจจะทำแท้ ๆ กลับไม่ได้ทำ

แล้วดูสารรูปตัวเองซิ 
กางเกงขายาวสีครีมสะอาด  เสื้อลายดอกกุหลาบสีเหลือง
จู่ ๆ ต้องมานั่งยงโย่ยงหยก กรีดท้องปลา  เลือดแดงเต็มกะละมัง
เหมือนเล่นบทนางพญามาร

ฉันประหวัดคิดถึงเหตุการณ์ทำนองนี้  หลายครั้งหลายหน

สิ่งที่ไม่คาดคิดเกิดขึ้นเฉพาะหน้า
ทำให้สิ่งที่คาดคิดไว้ล่วงหน้า ไม่อาจเป็นไปตามที่หวัง

เพียงแต่ฉันจะพูดคำว่า "ไม่"  ทุกสิ่งก็จะจบ
และเป็นไปตามแผนเดิมมิใช่หรือ

นี่เป็นเพราะวาสนา หรือ"กรรมเก่า" แห่งตน
ขี้สงสาร  คิดแทน รู้สึกแทนคนอื่น

ในขณะที่คนที่ถูกสงสาร ก็อาจไม่ได้ซาบซึ้งหรือสำนึกอะไรเลยก็ได้

ตาจันทร์อาจจะกำลังนั่งซดเหล้าอยู่ที่ร้านชำหน้าหมู่บ้าน
ด้วยเงิน 30 บาทที่เพิ่งได้ไป

คนที่น่าสงสาร น่าจะเป็นตัวฉันเองเสียมากกว่า

เรามักจะละเลยสิ่งที่สำคัญที่สุดในชีวิต
เราเสียเวลามากมายกับการทำงาน หรือทำในสิ่งที่ไม่ชอบ หรือสิ่งที่หาสาระไม่ได้
และมักคิดว่า วันหนึ่งจะได้ทำสิ่งที่สำคัญ หรือสิ่งที่ชอบนั้น
เรามีความหวังกับการรอคอย..

แต่สำหรับบางคน  โอกาสเช่นนั้นไม่เคยมาถึง


กว่าฉันจะจัดการกับปลา และจัดการกับกลิ่นคาวปลาของตัวเองเสร็จ
เวลาก็ล่วงเลยไปจนบ่ายแก่

ขอเอนหลังสักหน่อยเถอะ - เป็นเสียงกระซิบจากข้างใน
สำหรับฉันไม่มีอะไรจะสุขเท่ากับการนอน

ตื่นมาอีกที ก็ถึงเวลาเตรียมอาหารเย็นและงานแม่บ้านสารพัด

"งานสำคัญ"  ยังคงวางอยู่บนโต๊ะ สงบนิ่ง

งานในครัวเสร็จสิ้นทุกอย่างเมื่อเวลาทุ่มเศษ
ติดตามข่าวสารบ้านเมืองจากโทรทัศน์บ้างนิดหน่อย

"เอาล่ะ.. ได้เวลาทำงานสำคัญกันเสียที" 

ฉันลุกจากเก้าอี้หวายหน้าทีวี
บิดขี้เกียจ..และหาวนอน
ก่อนจะไปนั่งซึมอยู่หน้าโต๊ะ












วันเสาร์ที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

หลง






หมาน้อยพันธุ์ผสม อายุยังไม่ถึงขวบปี
โผล่หน้ามาที่บ้านในวันปีใหม่
จู่ ๆ ก็มาแบบไม่รู้เหนือรู้ใต้

เพื่อนสนิทที่เป็นคนรักหมา
และบังเอิญสัญจรมาเยี่ยมในวันนั้นพอดี บอกว่า
"ให้ชื่อไอ้ปีใหม่ไปเลย"

แต่เราอยากจะเรียกมันว่าไอ้หลงมากกว่า

มาจากไหนกันล่ะนี่  ไม่ได้เชื้อไม่ได้เชิญ
บ้านนี้ไม่ใช่คนรักหมาเสียด้วย

ความรู้สึกแรกจึงเป็นความกังวลใจ มากกว่าความยินดี
แม้เพื่อนจะอ้างคำโบราณบอกว่า  มีสัตว์สองเท้า สี่เท้าเข้าบ้านจะโชคดี
ฉันจึงบอกให้เธอเอาใส่รถกลับไปด้วย
เพื่อนก็ปฏิเสธ เพราะเธอก็อุ้มชิวาวา ติดรถมาด้วยตัวหนึ่งแล้ว

เจ้าปีใหม่  หมาหลงที่ยังไม่รู้สาเหตุแห่งการหลง
ทำตัวเป็นขาใหญ่ประจำบ้านตั้งแต่วันแรก (ทั้งที่ขาสั้นและเล็กนิดเดียว)
ด้วยการไล่กัดนางทอม  หมาใหญ่เจ้าถิ่น  -  แน่นอนต้องทำต่อหน้าเรา
เพราะต้องการอวดศักดาว่า  ..กูนี่แหละคือผู้ครอบครองนาย..

ผลของการหลงตนแบบโง่ ๆ ก็คือ
ถูกนางทอม หมาแม่ลูกอ่อน ขย้ำเกือบตาย
ถ้าเราไม่เข้าไปปรามนางทอมให้เลิกรังแกเด็ก  ป่านนี้จะเป็นยังไงไม่รู้

มันเป็นหมามีเจ้าของแน่ ๆ
เพราะมีผ้าสีส้มและเขียว ผูกคอไว้
กับทั้งนิสัยที่บ่งบอกว่ามีคนเคยเล่นกับมันมาก่อน

มันพลัดหลงกับเจ้าของ ?  หรือถูกทิ้งอย่างจงใจ ?

บ้านเราตั้งอยู่โดดเดี่ยวกลางป่า  มันจะพลัดหลงมาได้ยังไง..

ใจประหวัดไปถึงเรื่องที่มีคนเล่า ว่ามีคนหากินกับหมา
โดยทำทีอาสารับหมาไปเลี้ยงให้ จากคนที่เลี้ยงไม่ไหว
รับเงินรับทองเป็นค่าจ้างมาดิบดี  ก็เอามาปล่อยตามหน้าบ้านคนอื่น
บางทีรับมาหลายตัว หลายเจ้า
ปล่อยพรูออกมาจากถุงเป็นฝูง..

เอ่อ..ใจหมาจริง ๆ

อ้าว..ลืมไป ด่าอย่างนี้ก็กระเทือนหมาอยู่ดี - ต้องขอโทษหมาจริง ๆ นะ

ถึงจะไม่ใช่คนรักหมาแบบฮาร์ดคอร์  ไม่ชอบเล่นด้วย
ไม่เคยเรียก "น้องหมา"  และหมั่นไส้เวลาได้ยินใครเรียก
หรือเห็นใครให้หมาเลียหน้าเลียตา  อุ้มหมาไปซื้อกับข้าวหม้อเดียวกับเรา

แต่ก็ไม่ได้เกลียด..

ไม่เคยทำทารุณกรรมสัตว์
อาจยกตีนทำท่าเตะบ้างในบางครั้งที่มันแอบย่องเข้ามาหยอกกัดส้นเท้า
แล้วหงุดหงิด ไม่มีอารมณ์เล่นด้วย
รำคาญกับนิสัยเป็นเด็กไม่เลิกของหมาฝรั่ง

แต่ก็ยังให้ข้าวมันกิน

ไอ้หลงเข้าข่ายหมาเด็กขี้เล่นที่เรารำคาญเป๊ะ
มาวันแรกก็คาบรองเท้าหายไปหลายคู่ เพื่อเรียกร้องความสนใจ

กระเป๋าเก่า ๆ ห้อยอยู่ที่โรงรถ กี่ใบต่อกี่ใบ  กระโดดคาบลงมาฟัดเละ
หมอนเก่า ลากลงมาตะกาย นุ่นปลิวเกลื่อนบ้าน

โอ้..ถ้าเป็นเด็ก 5 ขวบ 10 ขวบ  คงเล่นกันสนุกสนานไปเลย
แต่คนแก่สองคน.. ความดันขึ้น

ความวิตกจริตเริ่มก่อตัวมากขึ้น
เมื่อไอ้หลงไล่เห่าคนที่ขี่รถผ่านหน้าบ้าน
จะประกาศศักดาอีกรอบว่า ..กูเป็นหมาบ้านนี้นะเฟ้ย..

