วันเสาร์ที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2556

โค้กขวดเดียว






เรื่องความเชย ความชุ่ยบวกความโง่ของฉัน ยังมีให้เล่าต่อได้อีกนิด

สมัยที่ทำงานโครงการชาวเขา
หลังจากได้หลักสูตรประถมศึกษาสำหรับชาวเขา
และทยอยเชิญนักวิชาการมาช่วยเขียนสื่อการเรียนของแต่ละวิชาแล้ว
คณะทำงานคือพวกเรา ยังมีหน้าที่ต้องจัดการเรื่องการพิมพ์สื่อการเรียนออกมาด้วย

อาศัยที่เป็นโครงการพิเศษ
ไม่ต้องอิงกฎระเบียบราชการแบบเคร่งครัด
เราก็อาศัยวิธีการแบบลูกทุ่งของเรา  เอาต้นฉบับไปให้โรงพิมพ์ตีราคา

ครั้งแรกไปที่เชียงใหม่ เพราะคิดว่าอยู่ใกล้ น่าจะคุ้มค่ากับการติดต่อประสานงาน
สมัยนั้นที่เชียงใหม่ยังมีโรงพิมพ์ไม่มากนัก
จำไม่ได้แล้วว่าไปติดต่อโรงพิมพ์ไหนบ้าง
แต่จำราคาได้คร่าว ๆ ว่า่สื่อฯคณิตศาสตร์เล่มบาง ๆ
โรงพิมพ์ที่เชียงใหม่เสนอราคามาระหว่าง 19 ถึง 23 บาท ต่อเล่ม

ถูกหรือแพง..ไม่รู้เลย   เพราะไม่มีประสบการณ์

ในที่สุดก็ตัดสินใจลงไปสำรวจราคากันที่กรุงเทพฯ
ฉันกับยายเต่า เพื่อนร่วมกลุ่ม ถือถุงหิ้ว (คล้าย ๆ ถุงปุ๋ย แต่มีหู) ใบเบ้อเริ่มคนละใบ
บรรจุต้นฉบับสื่อฯ แต่ละวิชาที่จะเอาไปให้โรงพิมพ์ดู

สองสาวเดินตัวเอียงกระเท่เร่ เหมือนพนักงานขายผงซักฟอกสมัยก่อนโน้น
ที่มักสะพายถุงผงซักฟอกไปเร่ขายตามบ้าน  ยังไงยังงั้น

เราเดินตัวเอียงไปตามโรงพิมพ์สองสามแห่ง เท่าที่จะนึกชื่อโรงพิมพ์ดัง ๆ สมัยนั้นได้
ราคาถูกลงจากราคาที่เชียงใหม่  ลงมาอยู่ราว ๆ 16-17 บาท (เอาเล่มคณิตศาสตร์เป็นเกณฑ์)

เราก็ยังตัดสินใจไม่ถูกอยู่ดีว่าจะพิมพ์ที่ไหน

บังเอิญฉันเคยรู้จักอาจารย์ท่านหนึ่ง  
สมัยที่ทำงานอยู่สำนักพิมพ์แห่งหนึ่งย่านหัวลำโพง

อาจารย์เคยสอนที่คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ
ภายหลังลาออกจากราชการ  อาจารย์มาเป็นที่ปรึกษาสำนักพิมพ์แห่งนี้

นึกขึ้นได้ว่าอาจารย์น่าจะรู้จักโรงพิมพ์ต่าง ๆ เป็นอย่างดี
เพราะอาจารย์คลุกอยู่ในวงการนี้มานาน  ฉันจึงโทรหาท่านและโชคดีที่ท่านรับสาย

อาจารย์แนะนำโรงพิมพ์แห่งหนึ่งให้เรา

นั่นคือที่มาของโรงพิมพ์ ที่ได้พิมพ์งานให้โครงการชาวเขาของเราจนครบทุกเล่ม

ฉันกับยายเต่าหิ้วถุงใบเดิม ไปตระเวณหาโรงพิมพ์เป้าหมายนั้นจนพบ
ได้พบผู้จัดการหนุ่มรูปงาม ผู้เป็นทั้งเจ้าของโรงพิมพ์และผู้จัดการ
พลางแนะนำตัวและเอ่ยอ้างถึงอาจารย์ผู้แนะนำไปด้วย

ชายหนุ่มรับต้นฉบับสื่อฯ ไปพิจารณาดูทีละหน้า
แล้วก็จิ้มเครื่องคิดเลขไป ทำหน้าครุ่นคิดไปอยู่พักใหญ่

จากนั้นก็เงยหน้าพูดกับเราด้วยสุ้มเสียงเกรงอกเกรงใจเป็นล้นพ้นว่า

"5 บาทครับอาจารย์"

"หา !"  สองสาวร้องขึ้นพร้อมกัน

"เท่าไรนะคะ"  ยังนึกว่าตัวเองหูฝาด
"เอ่อ...ห้าบาทครับ"  เขาอาจจะกำลังนึกว่าบอกแพงเกินไปหรือเปล่าว้า
สองสาวจึงทำตาเหลือกเช่นนี้

ฉันกับยายเต่าแทบไม่เชื่อหูตัวเอง...

นับแต่นั้นมา คณะของเราอีกหลายคน (สาว ๆ ทั้งนั้น)
ก็ทยอยกันขนสื่อฯ ประจำวิชาที่ตัวเองรับผิดชอบ
ลงมาให้ผู้จัดการหนุ่มรูปหล่อ(และโสด) จัดพิมพ์กันถ้วนหน้า
จนกระทั่งเหมือนจะกลายเป็นคนคุ้นเคยกัน

เพราะกว่าจะเสร็จสิ้นกระบวนการตั้งแต่ส่งต้นฉบับ
ก็ยังต้องไปคอยตรวจปรู๊ฟ  ดูปก  ดูสี
เดินเข้าเดินออกโรงพิมพ์ สวนกันไปมาเป็นว่าเล่น นานเป็นปี

ความโง่ของเรานั้นอยู่ตรงที่ไม่เคยรู้เลย (ในตอนนั้น)
ว่างานลักษณะนี้แหละคือช่องว่าง ช่องโหว่ แล้วแต่จะเรียก
ที่พวกข้าราชการกลุ่มหนึ่ง ใช้เป็นที่ทำมาหากินกับโรงพิมพ์
จนร่ำรวยกันมานักต่อนักแล้ว

ราคาของที่ขายให้หน่วยงานราชการจึงมักแพงกว่าขายให้ชาวบ้าน
เพราะต้องบวกเปอร์เซนต์การโกงเข้าไปด้วย

ทั้งสองฝ่ายต่างร่วมมือกันปล้นประเทศก็ตรงนี้แหละ

แต่ก็เพราะความโง่นี่แหละ ที่กลายเป็นเกราะคุ้มครองเรา
พวกเราจึงทำงานกันอย่างมีความสุข และสนุกมาก
และไม่เคยมีเสียงแห่งความระแวงสงสัยมาจากทางไหนเลย

ชะรอยจะเป็นบุญที่เคยเกื้อหนุนกันมา
ผู้จัดการหนุ่มก็ได้งาน ได้เงินจากโครงการเราไปไม่ใช่น้อย
เราเองก็ได้งานพิมพ์ที่มีคุณภาพ และราคาถูก

ต้องขอบคุณอาจารย์ที่มองเราออก
ขอบคุณโรงพิมพ์ที่รู้ว่าอาจารย์เป็นคนอย่างไร
และรู้ว่างานนี้ไม่มีค่าใต้โต๊ะ  จึงคิดราคาแบบแท้ ๆ

สิ่งที่เราเคยได้จากผู้จัดการหนุ่มหล่อและขี้เกรงใจคนนี้เพียงครั้งเดียว
ก็คือสั่งโค้กมาเลี้ยงคนละขวด  (ปกติคือน้ำเปล่า)

เท่านั้นจริง ๆ






วันจันทร์ที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2556

เชยและชุ่ย





สมัยเรียนหนังสือ
ฉันมักถูกเพื่อน - พี่ เรียกว่ายายเชย หรือไม่ก็ยายเฉิ่ม
ค่าที่ชอบทำอะไรเปิ่น ๆ ในสายตาของพวกเขาเสมอ ๆ

