วันพุธที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2556

หลอกชบา





















อาจารย์นครถือเป็นญาติผู้ใหญ่ที่ครอบครัวเรารู้จักมานาน
เมื่อมาที่บ้านอาจารย์มักมีของดี ๆ มาฝาก
ถ้าไม่ใช่หนังสือ (ที่มักไม่ค่อยเห็นวางขายทั่วไป)
ก็จะเป็นต้นไม้แปลก ๆ  แต่ละต้นล้วนแต่ไม่เคยได้ยินชื่อ
หรือรู้จักมาก่อน

อาทิเช่น ประดู่ม่วง  ครั้งนั้นอาจารย์ไม่ได้มาเอง แต่ฝากคนอื่นมาให้ 
มีจดหมายน้อยแนบมา ความว่า

"ฝากต้นประดู่สีม่วงมาให้  งามทั้งดอก งามทั้งทรวดทรง อีกสัก 10 ปีคงเห็นดอก"
ต้นประดู่ม่วงต้นนั้นเล็กกระจี๊ดเดียว อยู่ในถุงดำใบเล็กจิ๋ว

เวลาผ่านไปนับสิบปี... 
ประดู่จิ๋วต้นนั้น  เดี๋ยวนี้สูงใหญ่ แข็งแรง  
ออกดอกสีม่วงแดงเป็นช่อเล็ก ๆ  ให้เชยชมมาหลายปีแล้ว

นอกจากนั้นยังมีต้น "คำมอกหลวง"
ไปค้นดูในหนังสือจึงรู้ว่าเป็นไม้ป่า ตระกูลพุด ดอกสีขาว
แต่เมื่อใกล้ร่วงโรยรา ดอกจะกลายเป็นสีเหลืองเข้ม

ต้นโอ๊ค  มาเป็นคู่  ตอนที่อาจารย์เอามาให้ก็ดูไม่ค่อยสดชื่นเท่าไร
ฉันเปลี่ยนดิน  เอาเธอลงกระถางไว้ก่อน

เธออยู่กับเรานานเป็นปีเหมือนกัน ก่อนจะจากไปโดยไม่รู้สาเหตุ
มาพร้อมกันและไปพร้อมกัน

ที่นี่คงไม่ใช่ถิ่นของเธอ
เธอคงพยายามปรับตัวแล้ว  แต่ไม่สำเร็จ
หรือเป็นฝ่ายเราเองที่ไม่เข้าใจเธอ ?

ต้นไม้บางต้นที่ฉันไม่รู้จักชื่อ  ก็ได้รู้จากอาจารย์นี่แหละ

มีอยู่ต้นหนึ่ง รูปใบยาว ๆ  ลักษณะคล้ายต้นกวนอิม
หรือไม้ตระกูลวาสนา  แต่ใบยาวเรียวและเล็กกว่า
เพียงได้เห็น  อาจารย์ก็ร้อง อ๋อ...ลากเสียงยาว

"ขี้เปี้ยลุกฟ้อน"
เราฟังชื่อพร้อมคำอธิบายความหมายแล้วก็พากันหัวเราะ

ขี้เปี้ย - เป็นคำพื้นเมืองทางเหนือ  หมายถึงคนง่อยเปลี้ยเสียขา
ต้นนี้คงเป็นสมุนไพร ประเภทบำรุงกำลัง
ขนาดว่าคนเป็นเปลี้ยเป็นง่อยได้กินแล้วยังลุกขึ้นมาฟ้อนมารำได้
คิดดูก็แล้วกันว่าให้แรงดีขนาดไหน

วันหนึ่งเมื่อมาเยี่ยมเราที่บ้าน อาจารย์ถามว่า
"รู้จักวิธีหลอกชบาหรือเปล่า ?"

.....!!!..............

อาจารย์ขยายความว่า

"หลอกให้เค้าบานในเวลาที่เราต้องการไง
อย่างเราจะจัดงานเลี้ยงที่บ้านตอนเย็น เราก็เอากระดาษหนังสือพิมพ์
ห่อดอกเขาไว้ตั้งแต่เช้ามืด
พอตกเย็น  เราก็เปิดไฟให้สว่างโร่เลยนะ   แล้วค่อย ๆ แกะกระดาษออก
แกคงนึกว่าเป็นแสงแดดตอนเช้า  แกก็จะพากันบานนนน...ฮ่า  ฮ่า  ฮ่า.."

เสียงหัวเราะร่วนของเราจะดังไปถึงหูของต้นชบา
ที่ปลูกเรียงรายอยู่หน้าบ้านนับสิบต้นนั่นหรือเปล่าหนอ ?...



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น