กับทั้งนังทอมเพิ่งก่อวีรกรรมทำนองนี้มาหยก ๆ
(เรื่องนังทอม เป็นหนังเรื่องยาวอีกเรื่องหนึ่ง  ที่จะเล่าทีหลังหากมีโอกาส)

นังทอมไล่กัดคนที่เดินผ่านหน้าบ้าน
กัดจนเป็นแผลลึก
คนถูกกัดเรียกร้องค่าเสียหายจากเจ้าของของมัน สองพันบาท
เจรจากันอยู่หลายวัน

เรากลัวจะต้องจ่ายเงินแบบเจ้าของนังทอม
เลยต้องหาทางปลดปล่อยไอ้หลงโดยเร็ว

เด็กหนุ่มข้าง ๆ บ้าน ถูกเรียกมาไหว้วาน
เขารับอาสาขมีขมัน  มีถุงปุ๋ยมาด้วย
ใส่ถุงเพื่อไม่ให้มันจำทางได้

"ผมรู้ว่าจะเอามันไปไว้ตรงไหน"
เขาบรรยายความพร้อมของสถานที่แห่งนั้นจนเราอุ่นใจว่ามันจะอยู่รอด
ฉันจินตนาการตาม  สถานที่แห่งนั้นฉันก็รู้จัก เพราะเคยผ่าน
..ไปดีนะเอ็ง..  อย่าว่าใจจืดใจดำเลย
เราไม่พร้อมที่จะรับเลี้ยงใครแบบผูกมัดถาวร

หลังจากไอ้หลงไปแล้วสักสิบวัน
ฉันขับรถออกจากบ้านไปตามเส้นทางปกติ
ฉันเห็นไอ้หลง!

ไอ้หลงแน่ ๆ หน้าตาอย่างนี้ เชือกที่คอยังอยู่
สิ่งที่เพิ่มเข้ามาคือไอ้หลงใส่เสื้อหมา  สวยงาม
ดูร่าเริง มีความสุขแบบหมาเด็กของมัน
เดินไปเดินมาตรวจตราหน้าร้าน

ตรงนั้นเป็นร้านก๋วยเตี๋ยวริมทาง กลางทุ่ง
เลยบ้านเรามาแค่กิโลเมตรเดียว
หรือว่าเป็นบ้านเก่าของมัน
ที่ตรงนี้ก็ห่างไกลจากที่ที่พ่อหนุ่มนั่นบอกไว้ไม่ใช่น้อยเลย
หรือมันเดินดมกลิ่นกลับมาเองได้
หรือพ่อหนุ่มนั่นหลอกเรา

ต่อจิ๊กซอว์ไม่ถูกเลย..

เอาล่ะ ยังไงเราก็สบายใจ
ที่เห็นมันมีความสุข
ลุแก่โทษทอดทิ้งหมาไปได้..

แวบหนึ่ง..อดคิดไม่ได้ว่า 
บางทีชีวิตเราก็ไม่ต่างจากหมาหลง
บนโลกอันกว้างใหญ่   เรามีสิทธิ์หลงได้ตลอดเวลา

เธอก็หลง  ฉันก็หลง

ไม่ว่าจะเป็นหมาเล็กหรือหมาใหญ่
แม้จะบอกว่าฉันดีกว่า เพราะฉันเป็นคน  
ฉันดีกว่า  เพราะฉันมีบ้าน
แต่จริงหรือ ว่านี่คือบ้านของฉัน..

บ้านของเราแต่ละคน
ไม่ว่าเล็กหรือใหญ่  มีหรือไม่มี

เราก็มีสิทธิ์หลงได้ตลอดเวลา..








วันเสาร์ที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2556

โค้กขวดเดียว






เรื่องความเชย ความชุ่ยบวกความโง่ของฉัน ยังมีให้เล่าต่อได้อีกนิด

สมัยที่ทำงานโครงการชาวเขา
หลังจากได้หลักสูตรประถมศึกษาสำหรับชาวเขา
และทยอยเชิญนักวิชาการมาช่วยเขียนสื่อการเรียนของแต่ละวิชาแล้ว
คณะทำงานคือพวกเรา ยังมีหน้าที่ต้องจัดการเรื่องการพิมพ์สื่อการเรียนออกมาด้วย

อาศัยที่เป็นโครงการพิเศษ
ไม่ต้องอิงกฎระเบียบราชการแบบเคร่งครัด
เราก็อาศัยวิธีการแบบลูกทุ่งของเรา  เอาต้นฉบับไปให้โรงพิมพ์ตีราคา

ครั้งแรกไปที่เชียงใหม่ เพราะคิดว่าอยู่ใกล้ น่าจะคุ้มค่ากับการติดต่อประสานงาน
สมัยนั้นที่เชียงใหม่ยังมีโรงพิมพ์ไม่มากนัก
จำไม่ได้แล้วว่าไปติดต่อโรงพิมพ์ไหนบ้าง
แต่จำราคาได้คร่าว ๆ ว่า่สื่อฯคณิตศาสตร์เล่มบาง ๆ
โรงพิมพ์ที่เชียงใหม่เสนอราคามาระหว่าง 19 ถึง 23 บาท ต่อเล่ม

ถูกหรือแพง..ไม่รู้เลย   เพราะไม่มีประสบการณ์

ในที่สุดก็ตัดสินใจลงไปสำรวจราคากันที่กรุงเทพฯ
ฉันกับยายเต่า เพื่อนร่วมกลุ่ม ถือถุงหิ้ว (คล้าย ๆ ถุงปุ๋ย แต่มีหู) ใบเบ้อเริ่มคนละใบ
บรรจุต้นฉบับสื่อฯ แต่ละวิชาที่จะเอาไปให้โรงพิมพ์ดู

สองสาวเดินตัวเอียงกระเท่เร่ เหมือนพนักงานขายผงซักฟอกสมัยก่อนโน้น
ที่มักสะพายถุงผงซักฟอกไปเร่ขายตามบ้าน  ยังไงยังงั้น

เราเดินตัวเอียงไปตามโรงพิมพ์สองสามแห่ง เท่าที่จะนึกชื่อโรงพิมพ์ดัง ๆ สมัยนั้นได้
ราคาถูกลงจากราคาที่เชียงใหม่  ลงมาอยู่ราว ๆ 16-17 บาท (เอาเล่มคณิตศาสตร์เป็นเกณฑ์)

เราก็ยังตัดสินใจไม่ถูกอยู่ดีว่าจะพิมพ์ที่ไหน

บังเอิญฉันเคยรู้จักอาจารย์ท่านหนึ่ง  
สมัยที่ทำงานอยู่สำนักพิมพ์แห่งหนึ่งย่านหัวลำโพง

อาจารย์เคยสอนที่คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ
ภายหลังลาออกจากราชการ  อาจารย์มาเป็นที่ปรึกษาสำนักพิมพ์แห่งนี้

นึกขึ้นได้ว่าอาจารย์น่าจะรู้จักโรงพิมพ์ต่าง ๆ เป็นอย่างดี
เพราะอาจารย์คลุกอยู่ในวงการนี้มานาน  ฉันจึงโทรหาท่านและโชคดีที่ท่านรับสาย

อาจารย์แนะนำโรงพิมพ์แห่งหนึ่งให้เรา

นั่นคือที่มาของโรงพิมพ์ ที่ได้พิมพ์งานให้โครงการชาวเขาของเราจนครบทุกเล่ม

ฉันกับยายเต่าหิ้วถุงใบเดิม ไปตระเวณหาโรงพิมพ์เป้าหมายนั้นจนพบ
ได้พบผู้จัดการหนุ่มรูปงาม ผู้เป็นทั้งเจ้าของโรงพิมพ์และผู้จัดการ
พลางแนะนำตัวและเอ่ยอ้างถึงอาจารย์ผู้แนะนำไปด้วย

ชายหนุ่มรับต้นฉบับสื่อฯ ไปพิจารณาดูทีละหน้า
แล้วก็จิ้มเครื่องคิดเลขไป ทำหน้าครุ่นคิดไปอยู่พักใหญ่

จากนั้นก็เงยหน้าพูดกับเราด้วยสุ้มเสียงเกรงอกเกรงใจเป็นล้นพ้นว่า

"5 บาทครับอาจารย์"

"หา !"  สองสาวร้องขึ้นพร้อมกัน

"เท่าไรนะคะ"  ยังนึกว่าตัวเองหูฝาด
"เอ่อ...ห้าบาทครับ"  เขาอาจจะกำลังนึกว่าบอกแพงเกินไปหรือเปล่าว้า
สองสาวจึงทำตาเหลือกเช่นนี้

ฉันกับยายเต่าแทบไม่เชื่อหูตัวเอง...