ที่จริงฉันออกจะเป็นคนซื่อ...  ฮ่า ฮ่า ฮ่า
และหลายครั้ง ความซื่อก็นำมาซึ่งความเดือดร้อนแก่ตัวเอง
กลายเป็นความโง่  แบบโง่ไม่เสร็จสักที
พานนึกโมโหตัวเองอยู่บ่อย ๆ

หากความเชยของฉันพอจะมีประโยชน์อยู่บ้าง
ก็ตรงที่ได้ทำให้เพื่อนฝูงหัวเราะ
ให้พวกเขาได้ล้อเลียนด้วยอารมณ์รื่นเริง
แก้เซ็งได้เป็นครั้งเป็นคราว  ก็เอาล่ะ

ส่วนในเรื่องของความชุ่ย
มีเรื่องราวน่าอัปยศเกี่ยวกับความชุ่ยของตัวเองอยู่ 2-3 ครั้ง
ที่ต่อมากลายเป็นเรื่องโจ๊กประจำตระกูล
เล่ากันไม่รู้กี่รอบ

วันหนึ่ง ฉันออกไปกินข้าวที่ร้านอาหารตามสั่ง ปากซอยหน้าสำนักงาน
ผู้คนบางตา เพราะเป็นร้านเล็ก ๆ ย่านชานเมือง
เด็กในสำนักงานที่ไปด้วยคนหนึ่ง ชื่อเจ้าแม้ว (ทั้งที่จริง ๆ เป็นคนลีซอ-
ส่วนน้องลีซอที่เป็นนักบอลคนดังนั่นก็ไม่ได้เป็นชาวเขาอะไรเลย
นอกจากจะชื่อลีซอแล้ว ยังมีคุณแม่ชื่อแม้วอีก - ฟังแล้วชักสับสน)

นั่ง ๆ กินข้าวอยู่  เจ้าแม้วก็จ้องมองเสื้อของฉันอย่างไม่วางตา
วันนั้นฉันใส่เสื้อแขก  เป็นผ้าป่านพิมพ์ลายดอกไม้ สีฟ้า แขนยาว
ที่คอมีไส้ไก่สีดำเส้นเล็ก ๆ  รูดจีบมาผูกเป็นหูกระต่ายด้านหน้า

"มองอะไรวะ แม้ว ?"   ฉันถาม
"ปลิ้น"   เจ้าแม้วพูดคำเมือง
"อะไรนะ ?"
"ปลิ้น"   เจ้าแม้วย้ำคำเดิม

เท่านั้นแหละ พรรคพวกร่วมโต๊ะอีก 2-3 คน ก็พร้อมใจกันหันมามองฉัน

อนิจจา !  ฉันใส่เสื้อปลิ้น !
กลับเอาข้างในออกข้างนอก

"โธ่เว้ยเฮ้ย !"  ฉันโวยวายกลบความเขินอาย
พรรคพวกพากันหัวเราะขบขัน

ก็ข้างนอกกับข้างในมันแทบจะไม่ต่างกันเลย
ซ้ำตะเข็บก็เย็บอย่างดีไม่มีรุ่ยร่ายออกมาสักนิด

นั่นเป็นครั้งแรกที่"ปลิ้น"
ยังมีอาการปลิ้นครั้งต่อมาอีก 2-3 ครั้ง
 แต่ครั้งที่ร้ายแรงที่สุด (ในความคิดของตัวเอง)
ก็คือคราวที่ใส่เสื้อเอาข้างหน้าไปไว้ข้างหลัง
และเอาข้างหลังมาไว้ข้างหน้า

คราวแรกนั่นเหตุการณ์เกิดแถวชานเมือง  ผู้คนบางตา
แต่คราวนี้ล่อกันกลางตลาดสดเลยทีเดียว

เสื้อตัวที่ใส่วันนั้นเป็นเสื้อพิมพ์ลายบาติก
เป็นผ้าเนื้อลื่น ๆ ใส่สบาย  คอกลม  แขนสั้น
ผ่าไหล่ติดกระดุม 2 เม็ดที่ด้านซ้าย
และมีกระเป๋าปะอยู่ด้านหน้า

ฉันไปเดินตลาด หาซื้อกับข้าวอย่างสบายอารมณ์
ผู้คนพลุกพล่าน ด้วยเป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุด
บางช่วง  โดยเฉพาะแถบที่ขายอาหารสำเร็จรูป  คนแน่นขนัด

พลัน !  มือฉันป่ายไปถูกกระดุมที่หัวไหล่ขวา

ความเคยชินบวกความจำ
เพราะเป็นเสื้อตัวเก่ง ใส่บ่อย
รำลึกได้ว่ากระดุมเสื้อมันเคยอยู่ข้างซ้ายนี่นา

หัวสมองบวกลบคูณหารอย่างรวดเร็ว
รู้แล้วว่าอะไรเป็นอะไร....

แม่เจ้าประคุณเอ๋ย
ที่เคยเดินทอดน่องอย่างสบายอารมณ์ ก็เป็นอันก้าวขาแทบไม่ออก
เดิืนไม่ได้ขึ้นมาในทันที
รู้สึกร้อนผ่าวที่ใบหน้า และร้อนไปทั้งตัว

ฉันรีบจ้ำออกมาจากขบวนคนพลุกพล่าน
หมดอารมณ์ที่จะเดินซื้อหาของอีกต่อไป

ไอ้ที่เดินเบียด ๆ กันอยู่เมื่อกี้
จะมีคนสังเกตเห็นบ้างไหมหนอ

ก็ไอ้เจ้ากระเป๋า ที่ปกติมันควรจะปะอยู่ที่อกข้างซ้าย
กลับมาย้ายไปอยู่ข้างขวา
แต่ดันเป็นข้างหลังไปเสียน่ะสิ  ที่ทำให้เกิดเรื่อง
บ้าชะมัดเลย

ถึงบ้าน ผีความอาย (ผสมความโกรธตัวเองเล็กน้อย) ยังไม่หนีไปไหน
ฉันจัดการเลาะเจ้ากระเป๋าใบนั้นออกทันที

ถ้าไม่มีกระเป๋าก็ยังพอทำเนียน ๆ
กลับหน้าเป็นหลัง กลับหลังเป็นหน้าได้อยู่นะ
นึกกระหยิ่มอยู่ในใจ

อ้าว..เอ๊ะ...เผื่อว่าจะชุ่ยอีกครั้งหรือไงนี่

นี่ไงที่เรียกว่าชุ่ยไม่เสร็จ
เป็นอย่างนี้นี่เอง





วันศุกร์ที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2556

ว้า !







บ้านแม่ริดป่าแก่ เป็นหมู่บ้านชาวกะเหรี่ยง 
อยู่ในเขตดอยแม่สวรรค์  อำเภอแม่สะเรียง  จังหวัดแม่ฮ่องสอน

ชื่อหมู่บ้านบอกได้ถึงความอุดมสมบูรณ์ของป่า
คนกะเหรี่ยงอยู่กับป่าอย่างเข้าใจ  
พึ่งพาอาศัย แอบอิงอยู่กับธรรมชาติอย่างสมถะและรู้คุณ
เราจึงมักรู้สึกว่าหมู่บ้านกะเหรี่ยงร่มรื่น น่าอยู่มากกว่าที่อื่น ๆ

การเดินทางเข้าไปที่นั่นโหดใช่ย่อยในตอนนั้น  เพราะรถยังเข้าไม่ถึง
ต้องเดินกันอย่างเดียว

คณะเรามีกัน 5 คน เป็นหญิงล้วน
บางคนเพิ่งเคยเดินดอยเป็นครั้งแรก 

ครั้งนั้นเราได้พบพ่อเฒ่าคนหนึ่ง  จำชื่อไม่ได้เสียแล้ว
พ่อเฒ่านั่งสานกระบุงไม้ไผ่อยู่ที่ชานบ้าน





