วันจันทร์ที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2556

คิดถึงป้า









เส้นทางเดินรถสายเชียงใหม่ - แม่ฮ่องสอน  ต้องผ่านอำเภอจอมทอง และอำเภอฮอด
ฉันคุ้นเคยกับเส้นทางสายนั้นพอควร

ก่อนถึงอำเภอฮอด  เลยอำเภอจอมทองไปสักสิบกว่ากิโลเมตร ก็จะถึงบ้านป้า

ฉันไม่เคยรู้จักป้ามาก่อน  ทั้งที่คนอื่นจำนวนไม่น้อยคงรู้จักป้ากันมานานแล้ว
ครั้งแรกที่ฉันลองแวะ ก็เพียงเพราะติดใจชื่อบ้านของป้า
ติดใจต้นไผ่ที่เรียงราย ร่มครึ้ม

ฉันรู้ว่าป้าทอผ้าก็จากป้ายปากทาง
แวะดูก็ตามประสาคนชอบผ้าฝ้ายคนหนึ่งเท่านั้นเอง

แวบแรกที่เห็นผ้าทอของป้า ฉันถึงกับตะลึง
บอกได้เลยว่า  ผ้าของป้าไม่มีผ้าทอที่ใดเหมือน
ตรงไหนและอย่างไรฉันก็อธิบายไม่ถูก  รู้แต่ว่าผ้าป้างามกระทบใจ

มีสิ่งของไม่กี่อย่าง และคนไม่กี่คนหรอกที่จะทำให้เรารู้สึกว่าใจถูกกระทบได้

มีอะไรบางอย่างที่รู้สึกเหมือนงานศิลปะแถบลาตินอเมริกา
ที่เคยเห็นในหนังสือ หรือในภาพ และก็มีบางส่วนที่เหมือนมาจากภาพเขียนโบราณ

จากวันแรกวันนั้น  ฉันจึงได้รู้ว่า ที่แท้ป้าคือศิลปิน
หลังจากนั้นไม่นานป้าก็ได้รับการยกย่องให้เป็นศิลปินแห่งชาติ
ป้าแสงดา  บันสิทธิ์

นับจากวันแรกวันนั้น  ก๊วนของเรา 4-5 คน ก็พากันไปให้ป้าเห็นหน้าบ่อย ๆ
ถึงจะเบี้ยน้อยหอยน้อย  แต่ก็ใจใหญ่
พากันขนซื้อผ้ากลับมาทุกครั้งอย่างยั้งไม่อยู่  ขอยืมเงินกันวุ่นวาย

จังหวะนั้น ฉันได้ทุนก้อนเล็ก ๆ จากหน่วยงานแห่งหนึ่ง มาเก็บข้อมูลเรื่องราวของป้า
เงื่อนไขที่จะได้ไปหาป้าบ่อย ๆ จึงมีมากขึ้น

บ้านไม้สองชั้นหลังใหญ่ของป้า ร่มรื่น  น่าอยู่
ทัศนียภาพตรงระเบียงริมแม่น้ำปิงนั้นเหมือนแดนสวรรค์

"เดิมบ้านหลังนี้คือบ้านของเจ้าแก้วนวรัฐ  เจ้าผู้ครองนครองค์สุดท้ายของเชียงใหม่
เป็นบ้านพักตากอากาศของท่าน"   ป้าบอก

ป้าขอซื้อจากเจ้าในราคาสองหมื่นบาท
รวมกับที่ดินด้านหน้าราว 200 ไร่  (ราคาเมื่อเกือบร้อยปีก่อน)

นับว่าป้าและครอบครัวของป้าเอ็นดูพวกเรามากโขอยู่
เราจึงมีโอกาสบุกครัว กินน้ำพริก กินแกงฝีมือป้า
"กินจนลืมตาย"  ต้องพูดอย่างนี้
ข้าวนึ่งร้อน ๆ กินกับน้ำพริกตาแดง  ผักลวก
ผักโขมบ้านต้นเล็ก ๆ รากสีแดง  ดอกงิ้วป่ารสฝาดเฝื่อน เข้ากับน้ำพริกได้รสชาติที่ลงตัว
อร่อยไม่รู้ลืม..

ป้าเคยให้ย่ามพวกเราคนละใบ  เป็นผ้าย้อมคราม ลายน้ำไหล
บางคนประจบป้าเก่ง  ได้ตุงแขวนฝีมือป้าไปคนเดียว เพราะมีเหลือเพียงชิ้นเดียว
บางครั้งป้าก็ให้ผ้าคนละชิ้น  เป็นฝ้ายตุ่นสีธรรมชาติที่หายากแล้ว

ตกกลางคืน  บางครั้งพวกเราก็นอนที่เรือนหลังเล็ก ซึ่งอยู่ด้านหน้าเรือนหลังใหญ่
แต่บางครั้งป้าก็เมตตา ให้เรามากางมุ้งนอนหน้าห้องของป้าที่เรือนหลังใหญ่
"จะได้คุยกันดึก ๆ "  ป้าบอก

ป้าถอดมวยผมสีเทาเงิน ที่ยาวเกือบถึงกลางหลัง  สางผมอย่างบรรจง
เล่าเรื่องราวชีวิตของป้า  เหมือนทุกสิ่งแจ่มจ้าอยู่ในความทรงจำ...

ขุมความรู้เรื่องผ้า  เรื่องสี  เรื่องต้นไม้  ที่อยู่ในตัวป้า
ได้ถูกส่งผ่านออกมาเป็นผ้างาม  ผืนแล้วผืนเล่า
เป็นตำนานเรื่องราวที่เล่าขานกันไม่รู้จบ
เป็นขุมทรัพย์ของแผ่นดินที่น่าภาคภูมิใจ

ทุกครั้งที่หยิบภาพของป้าขึ้นมาดู
ฉันมักจะนึกเห็นภาพเด็กหญิงตัวเล็ก ๆ คนหนึ่ง
เป็นเด็กคนเดียวในหมู่บ้าน ที่ไม่ยอมวิ่งไปรับของแจก
ด้วยความคิด  ความเชื่อมั่นที่เด็ดเดี่ยวของตัวเอง
ว่าเรามีมือ มีตีน ทำงานได้  ทำไมจะต้องไปรอรับของแจก

แม้ว่าคณะที่ล่องเรือผ่านและแวะแจกของให้ชาวบ้านในครั้งนั้น
จะเป็นขบวนเรือของเจ้าดารารัศมี  พระชายาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ตาม

จากเด็กหญิงผู้เด็ดเดี่ยวในวันนั้น
เธอได้เติบโตขึ้น ผ่านร้อนผ่านหนาว  ผ่านชีวิตลำเค็ญ
สร้างสรรค์งานศิลปะบนผืนผ้ามาอย่างต่อเนื่อง ยาวนาน
เป็นทั้งความงดงามและศักดิ์ศรีของแผ่นดินเกิด

ป้าแสงดาจากเราไปเมื่อเดือนมกราคม  พุทธศักราช 2536
20 ปีผ่านไป...
ดอกงิ้วป่าร่วงหล่นอย่างเหงาเศร้าท่ามกลางลมหนาว
แต่เรื่องราวของป้ายังมีชีวิต  มีพลัง และงดงามเสมอ
ในบ้านไม้หลังใหญ่   ริมฝั่งแม่น้ำปิง
ที่ชื่อ  "บ้านไร่ไผ่งาม"














ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น