นับแต่นั้นมา คณะของเราอีกหลายคน (สาว ๆ ทั้งนั้น)
ก็ทยอยกันขนสื่อฯ ประจำวิชาที่ตัวเองรับผิดชอบ
ลงมาให้ผู้จัดการหนุ่มรูปหล่อ(และโสด) จัดพิมพ์กันถ้วนหน้า
จนกระทั่งเหมือนจะกลายเป็นคนคุ้นเคยกัน

เพราะกว่าจะเสร็จสิ้นกระบวนการตั้งแต่ส่งต้นฉบับ
ก็ยังต้องไปคอยตรวจปรู๊ฟ  ดูปก  ดูสี
เดินเข้าเดินออกโรงพิมพ์ สวนกันไปมาเป็นว่าเล่น นานเป็นปี

ความโง่ของเรานั้นอยู่ตรงที่ไม่เคยรู้เลย (ในตอนนั้น)
ว่างานลักษณะนี้แหละคือช่องว่าง ช่องโหว่ แล้วแต่จะเรียก
ที่พวกข้าราชการกลุ่มหนึ่ง ใช้เป็นที่ทำมาหากินกับโรงพิมพ์
จนร่ำรวยกันมานักต่อนักแล้ว

ราคาของที่ขายให้หน่วยงานราชการจึงมักแพงกว่าขายให้ชาวบ้าน
เพราะต้องบวกเปอร์เซนต์การโกงเข้าไปด้วย

ทั้งสองฝ่ายต่างร่วมมือกันปล้นประเทศก็ตรงนี้แหละ

แต่ก็เพราะความโง่นี่แหละ ที่กลายเป็นเกราะคุ้มครองเรา
พวกเราจึงทำงานกันอย่างมีความสุข และสนุกมาก
และไม่เคยมีเสียงแห่งความระแวงสงสัยมาจากทางไหนเลย

ชะรอยจะเป็นบุญที่เคยเกื้อหนุนกันมา
ผู้จัดการหนุ่มก็ได้งาน ได้เงินจากโครงการเราไปไม่ใช่น้อย
เราเองก็ได้งานพิมพ์ที่มีคุณภาพ และราคาถูก

ต้องขอบคุณอาจารย์ที่มองเราออก
ขอบคุณโรงพิมพ์ที่รู้ว่าอาจารย์เป็นคนอย่างไร
และรู้ว่างานนี้ไม่มีค่าใต้โต๊ะ  จึงคิดราคาแบบแท้ ๆ

สิ่งที่เราเคยได้จากผู้จัดการหนุ่มหล่อและขี้เกรงใจคนนี้เพียงครั้งเดียว
ก็คือสั่งโค้กมาเลี้ยงคนละขวด  (ปกติคือน้ำเปล่า)

เท่านั้นจริง ๆ






วันจันทร์ที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2556

เชยและชุ่ย





สมัยเรียนหนังสือ
ฉันมักถูกเพื่อน - พี่ เรียกว่ายายเชย หรือไม่ก็ยายเฉิ่ม
ค่าที่ชอบทำอะไรเปิ่น ๆ ในสายตาของพวกเขาเสมอ ๆ

ที่จริงฉันออกจะเป็นคนซื่อ...  ฮ่า ฮ่า ฮ่า
และหลายครั้ง ความซื่อก็นำมาซึ่งความเดือดร้อนแก่ตัวเอง
กลายเป็นความโง่  แบบโง่ไม่เสร็จสักที
พานนึกโมโหตัวเองอยู่บ่อย ๆ

หากความเชยของฉันพอจะมีประโยชน์อยู่บ้าง
ก็ตรงที่ได้ทำให้เพื่อนฝูงหัวเราะ
ให้พวกเขาได้ล้อเลียนด้วยอารมณ์รื่นเริง
แก้เซ็งได้เป็นครั้งเป็นคราว  ก็เอาล่ะ

ส่วนในเรื่องของความชุ่ย
มีเรื่องราวน่าอัปยศเกี่ยวกับความชุ่ยของตัวเองอยู่ 2-3 ครั้ง
ที่ต่อมากลายเป็นเรื่องโจ๊กประจำตระกูล
เล่ากันไม่รู้กี่รอบ

วันหนึ่ง ฉันออกไปกินข้าวที่ร้านอาหารตามสั่ง ปากซอยหน้าสำนักงาน
ผู้คนบางตา เพราะเป็นร้านเล็ก ๆ ย่านชานเมือง
เด็กในสำนักงานที่ไปด้วยคนหนึ่ง ชื่อเจ้าแม้ว (ทั้งที่จริง ๆ เป็นคนลีซอ-
ส่วนน้องลีซอที่เป็นนักบอลคนดังนั่นก็ไม่ได้เป็นชาวเขาอะไรเลย
นอกจากจะชื่อลีซอแล้ว ยังมีคุณแม่ชื่อแม้วอีก - ฟังแล้วชักสับสน)

นั่ง ๆ กินข้าวอยู่  เจ้าแม้วก็จ้องมองเสื้อของฉันอย่างไม่วางตา
วันนั้นฉันใส่เสื้อแขก  เป็นผ้าป่านพิมพ์ลายดอกไม้ สีฟ้า แขนยาว
ที่คอมีไส้ไก่สีดำเส้นเล็ก ๆ  รูดจีบมาผูกเป็นหูกระต่ายด้านหน้า

"มองอะไรวะ แม้ว ?"   ฉันถาม
"ปลิ้น"   เจ้าแม้วพูดคำเมือง
"อะไรนะ ?"
"ปลิ้น"   เจ้าแม้วย้ำคำเดิม

เท่านั้นแหละ พรรคพวกร่วมโต๊ะอีก 2-3 คน ก็พร้อมใจกันหันมามองฉัน

อนิจจา !  ฉันใส่เสื้อปลิ้น !
กลับเอาข้างในออกข้างนอก

"โธ่เว้ยเฮ้ย !"  ฉันโวยวายกลบความเขินอาย
พรรคพวกพากันหัวเราะขบขัน

ก็ข้างนอกกับข้างในมันแทบจะไม่ต่างกันเลย
ซ้ำตะเข็บก็เย็บอย่างดีไม่มีรุ่ยร่ายออกมาสักนิด

นั่นเป็นครั้งแรกที่"ปลิ้น"
ยังมีอาการปลิ้นครั้งต่อมาอีก 2-3 ครั้ง
 แต่ครั้งที่ร้ายแรงที่สุด (ในความคิดของตัวเอง)
ก็คือคราวที่ใส่เสื้อเอาข้างหน้าไปไว้ข้างหลัง
และเอาข้างหลังมาไว้ข้างหน้า

คราวแรกนั่นเหตุการณ์เกิดแถวชานเมือง  ผู้คนบางตา
แต่คราวนี้ล่อกันกลางตลาดสดเลยทีเดียว

เสื้อตัวที่ใส่วันนั้นเป็นเสื้อพิมพ์ลายบาติก
เป็นผ้าเนื้อลื่น ๆ ใส่สบาย  คอกลม  แขนสั้น
ผ่าไหล่ติดกระดุม 2 เม็ดที่ด้านซ้าย
และมีกระเป๋าปะอยู่ด้านหน้า

ฉันไปเดินตลาด หาซื้อกับข้าวอย่างสบายอารมณ์
ผู้คนพลุกพล่าน ด้วยเป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุด
บางช่วง  โดยเฉพาะแถบที่ขายอาหารสำเร็จรูป  คนแน่นขนัด

พลัน !  มือฉันป่ายไปถูกกระดุมที่หัวไหล่ขวา

ความเคยชินบวกความจำ
เพราะเป็นเสื้อตัวเก่ง ใส่บ่อย
รำลึกได้ว่ากระดุมเสื้อมันเคยอยู่ข้างซ้ายนี่นา

หัวสมองบวกลบคูณหารอย่างรวดเร็ว
รู้แล้วว่าอะไรเป็นอะไร....

แม่เจ้าประคุณเอ๋ย
ที่เคยเดินทอดน่องอย่างสบายอารมณ์ ก็เป็นอันก้าวขาแทบไม่ออก
เดิืนไม่ได้ขึ้นมาในทันที
รู้สึกร้อนผ่าวที่ใบหน้า และร้อนไปทั้งตัว

ฉันรีบจ้ำออกมาจากขบวนคนพลุกพล่าน
หมดอารมณ์ที่จะเดินซื้อหาของอีกต่อไป

ไอ้ที่เดินเบียด ๆ กันอยู่เมื่อกี้
จะมีคนสังเกตเห็นบ้างไหมหนอ

ก็ไอ้เจ้ากระเป๋า ที่ปกติมันควรจะปะอยู่ที่อกข้างซ้าย
กลับมาย้ายไปอยู่ข้างขวา
แต่ดันเป็นข้างหลังไปเสียน่ะสิ  ที่ทำให้เกิดเรื่อง
บ้าชะมัดเลย

ถึงบ้าน ผีความอาย (ผสมความโกรธตัวเองเล็กน้อย) ยังไม่หนีไปไหน
ฉันจัดการเลาะเจ้ากระเป๋าใบนั้นออกทันที

ถ้าไม่มีกระเป๋าก็ยังพอทำเนียน ๆ
กลับหน้าเป็นหลัง กลับหลังเป็นหน้าได้อยู่นะ
นึกกระหยิ่มอยู่ในใจ

อ้าว..เอ๊ะ...เผื่อว่าจะชุ่ยอีกครั้งหรือไงนี่

นี่ไงที่เรียกว่าชุ่ยไม่เสร็จ
เป็นอย่างนี้นี่เอง





วันศุกร์ที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2556

ว้า !