ที่เราเห็นว่าเป็นกระบุงนั้น  คือที่เก็บเสื้อผ้าของคนกะเหรี่ยง
เรียกว่า "โป่ว"  เป็นเครื่องสานทรงสูง
เอวคอดตรงปลาย  ข้างบนมีฝาครอบทรงกลม
เป็นงานสานละเอียดลออ  ซ้อนกันสองชั้น

ห้าสาวน้อย (ในยุคนั้น) ตื่นเต้นกันมาก
พ่อเฒ่ายังคุยให้ฟังอีกว่า  นี่ถ้ามีปีกแมงทับ ก็จะเอามาเสียบ
ประดับแทรกลงไปในรอยสาน  งามยิ่งกว่านี้อีก

พวกเราขอซื้อ "โป่ว"  เท่าที่พ่อเฒ่ามี
พ่อเฒ่าขายให้ในราคาใบละ  80 บาท
(ราคาขายที่เชียงใหม่ในขณะนั้น อยู่ที่ประมาณเจ็ดแปดร้อยบาท  
หากเป็นเดี๋ยวนี้  น่าจะแพงขึ้นอีกหลายเท่า  ยังมีหรือเปล่าก็ไม่รู้)

พ่อเฒ่าบ่นให้ฟังว่า 
"ในหมู่บ้านไม่มีใครทำโป่วได้อีกแล้ว  พ่อเฒ่าอายุ 80  อยู่อีกไม่เท่าไรก็ตาย.."

ฟังแล้วใจหาย...

ขากลับ เราจำเป็นต้องจ้างลูกหาบ เพราะลำพังตัวเองก็ยังจะเอาไม่รอด
นี่ยังมีโป่ว ใบเบ้อเริ่มเทิ่มอีกตั้ง 4 ใบ

ลูกหาบสองคน ทำไม้คานหาบโป่วคนละสองใบ
นำทางพาห้าสาวร่อนลงดอย

เดินบ้าง พักบ้าง เพราะหนทางทุรกันดาร
บางช่วงขึ้น บางช่วงลง เหนื่อยหอบแทบขาดใจ

ป่าแม่ฮ่องสอนนั้นสวยนัก
สองข้างทางเดินเต็มไปด้วยดอกหญ้าเล็ก ๆ  ทั้งสวยและแปลก
เป็นหญ้าพันธุ์แกร่ง  บางต้นลักษณะคล้าย ๆ เฟิร์น  หรือไม่ก็พวกย่านลิเภา
มารู้ภายหลังจากครูในหมู่บ้านว่า ชื่อหญ้างอแง  จิ้มน้ำพริกกินได้ด้วย
ชื่อยังกับเด็กตัวเล็ก ๆ ขี้ร้องไห้

ฉันหลงใหลดอกหญ้าเล็ก ๆ จนอดใจไว้ไม่อยู่
ต้องหยุดเก็บเป็นระยะ ๆ 
เต็มมือเมื่อไรก็โยนลงไปในโป่ว  ให้ลูกหาบหาบต่อไป
เก็บอยู่นั่นแล้ว..  
พวกลูกหาบจะรำคาญบ้างหรือเปล่าก็ไม่รู้

ระหว่างหยุดพักกลางทาง
มีชาวบ้านกลุ่มหนึ่ง เดินสวนมาจากข้างล่าง จะกลับขึ้นไปหมู่บ้าน
พวกเขาส่งเสียงทักทายกันโขมงโฉงเฉง
เดาจากท่าทาง.. คงอยากรู้เต็มแก่ว่ามีอะไรอยู่ในโป่ว
ถึงกับต้องจ้างต้องหาบกันลงมา

คนหนึ่งอดใจไว้ไม่อยู่ พรวดพราดเข้าไปเปิดฝา
แล้วก็ทำหน้าแปลกใจระคนผิดหวัง 

"ว้า.."

มองเห็นแต่หญ้าแห้ง ๆ รก ๆ เต็มไปหมด
ไม่มีของมีค่า มีราคา
อะไรสักอย่าง..

คนเมืองนี่แปลกจริง ๆ



หมายเหตุ...หลังจากกลับมาในครั้งนั้น  สามปีต่อมาพ่อเฒ่าก็สิ้นบุญ
และไม่มีใครสืบทอดงานสานโป่วอันงดงามของพ่อเฒ่าอีกเลย








วันพุธที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2556

บ่ขาย ๆ






เวลาได้ออกสนาม  เข้าหมู่บ้าน
จะด้วยไปจัดประชุมเขียนสื่อการเรียน
หรือจะด้วยไปเยี่ยมเยียนครูในโครงการ  เดือนละครั้ง ตามแผนงาน ก็แล้วแต่

สิ่งหนึ่งที่ก๊วนซ่าของเราชอบนักชอบหนา
ก็คือการได้ซื้อของ (เล็ก ๆ น้อย ๆ) ตามหมู่บ้าน ติดไม้ติดมือมาด้วยเสมอ

แม้จะไม่มีกฎระเบียบชัดเจนว่าห้ามซื้อของ
(ความหมายก็คือ  ห้ามใช้เงินในหมู่บ้าน)
แต่ก็ดูเหมือนเราเองจะเกร็ง ๆ  เกรง ๆ อยู่เหมือนกัน ว่าทำแล้วไม่ค่อยเหมาะค่อยควร
เกรงว่า "เงิน" จะไปทำลายคุณค่าบางอย่างในชุมชน
ยากที่จะหาความพอดีระหว่างคำว่า มากไป หรือ น้อยไป

แต่กระนั้นก็ยังทำอยู่เนือง ๆ
เพราะคิดว่าไม่ได้มากมายอะไร และบางสถานการณ์ก็กลับจะได้ช่วยเหลือชาวบ้าน

"สมบัติบ้า" ที่เคยมีคนบ่นว่า จึงมีอยู่เต็มบ้าน
ผ้าถุงเอย  ผ้าห่มเอย  ย่ามเอย  กระบุง ตะกร้า  หม้อไห
และแม้แต่ปิ่นปักผมก็ยังสามารถซื้อสด ๆ โดยดึงออกจากมวยผมของแม่เฒ่าได้

ร้ายจริง ๆ !

ตอนนั้น อะไร ๆ ที่เป็นของชาวบ้าน เห็นสวยเห็นงามกันไปหมด  น่าแปลกแท้ ๆ

และด้วยความที่เป็นก๊วนเดียวกัน  ชอบอะไรคล้าย ๆ กัน
รสนิยมถึงกันว่างั้นเถอะ
บางครั้งจึงเกิดพฤติกรรมน่าชังขึ้นในหมู่พวก
นั่นคือ - แย่งกันซื้อ

อยากให้เห็นภาพเวลาแม่คุณทั้งหลายพากันกระโดดผลุงขึ้นบันไดกระท่อมหลังหนึ่ง
เพียงเพราะหลานชายของแม่เฒ่ามาส่งข่าวว่า
"ครู ๆ  แม่เฒ่าให้มาถามว่าจะซื้อผ้ามั้ย"

บันไดกระท่อมแทบพังเลยทีเดียว

ผ้าซิ่นทอลายน้ำไหลของชาวกะเหรี่ยง
ที่ยังย้อมสีแดงฝาดของเปลือกไม้นั้น ยังมีมนต์เสน่ห์ไม่เสื่อมคลาย
สนนราคาก็ถูกแสนถูก สำหรับคนเมืองอย่างเรา

ฉันได้เสื้อแม่เฒ่ากะเหรี่ยง จากแม่ฮ่องสอน
เป็นเสื้อผ้าฝ้ายทอมือ ย้อมคราม ปักลูกเดือยทั้งตัว สวยสุดใจ
แม้จะมีรูโหว่นิดหน่อย เพราะเป็นเสื้อเก่าของแม่เฒ่า

ไม่ได้ไปถามซื้อ  นั่งอยู่ในบ้านพักดี ๆ แม่เฒ่าก็เดินเข้ามาบอกขายให้
แม่เฒ่าม้วนเสื้อเป็นท่อนกลม ๆ ยื่นมาตรงหน้า
พูดภาษากันไม่รู้เรื่อง  แต่สื่อความกันเข้าใจ
ทำไม้ทำมือ เดี๋ยวเดียวก็รู้เรื่อง

อีกครั้งหนึ่ง ที่ฉันได้กางเกงปักของเย้ามาครอบครองด้วยความบังเอิญ
ตอนนั้นอยู่ที่บ้านเย้า  แม่จัน เชียงราย
แม่เฒ่าคนหนึ่ง ขอร้องให้ช่วยซื้อกางเกง (ใช้แล้ว) ของเธอ
เธอกำลังต้องการเงิน เพื่อจะลงไปหาหมอในอำเภอ

ฉันจ่ายเงินค่ากางเกง 500 บาท ตามที่เธอเรียกด้วยความเต็มใจ
งานฝีมือ ปักมือกันทั้งตัวอย่างนี้ ราคาตามตลาดในเมือง
ขายกันเป็นพันหรือกว่านั้น






เพื่อนเราบางคนเป็นนักสะสมย่าม  เขามีย่ามนับร้อยใบ
(หากนับรวมที่สะสมมาแต่ต้น)
แต่เหลือจริง ๆ ไม่กี่ใบหรอก เพราะแกชอบแจกจ่ายประสาคนมีน้ำใจ




พวกเราก็อย่างนี้แหละ  ทำท่างกแย่งชิงของกันไปอย่างนั้นเอง
พอได้มาแล้วก็เอามาอวด  มาชื่นชมกัน
ใครพูดถูกใจก็ยกให้เขาไปดื้อ ๆ  บางทีให้จนตัวเองแทบไม่มีเหลือ
เสียแรงที่อุตส่าห์แย่งชิงกันมาแทบแข้งขาหัก

คราวหนึ่ง คณะเราขึ้นไปจัดประชุมที่ดอยแม่สวรรค์ อำเภอแม่สะเรียง แม่ฮ่องสอน
เพื่อให้ผู้ร่วมประชุม ซึ่งส่วนใหญ่มาจากภาคกลาง ได้พักผ่อนคลายเครียด
เราจึงจัดให้คณะได้ไปเที่ยวชมตลาดแม่สะเรียงกันช่วงหนึ่ง

พวกเราเจ้าของงานก็แยก ๆ กันไปตามกลุ่มวิทยากร

จังหวัดแม่ฮ่องสอนมีประชากรเป็นชาวเขาเสียส่วนใหญ่
ตามตลาด ถนนหนทางจึงเต็มไปด้วยชาวกะเหรี่ยง  ชาวลัวะ และไทยใหญ่

ผู้หญิงกะเหรี่ยง ผู้หญิงลัวะส่วนใหญ่ จะชอบใส่กำไลมือจนเต็มแขน
เรียกว่าตั้งแต่ข้อมือเกือบถึงข้อศอก ทั้งสองข้างเลยทีเดียว

เพื่อนเราคนหนึ่ง คงไปถูกใจกำไลเงินของหญิงลัวะคนหนึ่งเข้า
เธอคงไม่ได้คิดจะซื้อ  คงหมายแค่เข้าไปชื่นชม

ทีแรกเธอคงจะเดินเข้าไปเพียงคนเดียว
แต่ตามวิสัยคนไทยเลือดสุพรรณ ไปไหนไปกัน
คนอื่น ๆ ที่เดินตามๆ กันมาใกล้ๆ จึงอดไม่ได้ที่จะแวะเข้ามารุมดูด้วย
จึงดูเหมือนฝูงชน กำลังกลุ้มรุมทำอะไรกันสักอย่างกับหญิงลัวะผู้น่าสงสาร

ตอนที่ฉันเดินเข้าไปสมทบ
ฝูงชนกำลังจับมือถือแขนหญิงลัวะ
พิศดูกำไลที่ข้อแขนสองข้างของเธอด้วยความชื่นชม

แม้รูปลักษณ์ของพวกเราจะไม่เหมือนพวกโจรห้าร้อย
แต่ก็ทำให้เธอตื่นตระหนก เสียขวัญอยู่ไม่น้อย

เธอถอยกรูด  ยกแขนชี้ไปข้างหน้าทั้งสองข้าง
กระดกมือขึ้นเป็นเชิงห้าม  แล้วพูดซ้ำ ๆ ซาก ๆ ว่า
"บ่ขาย..ๆ ๆ.."

นั่นแหละฝูงชนผู้ลืมตัว ทำบาปทำเวรให้แก่ชาวบ้านโดยไม่ตั้งใจ
จึงค่อย ๆ รู้สึกตัว พร้อมใจกันหัวร่องอหาย  สลายกลุ่ม
ก่อนจะเตร็ดเตร่ออกไปหาเหยื่อรายต่อไป










วันอังคารที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2556

หัวหน้าเผ่า






ฉันเคยทำงานคลุกคลีกับชาวเขาทางภาคเหนืออยู่พักหนึ่ง
ก๊วนของเรา  6-7  คน  ส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง
เป็นก๊วนที่มีทั้งคนรัก คนชัง

คนที่รักมักจะเป็นพวกผู้ใหญ่  นาย ๆ ของเรา
เพราะเราเป็นพวกลุยไม่เลือก  ไม่เกี่ยงงานหนัก
ทำงานหามรุ่งหามค่ำ - ไม่เคยมีค่าโอที
และคงจะทำงานได้ดีพอสมควร  ผู้ใหญ่จึงให้ความเอื้อเอ็นดู

ส่วนคนที่ชัง มักเป็นพวกที่อยู่ในระดับใกล้ ๆ กัน และเป็นข้าราชการ
เพราะพวกเขาคิดว่า เราเป็นลูกจ้างแต่มักได้อภิสิทธิ์  นายรัก
ค่าจ้างก็มากกว่า เพราะกินเงินเดือนฝรั่ง  แถมยังอยู่นอกระเบียบกฎเกณฑ์
เพราะถือว่าไม่ได้เป็นข้าราชการ
เพียงแต่มาทำงานร่วมกันชั่วคราว

พวกเราชอบนุ่งกางเกงไปทำงาน
โดยเฉพาะกางเกงสำเร็จรูป เอวยางยืด ตัวละ 50 บาท
มีขายตามตลาดสด พักนั้นฮิตกันจริง ๆ

ถ้าเรียบร้อยหน่อยก็อาจเป็นยีนส์
วันไหนหน้าบางน้อยหน่อย  ก็ใส่เสื้อยืด  นุ่งเตี่ยวสะดอหม้อฮ่อม ขาสามส่วน
นั่งซดกาแฟกันในออฟฟิศแต่เช้า

คิดย้อนไปก็ซ่าและน่าชังไม่เบา
สมควรจะเป็นที่หมั่นไส้ของคนแถวนั้นอยู่หรอก

ชีวิตช่วงนั้นอาจจะถือว่ารุ่งสุดขีด
รุ่งในที่นี้ก็คือได้ใช้ศักยภาพในการทำงานเต็มที่
ทั้งงานจัดอบรม  สัมมนา  ทั้งลุยป่าฝ่าดง  ผจญภัย
วิ่งหนีโจรหัวซุกหัวซุนก็ผ่านมาแล้ว
รวมทั้งงานเขียน เรียบเรียง จัดทำสื่อการเรียน

เหตุผลที่ทำได้เต็มที่  ก็เพราะเรายังเป็นโสดกันทั้งกลุ่ม

"ผู้หญิงกลุ่มนี้ รับรองหาแฟนไม่ได้"
เพื่อนชายปากจัดที่อยู่ร่วมโครงการพูดแรงยิ่งกว่านี้อีก
แต่ฉันเรียบเรียงมาให้ดูน่าฟังขึ้นหน่อย

ในการทำงาน เวลาที่มีชีวิตชีวาที่สุดก็คือการออกสนาม
โครงการของเรามีรถโฟร์วีลสีขาวอยู่คันหนึ่ง

คนขับประจำคือนายบุญมี
หนุ่มน้อยขี้อาย ตัวผอมเก้งก้าง  พูดน้อย  ตาหวาน
เจอหน้าก็เอาแต่ยิ้มลูกเดียว