บ้านแม่ริดป่าแก่ เป็นหมู่บ้านชาวกะเหรี่ยง 
อยู่ในเขตดอยแม่สวรรค์  อำเภอแม่สะเรียง  จังหวัดแม่ฮ่องสอน

ชื่อหมู่บ้านบอกได้ถึงความอุดมสมบูรณ์ของป่า
คนกะเหรี่ยงอยู่กับป่าอย่างเข้าใจ  
พึ่งพาอาศัย แอบอิงอยู่กับธรรมชาติอย่างสมถะและรู้คุณ
เราจึงมักรู้สึกว่าหมู่บ้านกะเหรี่ยงร่มรื่น น่าอยู่มากกว่าที่อื่น ๆ

การเดินทางเข้าไปที่นั่นโหดใช่ย่อยในตอนนั้น  เพราะรถยังเข้าไม่ถึง
ต้องเดินกันอย่างเดียว

คณะเรามีกัน 5 คน เป็นหญิงล้วน
บางคนเพิ่งเคยเดินดอยเป็นครั้งแรก 

ครั้งนั้นเราได้พบพ่อเฒ่าคนหนึ่ง  จำชื่อไม่ได้เสียแล้ว
พ่อเฒ่านั่งสานกระบุงไม้ไผ่อยู่ที่ชานบ้าน





ที่เราเห็นว่าเป็นกระบุงนั้น  คือที่เก็บเสื้อผ้าของคนกะเหรี่ยง
เรียกว่า "โป่ว"  เป็นเครื่องสานทรงสูง
เอวคอดตรงปลาย  ข้างบนมีฝาครอบทรงกลม
เป็นงานสานละเอียดลออ  ซ้อนกันสองชั้น

ห้าสาวน้อย (ในยุคนั้น) ตื่นเต้นกันมาก
พ่อเฒ่ายังคุยให้ฟังอีกว่า  นี่ถ้ามีปีกแมงทับ ก็จะเอามาเสียบ
ประดับแทรกลงไปในรอยสาน  งามยิ่งกว่านี้อีก

พวกเราขอซื้อ "โป่ว"  เท่าที่พ่อเฒ่ามี
พ่อเฒ่าขายให้ในราคาใบละ  80 บาท
(ราคาขายที่เชียงใหม่ในขณะนั้น อยู่ที่ประมาณเจ็ดแปดร้อยบาท  
หากเป็นเดี๋ยวนี้  น่าจะแพงขึ้นอีกหลายเท่า  ยังมีหรือเปล่าก็ไม่รู้)

พ่อเฒ่าบ่นให้ฟังว่า 
"ในหมู่บ้านไม่มีใครทำโป่วได้อีกแล้ว  พ่อเฒ่าอายุ 80  อยู่อีกไม่เท่าไรก็ตาย.."

ฟังแล้วใจหาย...

ขากลับ เราจำเป็นต้องจ้างลูกหาบ เพราะลำพังตัวเองก็ยังจะเอาไม่รอด
นี่ยังมีโป่ว ใบเบ้อเริ่มเทิ่มอีกตั้ง 4 ใบ

ลูกหาบสองคน ทำไม้คานหาบโป่วคนละสองใบ
นำทางพาห้าสาวร่อนลงดอย

เดินบ้าง พักบ้าง เพราะหนทางทุรกันดาร
บางช่วงขึ้น บางช่วงลง เหนื่อยหอบแทบขาดใจ

ป่าแม่ฮ่องสอนนั้นสวยนัก
สองข้างทางเดินเต็มไปด้วยดอกหญ้าเล็ก ๆ  ทั้งสวยและแปลก
เป็นหญ้าพันธุ์แกร่ง  บางต้นลักษณะคล้าย ๆ เฟิร์น  หรือไม่ก็พวกย่านลิเภา
มารู้ภายหลังจากครูในหมู่บ้านว่า ชื่อหญ้างอแง  จิ้มน้ำพริกกินได้ด้วย
ชื่อยังกับเด็กตัวเล็ก ๆ ขี้ร้องไห้

ฉันหลงใหลดอกหญ้าเล็ก ๆ จนอดใจไว้ไม่อยู่
ต้องหยุดเก็บเป็นระยะ ๆ 
เต็มมือเมื่อไรก็โยนลงไปในโป่ว  ให้ลูกหาบหาบต่อไป
เก็บอยู่นั่นแล้ว..  
พวกลูกหาบจะรำคาญบ้างหรือเปล่าก็ไม่รู้

ระหว่างหยุดพักกลางทาง
มีชาวบ้านกลุ่มหนึ่ง เดินสวนมาจากข้างล่าง จะกลับขึ้นไปหมู่บ้าน
พวกเขาส่งเสียงทักทายกันโขมงโฉงเฉง
เดาจากท่าทาง.. คงอยากรู้เต็มแก่ว่ามีอะไรอยู่ในโป่ว
ถึงกับต้องจ้างต้องหาบกันลงมา

คนหนึ่งอดใจไว้ไม่อยู่ พรวดพราดเข้าไปเปิดฝา
แล้วก็ทำหน้าแปลกใจระคนผิดหวัง 

"ว้า.."

มองเห็นแต่หญ้าแห้ง ๆ รก ๆ เต็มไปหมด
ไม่มีของมีค่า มีราคา
อะไรสักอย่าง..

คนเมืองนี่แปลกจริง ๆ



หมายเหตุ...หลังจากกลับมาในครั้งนั้น  สามปีต่อมาพ่อเฒ่าก็สิ้นบุญ
และไม่มีใครสืบทอดงานสานโป่วอันงดงามของพ่อเฒ่าอีกเลย








วันพุธที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2556

บ่ขาย ๆ






เวลาได้ออกสนาม  เข้าหมู่บ้าน
จะด้วยไปจัดประชุมเขียนสื่อการเรียน
หรือจะด้วยไปเยี่ยมเยียนครูในโครงการ  เดือนละครั้ง ตามแผนงาน ก็แล้วแต่

สิ่งหนึ่งที่ก๊วนซ่าของเราชอบนักชอบหนา
ก็คือการได้ซื้อของ (เล็ก ๆ น้อย ๆ) ตามหมู่บ้าน ติดไม้ติดมือมาด้วยเสมอ

แม้จะไม่มีกฎระเบียบชัดเจนว่าห้ามซื้อของ
(ความหมายก็คือ  ห้ามใช้เงินในหมู่บ้าน)
แต่ก็ดูเหมือนเราเองจะเกร็ง ๆ  เกรง ๆ อยู่เหมือนกัน ว่าทำแล้วไม่ค่อยเหมาะค่อยควร
เกรงว่า "เงิน" จะไปทำลายคุณค่าบางอย่างในชุมชน
ยากที่จะหาความพอดีระหว่างคำว่า มากไป หรือ น้อยไป

แต่กระนั้นก็ยังทำอยู่เนือง ๆ
เพราะคิดว่าไม่ได้มากมายอะไร และบางสถานการณ์ก็กลับจะได้ช่วยเหลือชาวบ้าน

"สมบัติบ้า" ที่เคยมีคนบ่นว่า จึงมีอยู่เต็มบ้าน
ผ้าถุงเอย  ผ้าห่มเอย  ย่ามเอย  กระบุง ตะกร้า  หม้อไห
และแม้แต่ปิ่นปักผมก็ยังสามารถซื้อสด ๆ โดยดึงออกจากมวยผมของแม่เฒ่าได้

ร้ายจริง ๆ !