ครั้งแรกที่ขับรถเข้าไปในหมู่บ้าน
ชาวบ้านวิ่งหนีกันกระเจิดกระเจิง ไปแอบอยู่ตามสุมทุมพุ่มไม้
เพราะไม่คุ้นกับเจ้าตัวประหลาด ล้อใหญ่  เสียงดังน่าตื่นตระหนกคันนี้

นานไปจึงเริ่มคุ้นเคย
กล้าเข้ามาจับต้อง ลูบคลำด้วยความทึ่ง

นายบุญมีขับรถเก่ง  ไปได้ร้อยเอ็ดเจ็ดย่านน้ำ
ขึ้นดอยสูงชัน วกวนแค่ไหน บุญมีผ่านมาอย่างสบาย
แต่ก็ยังไม่วายถูกทดสอบ

ครั้งหนึ่ง ขากลับออกจากหมู่บ้านที่อำเภอฝาง  เชียงใหม่
รถเกิดติดหล่มอยู่หน้าหมู่บ้าน
พวกเราได้แต่นั่งภาวนา เอาใจช่วย

"บึ้น ๆ ๆ....บึ้น ๆ ๆ..."  เสียงเร่งเครื่องดังสนั่นก้องไปทั้งหุบเขา  ดังอยู่นั่นแล้ว
"บึ้น ๆ ๆ...."

ชาวบ้าน ลูกเด็กเล็กแดง วิ่งมายังที่เกิดเหตุกันทั้งหมู่บ้าน
ยืนเชียร์กันอยู่ทั้งสองฟากรถ  เต็มไปหมด

เวลาผ่านไปนานโขในความรู้สึกของเรา
คนเก่งอย่างบุญมีก็ควบเจ้าโฟร์วีลสีขาวขึ้นมาจากหล่มลึกนั้นจนได้

"เฮ..!!......"   เสียงกองเชียร์ชาวมูเซอร์ร้องตะโกน  ตบมือดังลั่น สะใจสุดขีด

แต่สิ่งที่ทำให้เราทั้งขำทั้งแปลกใจก็คือ
กองเชียร์ทั้งหลายต่างพากันยกมือไหว้นายบุญมีประหลก ๆ อย่างคนลืมตัว
ดั่งจะบอกว่า

"ยอดไปเลยนาย..  เยี่ยมไปเลยนาย"

นี่ถ้าเป็นในป่าอาฟริกา  นายบุญมีตัวผอม ตาหวานของเรา
คงถูกยึดตัว และได้รับการยัดเยียดให้เป็นหัวหน้าเผ่า
แถมยกลูกสาวให้อีกโขยงเป็นแน่





วันจันทร์ที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2556

3 บาท






ยายของลูกเป็นคนความจำดีเยี่ยม  โดยเฉพาะเรื่องราคาสินค้า
ไม่ว่าจะซื้อของอะไรมาจากไหน  และนานแค่ไหน  ยายจำราคาได้หมด

ตรงข้ามกับฉัน..

เวลาคุยกัน บางครั้งจึงมีปัญหาบ้าง
"ซื้อของไม่รู้จักจำราคา  ถามอะไรก็จำไม่ได้สักอย่าง"
"ไม่รู้ซีแม่ มันไม่อยากจำมั้ง  ไม่รู้จะจำไปทำไม"   แก้ตัวไปน้ำขุ่น ๆ แบบนี้

แล้วก็ไม่รู้ว่าคนแก่บ้านอื่นเหมือนคนแก่บ้านนี้หรือเปล่า
เวลาที่เราซื้อของที่มีราคาหน่อยเข้าบ้าน  ก็มักจะต้องผิดศีลข้อ 4 อยู่เสมอ
บอกราคาหารสอง  หรือกว่านั้น - เพื่อให้คนแก่สบายใจ

พักที่ฉันบ้าซื้อต้นไม้  ไม้บางต้นราคาแพงอย่างไม่น่าเชื่อ
แต่ก็เลือกซื้อเท่าที่พอสมควรกับฐานะ
ต้นไหนเป็นพันเป็นหมื่นก็ไปไกล ๆ ก่อน

วันหนึ่ง ฉันได้ต้นอโศกสปันมาจากสวนคุณป้าขายต้นไม้  คนคุ้นเคย
เป็นไม้หายากพอควร  ที่ได้มาเป็นกิ่งตอน ยังอยู่ในถุงดำ
ซื้อมาในราคา 300 บาท

รู้แล้วแน่ ๆ ว่ายายต้องถาม
ฉันไม่อยากพูดโกหก  จึงยกนิ้วชูขึ้น 3 นิ้ว

"30 บาท"  ยายพยักหน้าหงึกหงักแบบรับรู้

ฉันไม่ตอบรับหรือปฏิเสธ  ทำหูทวนลม
แกล้งหยิบโน่นจับนี่  รอดตัวไปอีกคราว

ของกินบางอย่างก็เหมือนกัน
อยากให้คนแก่กินของดี ๆ อร่อยลิ้น จึงซื้อมาให้
ถ้าบอกราคากันตรง ๆ นอกจากอาจจะถูกดุด่าแล้ว
แกอาจจะพานไม่ยอมกินไปอีกด้วย

วันหนึ่ง  ขากลับจากเชียงใหม่
สองข้างทางถนนหลวงมีแม่ค้าตั้งแผงขายผลไม้ตามฤดูกาล

เราแวะซื้อเมลอน ที่นิยมเรียกว่าแคนตาลูป
กะฝากทั้งย่าและยาย

"หวานเจี๊ยบเลยจ้ะ  สามลูกร้อย"  แม่ค้าโฆษณาสรรพคุณ
แคนตาลูป-แตงญี่ปุ่น  ที่บางพันธุ์ มีกลิ่นและรสละม้ายแตงไทยของเรา
บางพันธุ์ที่อร่อยมาก ๆ ลูกละเป็นร้อยก็มี

ผ่านบ้านย่าก่อนถึงบ้านเรา  จึงแวะเอาแตงญี่ปุ่นไปฝาก
"ลูกเท่าไรนี่"   ย่าถาม  มาอีกคนแล้ว แนวเดียวกันเลย
คนถูกถามนิ่งไปอึดใจ

"3 บาท"
คราวนี้ไม่ใช่ฉันที่เป็นคนผิดศีล  แต่เป็นลูกชายของย่า

"แพงนะ   ลูกแค่นี้ตั้งสามบาท"   ย่าบ่นงึมงำ
เพราะแตงไทยบ้านเราลูกเบ้อเร่อ  ก็ยังแค่ 2-3 บาท
แถวบ้านแจกกันฟรี ๆ ก็มี   กินทิ้งกินขว้างก็ยังไม่หมดลูก
แตงญี่ปุ่นลูกกระจี๊ดเดียว ตั้ง 3 บาท

"ไปแล้วนะแม่"  ลูกชายรีบบอกลาซะดื้อ ๆ

นี่ยังไม่รู้ว่าเมื่อถึงบ้าน ยายที่รออยู่จะพูดว่ายังไงอีก



วันเสาร์ที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2556

1 บาท




พูดถึงเงิน 1 บาทเดี๋ยวนี้แทบไม่มีความหมาย
ให้ลูกไปโรงเรียน มันต้องลงไปนอนดิ้นที่พื้นแน่

ให้ขอทาน ยังถูกขอทานมองหน้า จนคนให้ต้องหลบตา

กลัวโดนด่าหรือโดนตบแบบเรื่องเล่าสนุก ๆ เกี่ยวกับโจรปล้นทอง
ที่กลับมาตบหน้าคนถูกปล้น  โทษฐานที่ใส่ทองเก๊  จนโจรต้องเหนื่อยเปล่า

แต่เมื่อหลายปีก่อน  ค่าของเงิน 1 บาทต้องมากกว่าเดี๋ยวนี้แน่
แต่ก็ไม่ได้มากไปกว่าราคาน้ำแข็งเปล่าในร้านก๋วยเตี๋ยว สักแก้วหรือ 2 แก้ว

ฉันกับพี่พร - พี่สาวร่วมโลก ร่วมอุดมการณ์
สมัยที่เรายังทำงานเกี่ยวข้องกับชาวเขา  ยังขับรถไม่เป็นทั้งคู่
และยังอาศัยอยู่ในบ้านพักของหน่วยงานที่เราทำงานอยู่

จะไปไหนที่ไม่ไกลมาก ก็มักอาศัยยืมจักรยานของคนแถวนั้นขี่ไป

วันนั้น รถจักรยาน (คนทางเหนือเรียกรถถีบ) ที่ยืมเขามาถีบเกิดยางรั่ว  ด้วยสาเหตุอันใดไม่ทราบ
ถามไถ่คนละแวกนั้นถึงร้านซ่อมรถ ก็มีผู้ใจดีอธิบายเส้นทางให้เรา

ในที่สุดเราก็จูงรถไปหาร้านซ่อมนั้นจนพบ
แต่ไม่ได้เป็นร้านอย่างที่เรานึกภาพอยู่ในใจหรอก  เพราะต้องเข้าซอยไปนิดหน่อย
ที่คิดว่าจะเป็นร้านก็กลับเป็นใต้ถุนบ้านของบ้านไม้แบบโบราณ ใต้ถุนสูง หลังย่อม ๆ

ตามเสาไม้ ใต้ถุนบ้าน  มียางรถทั้งยางนอก ยางใน ทั้งใหม่และเก่า
ห้อยตะปูอยู่ระโยงระยาง  แบบที่เห็นตามร้านซ่อมทั่ว ๆ ไป
ที่พื้นมีกล่องอุปกรณ์วางระเกะระกะข้างที่สูบลม   กาละมังใส่น้ำ

ช่างซ่อมเป็นชายสูงอายุ คงเป็นเจ้าของบ้าน
บอกให้เรานั่งรอที่แคร่ไม้ไผ่ด้านข้าง หลังจากเราบอกอาการของรถ

ในระหว่างรอช่างปะยาง  เราสองคนนั่งคุยกันด้วยเรื่องราวสัพเพเหระ
น่าจะราวครึ่งชั่วโมง  รถถีบของเรา-ที่ยืมเขามา ก็ซ่อมเสร็จ

ฉันจำไม่ได้แล้วว่าได้ถามไถ่ลุงช่างซ่อม ถึงสาเหตุของการรั่ว
หรืออาการอื่น ๆ ของรถด้วยหรือเปล่า

แต่ที่จำได้แม่นยำมาจนถึงทุกวันนี้ก็คือ  ราคาค่าซ่อมรถในวันนั้นคือ 1 บาท !

เงิน 1 บาท ที่ฉันหรือพี่พรไม่รู้เป็นคนจ่ายไป ด้วยความรู้สึกที่อธิบายไม่ถูก
กึ่งปีติ  กึ่งขำ  กึ่งสงสาร

" 1 บาท !"  เราพากันหัวเราะเสียงดัง (ลับหลังลุง) เมื่อจูงรถมาถึงหน้าซอย
เป็นอาการหัวเราะแบบทึ่ง ๆ  คิดไม่ถึง  น่านับถือ  อธิบายไม่ถูก  อะไรประมาณนั้น

ฉันย้อนคิดถึงเรื่องนี้ ในวันที่ค่าเงินบาทลอยตัว
ข้าวของแพงวินาศสันตะโรอย่างน่าตกใจ
จนบางครั้งรู้สึกเหมือนว่าผู้คนพากันฉกฉวยโอกาส ซ้ำเติมกันและกัน
มีข้ออ้างซัดต่อกันเป็นทอด ๆ ที่จะขึ้นราคา  โดยไม่มีใครยอมลดราวาศอก
เป็นสังคมแบบ"ฟัน"  ที่คนอ่อนแอยากที่จะอยู่รอด

ยุคที่ยากจะหาร้านก๋วยเตี๋ยวที่ให้น้ำแข็งเปล่ากินฟรีอีกต่อไป
ร้านไหนให้น้ำเปล่ากินฟรี ก็จะรู้สึกเป็นบุญคุณอย่างยิ่งไปเสียแล้ว

เงิน 1 บาท
แม้ไม่อาจสรุปได้ว่าเกี่ยวข้องกับจิตใจคนในแต่ละยุคได้อย่างไร

แต่อย่างน้อยก็ทำให้ฉันหวนคิดถึงอดีตในมุมเล็ก ๆ ครั้งนั้นด้วยความสุข

วันอังคารที่ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2556

หลงป่า






มีพื้นที่หลายแห่ง
ที่ฉันและพรรคพวกคณะทำงานสำรวจโครงการชาวเขาเคยขึ้นไปสำรวจ
เพื่อหาพื้นที่ทดลองจัดการศึกษาให้ชุมชน
แล้วต่อมาไม่เลือกให้เป็นพื้นที่ทำงาน  ด้วยเหตุผลต่าง ๆ กันไป

ถึงกระนั้นก็ยังมีบางหมู่บ้าน  ที่แม้จะไม่ได้รับเลือก
แต่ก็ยังคงมีเสน่ห์อยู่ในใจเรา  จนต้องกลับไปเยี่ยมเยียนกันอีกครั้ง

หลายปีถัดมา  หลังการสำรวจคราวแรก
ฉันและเพื่อนผู้นิยมไพร 2-3 คน  จึงออกเดินทางกันอีกครั้งหนึ่ง

เราจะไปบ้านกะเหรี่ยง
(สมัยนั้น ยังไม่ได้ยินใครเรียกชาวกะเหรี่ยงว่า ปากะญอ หรือ ปกากะญอ เหมือนเดี๋ยวนี้)
บ้านที่เราจะไปคือหมู่บ้านทุ่งพร้าว  อยู่ในเขตอำเภอแม่สรวย จังหวัดเชียงราย

ทางเดินขึ้น ต้องใช้คำว่าหฤโหด
จะต้องเดินเท้ากันตั้งแต่หมู่บ้านริมถนนหลวง ที่เรียกว่าบ้านตีนดอย เลยทีเดียว

เดิน  เดิน  เดินและเดิน  จนเหมือนชีวิตนี้จะมีแต่การเดินเพียงอย่างเดียว

ด้วยวัยขณะนั้น   กำลังใจขณะนั้น เราจึงย่ำดอยกันมานักต่อนัก
โดยไม่เบื่อหน่ายหรือเข็ดหลาบ
แม้บางครั้งจะรู้สึกเหนื่อย จนแทบอยากจะขาดใจตายไปเสียให้รู้แล้วรู้รอด

หากเป็นเดี๋ยวนี้  วัยขณะนี้  กำลังใจขนาดนี้  ฉันรู้ว่าตัวเองไม่มีปัญญาแน่
แม้ในครั้งนั้นก็เถอะ ..ด้วยความที่เคยรู้รสชาติความโหดนั้นมาครั้งหนึ่งแล้ว
ก็ทำให้เรา "แหยง" อยู่ครามครัน
จนต้องว่าจ้างลูกหาบชาวอาข่า ให้ต่างของไปให้
พกแต่ขวดน้ำและของขบเคี้ยวเล็ก ๆ น้อย ๆ
กะว่าคราวนี้ได้เดินตัวปลิวล่ะ

หนุ่มอาข่ากับม้าคนละตัว
บรรทุกสัมภาระคือเป้ใส่เสื้อผ้า  ข้าวสารอาหารแห้ง-สด ทั้งหลาย  เดินนำหน้าเรา
แหงนคอไปเถอะ !
เพราะดอยลูกนี้จะต้องตะกายกันไปอีกนาน...