ตอนนั้น อะไร ๆ ที่เป็นของชาวบ้าน เห็นสวยเห็นงามกันไปหมด  น่าแปลกแท้ ๆ

และด้วยความที่เป็นก๊วนเดียวกัน  ชอบอะไรคล้าย ๆ กัน
รสนิยมถึงกันว่างั้นเถอะ
บางครั้งจึงเกิดพฤติกรรมน่าชังขึ้นในหมู่พวก
นั่นคือ - แย่งกันซื้อ

อยากให้เห็นภาพเวลาแม่คุณทั้งหลายพากันกระโดดผลุงขึ้นบันไดกระท่อมหลังหนึ่ง
เพียงเพราะหลานชายของแม่เฒ่ามาส่งข่าวว่า
"ครู ๆ  แม่เฒ่าให้มาถามว่าจะซื้อผ้ามั้ย"

บันไดกระท่อมแทบพังเลยทีเดียว

ผ้าซิ่นทอลายน้ำไหลของชาวกะเหรี่ยง
ที่ยังย้อมสีแดงฝาดของเปลือกไม้นั้น ยังมีมนต์เสน่ห์ไม่เสื่อมคลาย
สนนราคาก็ถูกแสนถูก สำหรับคนเมืองอย่างเรา

ฉันได้เสื้อแม่เฒ่ากะเหรี่ยง จากแม่ฮ่องสอน
เป็นเสื้อผ้าฝ้ายทอมือ ย้อมคราม ปักลูกเดือยทั้งตัว สวยสุดใจ
แม้จะมีรูโหว่นิดหน่อย เพราะเป็นเสื้อเก่าของแม่เฒ่า

ไม่ได้ไปถามซื้อ  นั่งอยู่ในบ้านพักดี ๆ แม่เฒ่าก็เดินเข้ามาบอกขายให้
แม่เฒ่าม้วนเสื้อเป็นท่อนกลม ๆ ยื่นมาตรงหน้า
พูดภาษากันไม่รู้เรื่อง  แต่สื่อความกันเข้าใจ
ทำไม้ทำมือ เดี๋ยวเดียวก็รู้เรื่อง

อีกครั้งหนึ่ง ที่ฉันได้กางเกงปักของเย้ามาครอบครองด้วยความบังเอิญ
ตอนนั้นอยู่ที่บ้านเย้า  แม่จัน เชียงราย
แม่เฒ่าคนหนึ่ง ขอร้องให้ช่วยซื้อกางเกง (ใช้แล้ว) ของเธอ
เธอกำลังต้องการเงิน เพื่อจะลงไปหาหมอในอำเภอ

ฉันจ่ายเงินค่ากางเกง 500 บาท ตามที่เธอเรียกด้วยความเต็มใจ
งานฝีมือ ปักมือกันทั้งตัวอย่างนี้ ราคาตามตลาดในเมือง
ขายกันเป็นพันหรือกว่านั้น






เพื่อนเราบางคนเป็นนักสะสมย่าม  เขามีย่ามนับร้อยใบ
(หากนับรวมที่สะสมมาแต่ต้น)
แต่เหลือจริง ๆ ไม่กี่ใบหรอก เพราะแกชอบแจกจ่ายประสาคนมีน้ำใจ




พวกเราก็อย่างนี้แหละ  ทำท่างกแย่งชิงของกันไปอย่างนั้นเอง
พอได้มาแล้วก็เอามาอวด  มาชื่นชมกัน
ใครพูดถูกใจก็ยกให้เขาไปดื้อ ๆ  บางทีให้จนตัวเองแทบไม่มีเหลือ
เสียแรงที่อุตส่าห์แย่งชิงกันมาแทบแข้งขาหัก

คราวหนึ่ง คณะเราขึ้นไปจัดประชุมที่ดอยแม่สวรรค์ อำเภอแม่สะเรียง แม่ฮ่องสอน
เพื่อให้ผู้ร่วมประชุม ซึ่งส่วนใหญ่มาจากภาคกลาง ได้พักผ่อนคลายเครียด
เราจึงจัดให้คณะได้ไปเที่ยวชมตลาดแม่สะเรียงกันช่วงหนึ่ง

พวกเราเจ้าของงานก็แยก ๆ กันไปตามกลุ่มวิทยากร

จังหวัดแม่ฮ่องสอนมีประชากรเป็นชาวเขาเสียส่วนใหญ่
ตามตลาด ถนนหนทางจึงเต็มไปด้วยชาวกะเหรี่ยง  ชาวลัวะ และไทยใหญ่

ผู้หญิงกะเหรี่ยง ผู้หญิงลัวะส่วนใหญ่ จะชอบใส่กำไลมือจนเต็มแขน
เรียกว่าตั้งแต่ข้อมือเกือบถึงข้อศอก ทั้งสองข้างเลยทีเดียว

เพื่อนเราคนหนึ่ง คงไปถูกใจกำไลเงินของหญิงลัวะคนหนึ่งเข้า
เธอคงไม่ได้คิดจะซื้อ  คงหมายแค่เข้าไปชื่นชม

ทีแรกเธอคงจะเดินเข้าไปเพียงคนเดียว
แต่ตามวิสัยคนไทยเลือดสุพรรณ ไปไหนไปกัน
คนอื่น ๆ ที่เดินตามๆ กันมาใกล้ๆ จึงอดไม่ได้ที่จะแวะเข้ามารุมดูด้วย
จึงดูเหมือนฝูงชน กำลังกลุ้มรุมทำอะไรกันสักอย่างกับหญิงลัวะผู้น่าสงสาร

ตอนที่ฉันเดินเข้าไปสมทบ
ฝูงชนกำลังจับมือถือแขนหญิงลัวะ
พิศดูกำไลที่ข้อแขนสองข้างของเธอด้วยความชื่นชม

แม้รูปลักษณ์ของพวกเราจะไม่เหมือนพวกโจรห้าร้อย
แต่ก็ทำให้เธอตื่นตระหนก เสียขวัญอยู่ไม่น้อย

เธอถอยกรูด  ยกแขนชี้ไปข้างหน้าทั้งสองข้าง
กระดกมือขึ้นเป็นเชิงห้าม  แล้วพูดซ้ำ ๆ ซาก ๆ ว่า
"บ่ขาย..ๆ ๆ.."

นั่นแหละฝูงชนผู้ลืมตัว ทำบาปทำเวรให้แก่ชาวบ้านโดยไม่ตั้งใจ
จึงค่อย ๆ รู้สึกตัว พร้อมใจกันหัวร่องอหาย  สลายกลุ่ม
ก่อนจะเตร็ดเตร่ออกไปหาเหยื่อรายต่อไป










วันอังคารที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2556

หัวหน้าเผ่า






ฉันเคยทำงานคลุกคลีกับชาวเขาทางภาคเหนืออยู่พักหนึ่ง
ก๊วนของเรา  6-7  คน  ส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง
เป็นก๊วนที่มีทั้งคนรัก คนชัง

คนที่รักมักจะเป็นพวกผู้ใหญ่  นาย ๆ ของเรา
เพราะเราเป็นพวกลุยไม่เลือก  ไม่เกี่ยงงานหนัก
ทำงานหามรุ่งหามค่ำ - ไม่เคยมีค่าโอที
และคงจะทำงานได้ดีพอสมควร  ผู้ใหญ่จึงให้ความเอื้อเอ็นดู

ส่วนคนที่ชัง มักเป็นพวกที่อยู่ในระดับใกล้ ๆ กัน และเป็นข้าราชการ
เพราะพวกเขาคิดว่า เราเป็นลูกจ้างแต่มักได้อภิสิทธิ์  นายรัก
ค่าจ้างก็มากกว่า เพราะกินเงินเดือนฝรั่ง  แถมยังอยู่นอกระเบียบกฎเกณฑ์
เพราะถือว่าไม่ได้เป็นข้าราชการ
เพียงแต่มาทำงานร่วมกันชั่วคราว

พวกเราชอบนุ่งกางเกงไปทำงาน
โดยเฉพาะกางเกงสำเร็จรูป เอวยางยืด ตัวละ 50 บาท
มีขายตามตลาดสด พักนั้นฮิตกันจริง ๆ

ถ้าเรียบร้อยหน่อยก็อาจเป็นยีนส์
วันไหนหน้าบางน้อยหน่อย  ก็ใส่เสื้อยืด  นุ่งเตี่ยวสะดอหม้อฮ่อม ขาสามส่วน
นั่งซดกาแฟกันในออฟฟิศแต่เช้า

คิดย้อนไปก็ซ่าและน่าชังไม่เบา
สมควรจะเป็นที่หมั่นไส้ของคนแถวนั้นอยู่หรอก

ชีวิตช่วงนั้นอาจจะถือว่ารุ่งสุดขีด
รุ่งในที่นี้ก็คือได้ใช้ศักยภาพในการทำงานเต็มที่
ทั้งงานจัดอบรม  สัมมนา  ทั้งลุยป่าฝ่าดง  ผจญภัย
วิ่งหนีโจรหัวซุกหัวซุนก็ผ่านมาแล้ว
รวมทั้งงานเขียน เรียบเรียง จัดทำสื่อการเรียน

เหตุผลที่ทำได้เต็มที่  ก็เพราะเรายังเป็นโสดกันทั้งกลุ่ม

"ผู้หญิงกลุ่มนี้ รับรองหาแฟนไม่ได้"
เพื่อนชายปากจัดที่อยู่ร่วมโครงการพูดแรงยิ่งกว่านี้อีก
แต่ฉันเรียบเรียงมาให้ดูน่าฟังขึ้นหน่อย

ในการทำงาน เวลาที่มีชีวิตชีวาที่สุดก็คือการออกสนาม
โครงการของเรามีรถโฟร์วีลสีขาวอยู่คันหนึ่ง

คนขับประจำคือนายบุญมี
หนุ่มน้อยขี้อาย ตัวผอมเก้งก้าง  พูดน้อย  ตาหวาน
เจอหน้าก็เอาแต่ยิ้มลูกเดียว

ครั้งแรกที่ขับรถเข้าไปในหมู่บ้าน
ชาวบ้านวิ่งหนีกันกระเจิดกระเจิง ไปแอบอยู่ตามสุมทุมพุ่มไม้
เพราะไม่คุ้นกับเจ้าตัวประหลาด ล้อใหญ่  เสียงดังน่าตื่นตระหนกคันนี้

นานไปจึงเริ่มคุ้นเคย
กล้าเข้ามาจับต้อง ลูบคลำด้วยความทึ่ง

นายบุญมีขับรถเก่ง  ไปได้ร้อยเอ็ดเจ็ดย่านน้ำ
ขึ้นดอยสูงชัน วกวนแค่ไหน บุญมีผ่านมาอย่างสบาย
แต่ก็ยังไม่วายถูกทดสอบ

ครั้งหนึ่ง ขากลับออกจากหมู่บ้านที่อำเภอฝาง  เชียงใหม่
รถเกิดติดหล่มอยู่หน้าหมู่บ้าน
พวกเราได้แต่นั่งภาวนา เอาใจช่วย

"บึ้น ๆ ๆ....บึ้น ๆ ๆ..."  เสียงเร่งเครื่องดังสนั่นก้องไปทั้งหุบเขา  ดังอยู่นั่นแล้ว
"บึ้น ๆ ๆ...."

ชาวบ้าน ลูกเด็กเล็กแดง วิ่งมายังที่เกิดเหตุกันทั้งหมู่บ้าน
ยืนเชียร์กันอยู่ทั้งสองฟากรถ  เต็มไปหมด

เวลาผ่านไปนานโขในความรู้สึกของเรา
คนเก่งอย่างบุญมีก็ควบเจ้าโฟร์วีลสีขาวขึ้นมาจากหล่มลึกนั้นจนได้

"เฮ..!!......"   เสียงกองเชียร์ชาวมูเซอร์ร้องตะโกน  ตบมือดังลั่น สะใจสุดขีด

แต่สิ่งที่ทำให้เราทั้งขำทั้งแปลกใจก็คือ
กองเชียร์ทั้งหลายต่างพากันยกมือไหว้นายบุญมีประหลก ๆ อย่างคนลืมตัว
ดั่งจะบอกว่า

"ยอดไปเลยนาย..  เยี่ยมไปเลยนาย"

นี่ถ้าเป็นในป่าอาฟริกา  นายบุญมีตัวผอม ตาหวานของเรา
คงถูกยึดตัว และได้รับการยัดเยียดให้เป็นหัวหน้าเผ่า
แถมยกลูกสาวให้อีกโขยงเป็นแน่





วันจันทร์ที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2556

3 บาท






ยายของลูกเป็นคนความจำดีเยี่ยม  โดยเฉพาะเรื่องราคาสินค้า
ไม่ว่าจะซื้อของอะไรมาจากไหน  และนานแค่ไหน  ยายจำราคาได้หมด

ตรงข้ามกับฉัน..

เวลาคุยกัน บางครั้งจึงมีปัญหาบ้าง
"ซื้อของไม่รู้จักจำราคา  ถามอะไรก็จำไม่ได้สักอย่าง"
"ไม่รู้ซีแม่ มันไม่อยากจำมั้ง  ไม่รู้จะจำไปทำไม"   แก้ตัวไปน้ำขุ่น ๆ แบบนี้

แล้วก็ไม่รู้ว่าคนแก่บ้านอื่นเหมือนคนแก่บ้านนี้หรือเปล่า
เวลาที่เราซื้อของที่มีราคาหน่อยเข้าบ้าน  ก็มักจะต้องผิดศีลข้อ 4 อยู่เสมอ
บอกราคาหารสอง  หรือกว่านั้น - เพื่อให้คนแก่สบายใจ

พักที่ฉันบ้าซื้อต้นไม้  ไม้บางต้นราคาแพงอย่างไม่น่าเชื่อ
แต่ก็เลือกซื้อเท่าที่พอสมควรกับฐานะ
ต้นไหนเป็นพันเป็นหมื่นก็ไปไกล ๆ ก่อน

วันหนึ่ง ฉันได้ต้นอโศกสปันมาจากสวนคุณป้าขายต้นไม้  คนคุ้นเคย
เป็นไม้หายากพอควร  ที่ได้มาเป็นกิ่งตอน ยังอยู่ในถุงดำ
ซื้อมาในราคา 300 บาท

รู้แล้วแน่ ๆ ว่ายายต้องถาม
ฉันไม่อยากพูดโกหก  จึงยกนิ้วชูขึ้น 3 นิ้ว

"30 บาท"  ยายพยักหน้าหงึกหงักแบบรับรู้

ฉันไม่ตอบรับหรือปฏิเสธ  ทำหูทวนลม
แกล้งหยิบโน่นจับนี่  รอดตัวไปอีกคราว

ของกินบางอย่างก็เหมือนกัน
อยากให้คนแก่กินของดี ๆ อร่อยลิ้น จึงซื้อมาให้
ถ้าบอกราคากันตรง ๆ นอกจากอาจจะถูกดุด่าแล้ว
แกอาจจะพานไม่ยอมกินไปอีกด้วย

วันหนึ่ง  ขากลับจากเชียงใหม่
สองข้างทางถนนหลวงมีแม่ค้าตั้งแผงขายผลไม้ตามฤดูกาล

เราแวะซื้อเมลอน ที่นิยมเรียกว่าแคนตาลูป
กะฝากทั้งย่าและยาย

"หวานเจี๊ยบเลยจ้ะ  สามลูกร้อย"  แม่ค้าโฆษณาสรรพคุณ
แคนตาลูป-แตงญี่ปุ่น  ที่บางพันธุ์ มีกลิ่นและรสละม้ายแตงไทยของเรา
บางพันธุ์ที่อร่อยมาก ๆ ลูกละเป็นร้อยก็มี

ผ่านบ้านย่าก่อนถึงบ้านเรา  จึงแวะเอาแตงญี่ปุ่นไปฝาก
"ลูกเท่าไรนี่"   ย่าถาม  มาอีกคนแล้ว แนวเดียวกันเลย
คนถูกถามนิ่งไปอึดใจ

"3 บาท"
คราวนี้ไม่ใช่ฉันที่เป็นคนผิดศีล  แต่เป็นลูกชายของย่า

"แพงนะ   ลูกแค่นี้ตั้งสามบาท"   ย่าบ่นงึมงำ
เพราะแตงไทยบ้านเราลูกเบ้อเร่อ  ก็ยังแค่ 2-3 บาท
แถวบ้านแจกกันฟรี ๆ ก็มี   กินทิ้งกินขว้างก็ยังไม่หมดลูก
แตงญี่ปุ่นลูกกระจี๊ดเดียว ตั้ง 3 บาท

"ไปแล้วนะแม่"  ลูกชายรีบบอกลาซะดื้อ ๆ

นี่ยังไม่รู้ว่าเมื่อถึงบ้าน ยายที่รออยู่จะพูดว่ายังไงอีก



วันเสาร์ที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2556

1 บาท




พูดถึงเงิน 1 บาทเดี๋ยวนี้แทบไม่มีความหมาย
ให้ลูกไปโรงเรียน มันต้องลงไปนอนดิ้นที่พื้นแน่

ให้ขอทาน ยังถูกขอทานมองหน้า จนคนให้ต้องหลบตา

กลัวโดนด่าหรือโดนตบแบบเรื่องเล่าสนุก ๆ เกี่ยวกับโจรปล้นทอง
ที่กลับมาตบหน้าคนถูกปล้น  โทษฐานที่ใส่ทองเก๊  จนโจรต้องเหนื่อยเปล่า

แต่เมื่อหลายปีก่อน  ค่าของเงิน 1 บาทต้องมากกว่าเดี๋ยวนี้แน่
แต่ก็ไม่ได้มากไปกว่าราคาน้ำแข็งเปล่าในร้านก๋วยเตี๋ยว สักแก้วหรือ 2 แก้ว

ฉันกับพี่พร - พี่สาวร่วมโลก ร่วมอุดมการณ์
สมัยที่เรายังทำงานเกี่ยวข้องกับชาวเขา  ยังขับรถไม่เป็นทั้งคู่
และยังอาศัยอยู่ในบ้านพักของหน่วยงานที่เราทำงานอยู่