ฉันกับเซาะ -รัชนีพร  เพื่อนรุ่นน้องที่สนิทกันมาแต่ครั้งที่ทำกิจกรรมค่ายชาวเขาสมัยเรียน
เราสองสาวเดินไป คุยไป สารพันเรื่องราว

เพื่อนร่วมทางอีกคนเป็นหนุ่มน้อยที่อยู่ร่วมโครงการสำรวจตั้งแต่ครั้งแรก
เขาชื่อ "เสียงใหญ่"
ชื่ออย่างนี้รับรองว่าไม่ใช่ชื่อที่พ่อแม่ตั้ง
หากใครได้พูดคุยกับเขาก็จะเข้าใจที่มาของชื่อได้ทันที

เดินไปนานเท่าไรไม่รู้
ชมนกชมไม้และหยุดพักแก้เมื่อย กินน้ำกินขนมกันเป็นระยะ ๆ  จนกระทั่งบ่ายคล้อย
เสียงคุยค่อย ๆ แผ่วจาง อันเนื่องมาจากความเหน็ดเหนื่อยอ่อนล้า

เราผ่านหมู่บ้านห้วยป่าเคาะ  เป็นหมู่บ้านชาวอาข่าที่ฉันเคยมาตั้งค่ายกับเื่พื่อน ๆ
เป็นค่ายครั้งแรกในชีวิตนักศึกษา
ความหลังอันอบอุ่นและเป็นสุขของชีวิตกิจกรรม หวนมาให้รำลึกถึง

"อีกไม่ไกลแล้วล่ะ  มาถึงนี่ก็ถือว่า 80 เปอร์เซนต์แล้ว"
เราต่างมีกำลังใจ  กระปรี้กระเปร่าขึ้นมาอีกครั้ง

จากบ้านห้วยป่าเคาะ  จะมีทางเดินเท้าลัดเลาะไปตามไหล่เขา
ฉันจำได้ว่า  หลังจากเลาะเลียบเขาไปสักระยะหนึ่ง
จะมีทางเดิน ดิ่งลงไปถึงตีนเขา

แล้วเราก็จะเจอลำธารสายเล็ก ๆ  กว้างสัก 2-3 เมตร
เราต้องลุยลำธารนั้นไป

บ้านทุ่งพร้าวจะอยู่เรียงรายริมลำธารแห่งนั้นนั่นเอง

ตะวันเริ่มคล้อยต่ำ
เราเดินไปตามทางโดยไม่ทันได้สังเกตว่าลูกหาบของเราชักไกลห่างออกไปทุกที ๆ

เขาอาจจะรำคาญ
หรืออาจจะคิดว่า มาถึงนี่แล้ว  ยังไง ๆ ก็ไม่หลง

แต่ปรากฏว่าเราหลง !

หนุ่มน้อยคนเดียวในกลุ่ม  ตะโกนเรียกลูกหาบดังก้องป่า
เงียบ...  ไม่มีสัญญานตอบรับ
เสียงใหญ่แค่ไหนก็ช่วยไม่ได้
ทางเดินก็ชักวกวน  วังเวง..

ในที่สุด  เราตัดสินใจหันหลังกลับ  เดินย้อนทางเก่า
ในใจนึกภาวนา  ขอให้เจ้าป่าเจ้าเขา  เทวดาอารักษ์ คุ้มครองลูกด้วยเถิด
สาธุ...

อธิษฐานเสร็จ  ไม่น่าเชื่อว่าเหมือนดูหนังไทย
เราเจอชาวบ้านคนหนึ่ง  โผล่พรวดออกมาจากทางแยกข้างหน้านั่นเหมือนปาฏิหาริย์

เราหลงจริง ๆ  นั่นแหละ  ชาวบ้านชี้มือบอกทาง
โน่นแน่ะ   คนละทิศกับที่เดินมา

พอรู้ทางแน่แล้ว  คราวนี้ก็รีบจ้ำพรวด ๆ  เพราะกลัวจะมืดเสียก่อน
อากาศเริ่มเย็น  เสื้อผ้า อาหาร ไฟฉาย..ฝากไว้ในกำมือลูกหาบจนหมด

ทางเดินเป็นดังที่ฉันบอกไว้ว่าถ้าใกล้ถึง  เราจะดิ่งลงเขาลิ่ว ๆ
ถ้าติดเบรคไม่ทัน  ก็มีหวังเป็นนกปีกหักได้ง่าย ๆ

เมื่อก่อนเคยนึกค่อนขอดอยู่ในใจ ว่าพวกอีก้อหรืออาข่านี่พิลึก
ชอบอยู่ที่สูง  สูงอะไรกันนักหนา
ถ้าใครคิดจะไปบ้านอาข่าบอกไว้ก่อนเลยว่าเดินกันขาลาก

เขาว่า่คนอาข่าชอบอยู่ที่สูงเพราะกลัวผีน้ำ
น้ำไหลอยู่ตีนดอย  อาข่าจึงต้องพยายามหนีขึ้นไปให้ไกลที่สุด
แต่บนยอดดอย อากาศสดชื่นบริสุทธิ์  เย็นสบายกว่าข้างล่าง
วัฒนธรรมแต่ละกลุ่มชน ต่างก็มีเหตุปัจจัย  มีเหตุผลที่แตกต่างกันออกไป

เราพากันลิ่วลงดอย  มายืนหอบแฮ่กเป็นหมาหอบแดดอยู่ข้างล่าง
อีกพักเดียวก็ถึงลำธาร

แต่สิ่งที่ไม่คาดคิดก็เกิดขึ้นอีกจนได้...

ลำธารที่ฉันจำได้ว่าเป็นสายน้ำสายเล็ก ๆ ที่เคยลุยผ่าน
กว้างอย่างมากก็ไม่เกิน 4 เมตร
ไฉนวันนี้จึงกลายเป็นแม่น้ำสายใหญ่
น้ำขุ่นข้นสีแดงโคลน  ไหลเชี่ยวกรากเหมือนคนโกรธเกรี้ยว

อย่างเรา ๆ นี่ไม่มีทางจะข้ามไปได้เลย..

ฉันยืนงงเป็นไก่ตาแตก
แล้วพ่อลูกหาบตัวดี 2 หน่อนั่น ไปถึงไหน ๆ แล้วก็ไม่รู้

"เอาไงดี ?"   คำถามนี้อึงอลอยู่ในใจ
ใกล้ค่ำเข้าไปทุกที ...
เราสามคนตกอยู่ในภาวะวิกฤตอีกครั้ง

แต่แล้วปาฏิหาริย์แบบหนังไทยก็เกิดขึ้นกับเราอีกจนได้...

ฉันสังเกตเห็นกลุ่มควันไฟสีเทาอ่อน  อ้อยอิ่งเป็นลำขึ้นมาจากพงไม้ด้านหลัง
ห่างจากจุดที่เรายืนอยู่ราว   200  เมตร

"เฮ้ย !  ควันไฟ  ต้องมีคนอยู่"  เราทั้งสามไม่รอช้า
เดินดุ่มไปตามทิศทางที่เห็นกลุ่มควัน  ใกล้เข้าไป ๆ

หากเป็นยามปกติ ฉัีนก็อยากจะบันทึกภาพนั้นไว้...

ภาพที่เราเห็นข้างหน้าก็คือ  กระท่อมไม้ไผ่หลังคามุงจาก หลังยาว
ลักษณะเป็นโรงเรือนมากกว่าจะเป็นบ้านคนทั่วไป
ที่หน้ากระท่อม  มีชายฉกรรจ์ไม่ต่ำกว่า  6-7  นาย
ยืนเรียงแถวหน้ากระดาน  แต่ละคนหน้าเข้ม
เพ่งมองมายังผู้พเนจรร่อนเร่ทั้งสามเป็นจุดเดียว

เสียงใหญ่นะเสียงใหญ่
ฉันรู้สึกขอบคุณเธอในนาทีนั้น
ถึงเธอจะช่วยอะไรไม่ได้ หากมีอะไรเกิดขึ้น
แต่เธอก็ยังเป็นผู้ชาย ที่ทำให้ฉันรู้สึกอุ่นใจมากกว่าที่จะมีฉันกับยายเซาะเพียงสองคน

คำถามที่จู่โจมเข้ามาในนาทีนั้นก็คือ  พวกเขาเป็นใคร?
คนดีหรือคนร้าย ?
แต่จะดีหรือร้าย ตอนนั้นเราก็จนตรอกแล้ว..