จะไปไหนที่ไม่ไกลมาก ก็มักอาศัยยืมจักรยานของคนแถวนั้นขี่ไป

วันนั้น รถจักรยาน (คนทางเหนือเรียกรถถีบ) ที่ยืมเขามาถีบเกิดยางรั่ว  ด้วยสาเหตุอันใดไม่ทราบ
ถามไถ่คนละแวกนั้นถึงร้านซ่อมรถ ก็มีผู้ใจดีอธิบายเส้นทางให้เรา

ในที่สุดเราก็จูงรถไปหาร้านซ่อมนั้นจนพบ
แต่ไม่ได้เป็นร้านอย่างที่เรานึกภาพอยู่ในใจหรอก  เพราะต้องเข้าซอยไปนิดหน่อย
ที่คิดว่าจะเป็นร้านก็กลับเป็นใต้ถุนบ้านของบ้านไม้แบบโบราณ ใต้ถุนสูง หลังย่อม ๆ

ตามเสาไม้ ใต้ถุนบ้าน  มียางรถทั้งยางนอก ยางใน ทั้งใหม่และเก่า
ห้อยตะปูอยู่ระโยงระยาง  แบบที่เห็นตามร้านซ่อมทั่ว ๆ ไป
ที่พื้นมีกล่องอุปกรณ์วางระเกะระกะข้างที่สูบลม   กาละมังใส่น้ำ

ช่างซ่อมเป็นชายสูงอายุ คงเป็นเจ้าของบ้าน
บอกให้เรานั่งรอที่แคร่ไม้ไผ่ด้านข้าง หลังจากเราบอกอาการของรถ

ในระหว่างรอช่างปะยาง  เราสองคนนั่งคุยกันด้วยเรื่องราวสัพเพเหระ
น่าจะราวครึ่งชั่วโมง  รถถีบของเรา-ที่ยืมเขามา ก็ซ่อมเสร็จ

ฉันจำไม่ได้แล้วว่าได้ถามไถ่ลุงช่างซ่อม ถึงสาเหตุของการรั่ว
หรืออาการอื่น ๆ ของรถด้วยหรือเปล่า

แต่ที่จำได้แม่นยำมาจนถึงทุกวันนี้ก็คือ  ราคาค่าซ่อมรถในวันนั้นคือ 1 บาท !

เงิน 1 บาท ที่ฉันหรือพี่พรไม่รู้เป็นคนจ่ายไป ด้วยความรู้สึกที่อธิบายไม่ถูก
กึ่งปีติ  กึ่งขำ  กึ่งสงสาร

" 1 บาท !"  เราพากันหัวเราะเสียงดัง (ลับหลังลุง) เมื่อจูงรถมาถึงหน้าซอย
เป็นอาการหัวเราะแบบทึ่ง ๆ  คิดไม่ถึง  น่านับถือ  อธิบายไม่ถูก  อะไรประมาณนั้น

ฉันย้อนคิดถึงเรื่องนี้ ในวันที่ค่าเงินบาทลอยตัว
ข้าวของแพงวินาศสันตะโรอย่างน่าตกใจ
จนบางครั้งรู้สึกเหมือนว่าผู้คนพากันฉกฉวยโอกาส ซ้ำเติมกันและกัน
มีข้ออ้างซัดต่อกันเป็นทอด ๆ ที่จะขึ้นราคา  โดยไม่มีใครยอมลดราวาศอก
เป็นสังคมแบบ"ฟัน"  ที่คนอ่อนแอยากที่จะอยู่รอด

ยุคที่ยากจะหาร้านก๋วยเตี๋ยวที่ให้น้ำแข็งเปล่ากินฟรีอีกต่อไป
ร้านไหนให้น้ำเปล่ากินฟรี ก็จะรู้สึกเป็นบุญคุณอย่างยิ่งไปเสียแล้ว

เงิน 1 บาท
แม้ไม่อาจสรุปได้ว่าเกี่ยวข้องกับจิตใจคนในแต่ละยุคได้อย่างไร

แต่อย่างน้อยก็ทำให้ฉันหวนคิดถึงอดีตในมุมเล็ก ๆ ครั้งนั้นด้วยความสุข

วันอังคารที่ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2556

หลงป่า






มีพื้นที่หลายแห่ง
ที่ฉันและพรรคพวกคณะทำงานสำรวจโครงการชาวเขาเคยขึ้นไปสำรวจ
เพื่อหาพื้นที่ทดลองจัดการศึกษาให้ชุมชน
แล้วต่อมาไม่เลือกให้เป็นพื้นที่ทำงาน  ด้วยเหตุผลต่าง ๆ กันไป

ถึงกระนั้นก็ยังมีบางหมู่บ้าน  ที่แม้จะไม่ได้รับเลือก
แต่ก็ยังคงมีเสน่ห์อยู่ในใจเรา  จนต้องกลับไปเยี่ยมเยียนกันอีกครั้ง

หลายปีถัดมา  หลังการสำรวจคราวแรก
ฉันและเพื่อนผู้นิยมไพร 2-3 คน  จึงออกเดินทางกันอีกครั้งหนึ่ง

เราจะไปบ้านกะเหรี่ยง
(สมัยนั้น ยังไม่ได้ยินใครเรียกชาวกะเหรี่ยงว่า ปากะญอ หรือ ปกากะญอ เหมือนเดี๋ยวนี้)
บ้านที่เราจะไปคือหมู่บ้านทุ่งพร้าว  อยู่ในเขตอำเภอแม่สรวย จังหวัดเชียงราย

ทางเดินขึ้น ต้องใช้คำว่าหฤโหด
จะต้องเดินเท้ากันตั้งแต่หมู่บ้านริมถนนหลวง ที่เรียกว่าบ้านตีนดอย เลยทีเดียว

เดิน  เดิน  เดินและเดิน  จนเหมือนชีวิตนี้จะมีแต่การเดินเพียงอย่างเดียว

ด้วยวัยขณะนั้น   กำลังใจขณะนั้น เราจึงย่ำดอยกันมานักต่อนัก
โดยไม่เบื่อหน่ายหรือเข็ดหลาบ
แม้บางครั้งจะรู้สึกเหนื่อย จนแทบอยากจะขาดใจตายไปเสียให้รู้แล้วรู้รอด

หากเป็นเดี๋ยวนี้  วัยขณะนี้  กำลังใจขนาดนี้  ฉันรู้ว่าตัวเองไม่มีปัญญาแน่
แม้ในครั้งนั้นก็เถอะ ..ด้วยความที่เคยรู้รสชาติความโหดนั้นมาครั้งหนึ่งแล้ว
ก็ทำให้เรา "แหยง" อยู่ครามครัน
จนต้องว่าจ้างลูกหาบชาวอาข่า ให้ต่างของไปให้
พกแต่ขวดน้ำและของขบเคี้ยวเล็ก ๆ น้อย ๆ
กะว่าคราวนี้ได้เดินตัวปลิวล่ะ

หนุ่มอาข่ากับม้าคนละตัว
บรรทุกสัมภาระคือเป้ใส่เสื้อผ้า  ข้าวสารอาหารแห้ง-สด ทั้งหลาย  เดินนำหน้าเรา
แหงนคอไปเถอะ !
เพราะดอยลูกนี้จะต้องตะกายกันไปอีกนาน...

ฉันกับเซาะ -รัชนีพร  เพื่อนรุ่นน้องที่สนิทกันมาแต่ครั้งที่ทำกิจกรรมค่ายชาวเขาสมัยเรียน
เราสองสาวเดินไป คุยไป สารพันเรื่องราว

เพื่อนร่วมทางอีกคนเป็นหนุ่มน้อยที่อยู่ร่วมโครงการสำรวจตั้งแต่ครั้งแรก
เขาชื่อ "เสียงใหญ่"
ชื่ออย่างนี้รับรองว่าไม่ใช่ชื่อที่พ่อแม่ตั้ง
หากใครได้พูดคุยกับเขาก็จะเข้าใจที่มาของชื่อได้ทันที

เดินไปนานเท่าไรไม่รู้
ชมนกชมไม้และหยุดพักแก้เมื่อย กินน้ำกินขนมกันเป็นระยะ ๆ  จนกระทั่งบ่ายคล้อย
เสียงคุยค่อย ๆ แผ่วจาง อันเนื่องมาจากความเหน็ดเหนื่อยอ่อนล้า

เราผ่านหมู่บ้านห้วยป่าเคาะ  เป็นหมู่บ้านชาวอาข่าที่ฉันเคยมาตั้งค่ายกับเื่พื่อน ๆ
เป็นค่ายครั้งแรกในชีวิตนักศึกษา
ความหลังอันอบอุ่นและเป็นสุขของชีวิตกิจกรรม หวนมาให้รำลึกถึง

"อีกไม่ไกลแล้วล่ะ  มาถึงนี่ก็ถือว่า 80 เปอร์เซนต์แล้ว"
เราต่างมีกำลังใจ  กระปรี้กระเปร่าขึ้นมาอีกครั้ง

จากบ้านห้วยป่าเคาะ  จะมีทางเดินเท้าลัดเลาะไปตามไหล่เขา
ฉันจำได้ว่า  หลังจากเลาะเลียบเขาไปสักระยะหนึ่ง
จะมีทางเดิน ดิ่งลงไปถึงตีนเขา

แล้วเราก็จะเจอลำธารสายเล็ก ๆ  กว้างสัก 2-3 เมตร
เราต้องลุยลำธารนั้นไป

บ้านทุ่งพร้าวจะอยู่เรียงรายริมลำธารแห่งนั้นนั่นเอง

ตะวันเริ่มคล้อยต่ำ
เราเดินไปตามทางโดยไม่ทันได้สังเกตว่าลูกหาบของเราชักไกลห่างออกไปทุกที ๆ

เขาอาจจะรำคาญ
หรืออาจจะคิดว่า มาถึงนี่แล้ว  ยังไง ๆ ก็ไม่หลง

แต่ปรากฏว่าเราหลง !

หนุ่มน้อยคนเดียวในกลุ่ม  ตะโกนเรียกลูกหาบดังก้องป่า
เงียบ...  ไม่มีสัญญานตอบรับ
เสียงใหญ่แค่ไหนก็ช่วยไม่ได้
ทางเดินก็ชักวกวน  วังเวง..

ในที่สุด  เราตัดสินใจหันหลังกลับ  เดินย้อนทางเก่า
ในใจนึกภาวนา  ขอให้เจ้าป่าเจ้าเขา  เทวดาอารักษ์ คุ้มครองลูกด้วยเถิด
สาธุ...

อธิษฐานเสร็จ  ไม่น่าเชื่อว่าเหมือนดูหนังไทย
เราเจอชาวบ้านคนหนึ่ง  โผล่พรวดออกมาจากทางแยกข้างหน้านั่นเหมือนปาฏิหาริย์

เราหลงจริง ๆ  นั่นแหละ  ชาวบ้านชี้มือบอกทาง
โน่นแน่ะ   คนละทิศกับที่เดินมา

พอรู้ทางแน่แล้ว  คราวนี้ก็รีบจ้ำพรวด ๆ  เพราะกลัวจะมืดเสียก่อน
อากาศเริ่มเย็น  เสื้อผ้า อาหาร ไฟฉาย..ฝากไว้ในกำมือลูกหาบจนหมด

ทางเดินเป็นดังที่ฉันบอกไว้ว่าถ้าใกล้ถึง  เราจะดิ่งลงเขาลิ่ว ๆ
ถ้าติดเบรคไม่ทัน  ก็มีหวังเป็นนกปีกหักได้ง่าย ๆ

เมื่อก่อนเคยนึกค่อนขอดอยู่ในใจ ว่าพวกอีก้อหรืออาข่านี่พิลึก
ชอบอยู่ที่สูง  สูงอะไรกันนักหนา
ถ้าใครคิดจะไปบ้านอาข่าบอกไว้ก่อนเลยว่าเดินกันขาลาก

เขาว่า่คนอาข่าชอบอยู่ที่สูงเพราะกลัวผีน้ำ
น้ำไหลอยู่ตีนดอย  อาข่าจึงต้องพยายามหนีขึ้นไปให้ไกลที่สุด
แต่บนยอดดอย อากาศสดชื่นบริสุทธิ์  เย็นสบายกว่าข้างล่าง
วัฒนธรรมแต่ละกลุ่มชน ต่างก็มีเหตุปัจจัย  มีเหตุผลที่แตกต่างกันออกไป

เราพากันลิ่วลงดอย  มายืนหอบแฮ่กเป็นหมาหอบแดดอยู่ข้างล่าง
อีกพักเดียวก็ถึงลำธาร

แต่สิ่งที่ไม่คาดคิดก็เกิดขึ้นอีกจนได้...

ลำธารที่ฉันจำได้ว่าเป็นสายน้ำสายเล็ก ๆ ที่เคยลุยผ่าน
กว้างอย่างมากก็ไม่เกิน 4 เมตร
ไฉนวันนี้จึงกลายเป็นแม่น้ำสายใหญ่
น้ำขุ่นข้นสีแดงโคลน  ไหลเชี่ยวกรากเหมือนคนโกรธเกรี้ยว

อย่างเรา ๆ นี่ไม่มีทางจะข้ามไปได้เลย..

ฉันยืนงงเป็นไก่ตาแตก
แล้วพ่อลูกหาบตัวดี 2 หน่อนั่น ไปถึงไหน ๆ แล้วก็ไม่รู้

"เอาไงดี ?"   คำถามนี้อึงอลอยู่ในใจ
ใกล้ค่ำเข้าไปทุกที ...
เราสามคนตกอยู่ในภาวะวิกฤตอีกครั้ง

แต่แล้วปาฏิหาริย์แบบหนังไทยก็เกิดขึ้นกับเราอีกจนได้...

ฉันสังเกตเห็นกลุ่มควันไฟสีเทาอ่อน  อ้อยอิ่งเป็นลำขึ้นมาจากพงไม้ด้านหลัง
ห่างจากจุดที่เรายืนอยู่ราว   200  เมตร

"เฮ้ย !  ควันไฟ  ต้องมีคนอยู่"  เราทั้งสามไม่รอช้า
เดินดุ่มไปตามทิศทางที่เห็นกลุ่มควัน  ใกล้เข้าไป ๆ

หากเป็นยามปกติ ฉัีนก็อยากจะบันทึกภาพนั้นไว้...

ภาพที่เราเห็นข้างหน้าก็คือ  กระท่อมไม้ไผ่หลังคามุงจาก หลังยาว
ลักษณะเป็นโรงเรือนมากกว่าจะเป็นบ้านคนทั่วไป
ที่หน้ากระท่อม  มีชายฉกรรจ์ไม่ต่ำกว่า  6-7  นาย
ยืนเรียงแถวหน้ากระดาน  แต่ละคนหน้าเข้ม
เพ่งมองมายังผู้พเนจรร่อนเร่ทั้งสามเป็นจุดเดียว

เสียงใหญ่นะเสียงใหญ่
ฉันรู้สึกขอบคุณเธอในนาทีนั้น
ถึงเธอจะช่วยอะไรไม่ได้ หากมีอะไรเกิดขึ้น
แต่เธอก็ยังเป็นผู้ชาย ที่ทำให้ฉันรู้สึกอุ่นใจมากกว่าที่จะมีฉันกับยายเซาะเพียงสองคน

คำถามที่จู่โจมเข้ามาในนาทีนั้นก็คือ  พวกเขาเป็นใคร?
คนดีหรือคนร้าย ?
แต่จะดีหรือร้าย ตอนนั้นเราก็จนตรอกแล้ว..

ในที่สุดพระเจ้าก็ทดสอบเราจนเหนื่อย

เราได้พบและรู้จักคุณวิทยา  ศรีวิไล  หัวหน้าหน่วยรักษาต้นน้ำในขณะนั้น
ผู้ซึ่งพาลูกน้อง - ชายฉกรรจ์ทั้งหมดนั่นแหละ
มาปลูกสร้างที่ทำการหน่วย เพื่อปฏิบัติภารกิจรักษาป่าต้นน้ำอยู่ตรงนั้น
ได้เพียง 2 วัน !!!

"น้ำกำลังขึ้นครับ"
คุณวิทยาอธิบายปรากฏการณ์ที่ทำให้เรางงเป็นไก่ตาแตกเมื่อครู่

"ลูกหาบสองคนนั่นคงข้ามฝั่งไปก่อนที่น้ำจะขึ้น  พรุ่งนี้เช้าจึงจะข้ามได้ครับ"

ความลับทั้งหมดถูกเปิดเผย

วันนั้นถือเป็นวันที่โชคดีที่สุดในชีวิตของเราก็ว่าได้
หลังจากกลายเป็นคนสิ้นเนื้อประดาตัว   ขวัญกระเจิง
หิวโหยและอ่อนล้ามาสุดกำลัง..

รอดตาย...  ได้รับการแบ่งปันอาหาร
ได้ที่พักพิงอย่างดีท่ามกลางอากาศเหน็บหนาว
เต็มตื้นกับน้ำจิตน้ำใจที่ได้มายามทุกข์ยาก

พระคุณนี้จะไม่มีวันลืมไปชั่วชีวิต...