ในที่สุดพระเจ้าก็ทดสอบเราจนเหนื่อย

เราได้พบและรู้จักคุณวิทยา  ศรีวิไล  หัวหน้าหน่วยรักษาต้นน้ำในขณะนั้น
ผู้ซึ่งพาลูกน้อง - ชายฉกรรจ์ทั้งหมดนั่นแหละ
มาปลูกสร้างที่ทำการหน่วย เพื่อปฏิบัติภารกิจรักษาป่าต้นน้ำอยู่ตรงนั้น
ได้เพียง 2 วัน !!!

"น้ำกำลังขึ้นครับ"
คุณวิทยาอธิบายปรากฏการณ์ที่ทำให้เรางงเป็นไก่ตาแตกเมื่อครู่

"ลูกหาบสองคนนั่นคงข้ามฝั่งไปก่อนที่น้ำจะขึ้น  พรุ่งนี้เช้าจึงจะข้ามได้ครับ"

ความลับทั้งหมดถูกเปิดเผย

วันนั้นถือเป็นวันที่โชคดีที่สุดในชีวิตของเราก็ว่าได้
หลังจากกลายเป็นคนสิ้นเนื้อประดาตัว   ขวัญกระเจิง
หิวโหยและอ่อนล้ามาสุดกำลัง..

รอดตาย...  ได้รับการแบ่งปันอาหาร
ได้ที่พักพิงอย่างดีท่ามกลางอากาศเหน็บหนาว
เต็มตื้นกับน้ำจิตน้ำใจที่ได้มายามทุกข์ยาก

พระคุณนี้จะไม่มีวันลืมไปชั่วชีวิต...


วันอาทิตย์ที่ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2556

ลูกชิ้นปิ้ง






ในช่วงชีวิตของเราแต่ละคน  คงเคยมีบุคคลนิรนามผ่านเข้ามาและผ่านออกไป
โดยที่เรายังไม่ทันได้มีโอกาสรู้จักแม้แต่ชื่อของเขา
หรือแม้จะเห็นหน้าค่าตา  แต่เหตุการณ์ชุลมุนชุลเก  ก็ทำให้จำกันไม่ได้

เหลือไว้ก็แต่ความทรงจำที่ดีงามและคำขอบคุณ
หรือบางคนโชคร้าย อาจจะตรงกันข้าม

เนิ่นนานปีมาแล้ว...สมัยที่ฉันยังเป็นนิสิตปี 2
เป็นปีที่น้ำท่วมกรุงเทพฯครั้งใหญ่  น่าจะอยู่ในราวเดือนตุลาคม
ช่วงเวลาใกล้สอบกลางปี

วันนั้นน้ำท่วมทั่วจุฬาฯ  เป็นเวลาใกล้เที่ยง
ฉันเดินท่อม ๆ เข้าไปในคณะคนเดียว
เพิ่งมาจากไหน  จะไปไหน ฉันจำอะไรไม่ได้สักอย่าง
รู้แต่ว่ามีฝนโปรยปรายบางเบา

และเนื่องจากน้ำท่วม กลัวรองเท้าพัง
ฉันจึงถอดรองเท้าส้นเตี้ยสีครีมขึ้นมาหิ้วไว้ในมือ
แขนอีกข้างโอบหนังสืออยู่ที่อก

เดินลุยน้ำผ่านสามแยกปากหมา
(สามแยกหน้าคณะที่พวกนิสิตชายชอบไปนั่ง รอแซวคนเดินผ่้านไปมาที่เป็นผู้หญิง-สวย)

พลัน ! ฉันก็สะดุ้งเฮือกสุดตัว

มีอะไรบางอย่าง ทิ่มแทงเข้าไปใต้ฝ่าเท้าข้างซ้ายอย่างแรง
เจ็บปวดสุดชีวิต  ฉันยกเท้าข้างนั้นขึ้นจากน้ำ

มันคือไม้เสียบลูกชิ้นที่ทุกคนรู้จักกันดี
ไม้เสียบลูกชิ้นอันนั้น แทงทะแยงเข้าไปใต้ฝ่าเท้าที่ย่ำน้ำมานาน จนเนื้อหนังอ่อนนุ่ม
ไม่เป็นอุปสรรคต่อการแทงทะลุ

ฉันรู้สึกตัวชา  สมองมึนเพราะตกอยู่ในภาวะวิกฤติ
เหลียวซ้ายแลขวา  ไม่มีใครเลย  ฝนก็กำลังตกปรอย ๆ
เลือดค่อย ๆ ไหลซึมออกจากแผลมาที่ไม้ และบริเวณฝ่าเท้า

ฉันตัดสินใจอย่างรวดเร็ว
หมายจะกระชากไม้ลูกชิ้นออกจากฝ่าเท้าตัวเอง

อนิจจา..ไม้ลูกชิ้นไม่ยอมออก  กลับหักคาอยู่ในนั้น !

หน้าตาฉันคงจะขาวซีด  และใจก็คงยิ่งหดเล็กเหลือนิดเดียว

โชคยังช่วย.. มีพี่ปี 4 สองสามคน  ยืนคุยกันที่ระเบียงตึกชั้นสาม
พี่ ๆ มองลงมา คงจะเห็นความผิดปกติของฉัน  เขาพากันวิ่งลงมาหา

พอเห็นหน้าพี่  ฉันซึ่งปกติไม่เคยร้องไห้ให้ใครเห็น
กลับปล่อยโฮออกมากลางสายฝน  พี่คนหนึ่งปลอบใจว่า
"ไม่ต้องร้องค่ะ  ไม่ต้องร้อง"  แล้วใครอีกคนก็บอกว่า
"ไปโรงพยาบาลกัน"

แต่ไม่มีใครมีรถสักคน
พี่ ๆ จึงพยายามชะเง้อชะแง้ว่าจะมีรถของใคร "หลง" เข้ามาในคณะบ้าง

ในที่สุดก็มีรถคันหนึ่ง  จำได้ว่าเป็นรถจี๊ป คล้ายจี๊ปทหาร
พี่ ๆ ช่วยกันโบกให้พาฉันไปส่งโรงพยาบาลจุฬาฯ ซึ่งอยู่ใกล้ที่สุด

ฉันต้องนั่งรออยู่ในรถเข็นนานเกือบชั่วโมง เพราะเป็นเวลาพักเที่ยงพอดี

หมอผ่าเอาส่วนของไม้ลูกชิ้นที่ค้างอยู่ออกมา  ยาวเกือบ 3 นิ้ว
คิดถึงเมื่อไรก็ขนหัวลุก  พลอยหวาดกลัวลูกชิ้นปิ้งไปอีกยาวนาน

หลังจากวันนั้นฉันต้องนั่งแท็กซี่ไปสอบโดยตลอด
เพื่อน ๆ ในกลุ่ม  แรกรู้ข่าวพากันหัวเราะขำ

"อะไรวะ   โดนไม้ลูกชิ้นเสียบ..."  เสียงหัวเราะดังอยู่ในโทรศัพท์
แต่พอทุกคนเห็นสภาพฉันก็ขำไม่ออก  เพราะเท้าบวมจนเดินแทบไม่ได้

ฉันเล่าเรื่องนี้ขึ้นมา  ด้วยรู้สึกว่ามีหนี้ที่ยังไม่ได้ชำระ
เป็นหนี้ต่อพี่ ๆ นิรนาม ที่คณะบัญชี สองสามคนนั้น
กับทั้งพี่คนขับรถจี๊ปคันเขียวที่กรุณาพาฉันไปส่งที่โรงพยาบาล

ขอให้กุศลกรรม ที่เกิดจากความเมตตากรุณาของพี่ ๆ ในวันนั้น
ช่วยให้พี่ได้พบแต่สิ่งดี ๆ ในชีวิตตลอดไปด้วยเถิด

แม้ฉันจะไม่รู้จักพี่ และจำหน้าพี่ไม่ได้สักคน
แต่พี่ ๆ ก็อบอุ่นอยู่ในใจฉันตลอดมา

"..เราจะมองเห็นแจ่มชัดด้วยหัวใจ
สิ่งสำคัญไม่อาจมองเห็นได้ด้วยดวงตา.."