วันจันทร์ที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2557

เจนไน - Chennai




                                           แผนที่รัฐทมิฬนาฑู จากหนังสือ "อินเดียเริ่มที่นี่ ทมิฬนาฑู"
                                           โดยศรัณย์ ทองปาน และ วิชญดา ทองแดง  สนพ.เมืองโบราณ


                 

ที่สนามบินกัวลาลัมเปอร์    
เรามีเวลา 3 ชั่วโมง เพื่อรอต่อเครื่องไปเจนไน  ทางออกที่ประตู T9        

เครื่องออกเวลา 16.00 น. (อดกดโทรศัพท์ดูเวลาไม่ได้  บ้านเรา 15.00 น.)
ตามกำหนดจะถึงเจนไนเวลา  17.10 น.  ทั้งที่ใช้เวลาบินราว 4 ชั่วโมง
เพราะเวลาที่อินเดียช้ากว่าบ้านเราชั่วโมงครึ่ง  แต่เวลาที่มาเลย์เร็วกว่าเรา 1 ชั่วโมง
หักกลบลบหนี้แล้วจึงกลายเป็น  17.10 น. เทียบกับบ้านเราจะอยู่ที่ 19.30 น.

ใหญ่บอกว่าคนอินเดียมาทำงานที่มาเลย์เยอะและมักซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้ากลับบ้าน
ระหว่างรอที่สนามบินเราจึงเห็นคนอินเดียหิ้วกล่องทีวีเดินผ่านไปมาเยอะมาก

บนเครื่องเต็มไปด้วยคนอินเดีย- ฐานะดี
ดูชุลมุนแบบเป็นกันเองมาก  ขอแลกที่นั่งกันหลายรอบ

เราสามคนได้ที่นั่งกันคนละที่
ฉันนั่งติดหนุ่มน้อยภารตะ ที่คุยกับพ่อแม่พี่น้องเขาที่นั่งแถวหน้าๆ กันไปมาตลอดเวลา

พอรถขายอาหารของแอร์เอเชียเคลื่อนมา  หนุ่มน้อยก็ซื้อขนมหลายถุง พร้อมโค้กกระป๋อง
และยังมีน้ำใจชวนฉันกินด้วย
ฉันถามเขาว่าอายุเท่าไร    โอ...เท่ามายซันเลย
ฉันบอกเขาว่าลูกชายฉันก็ชอบกินโค้กกับเลย์เหมือนยูนี่แหละ
แปลกแต่จริง  หนุ่มน้อยคนนี้ก็กำลังเรียนแมคคานิคอล เอนจิเนียร์เหมือนกันเสียด้วย

ฉันขึ้นเครื่องบินมาหลายครั้ง  ทุกครั้งก็ยังสวดมนต์เวลาเครื่องขึ้นและลง
หนนี้สวดตั้งแต่ยังไม่ลง
ช่วงใกล้ถึงมีบรรยากาศแปลกๆ  รู้สึกเหมือนหูดับไปเลย
เครื่องลดระดับวูบจนรู้สึกได้  บางครั้งก็ทะยานขึ้นจนต้องอุดหู
สจ๊วตประกาศอะไรฟังไม่รู้เรื่อง  ผู้โดยสารเงียบกริบ
ใหญ่บอกทีหลังว่า เขาประกาศว่าลมแรง เครื่องลงยังไม่ได้ จึงบินวนสองรอบ

พอเครื่องแลนดิ้ง  ผู้โดยสารเกือบทั้งลำพากันตบมือเกรียวกราว
บรรยากาศเหมือนในโรงหนังเมืองไทยเมื่อ 50-60 ปีก่อนไม่มีผิด
เวลาตำรวจหรือพระเอกโผล่ออกมาช่วยนางเอกจากผู้ร้ายได้ทันเวลา
ทุกคนยิ้มอย่างมีความสุข
ฉันถอนหายใจ  ขอบคุณที่พระคุ้มครอง

ถึงเจนไนต้องผ่านกระบวนการ ตม.อีกนานพอควร
คิวยาว ต้องยื่นแบบฟอร์มที่เขาให้มากรอกตั้งแต่อยู่บนเครื่อง

เจนไน  เดิมชื่อ มัทราส ถือว่าเป็นเมืองหลวงของรัฐทมิฬนาฑู
เป็นเมืองท่าที่สำคัญ  ตั้งอยู่ริมอ่าวเบงกอล ทางตะวันออกเฉียงเหนือของรัฐ
ชื่อมัทราส เกิดขึ้นในยุคอาณานิคม เป็นที่ตั้งบริษัทอีสท์อินเดียของอังกฤษ
ต่อมาในปี พ.ศ. 2539 รัฐบาลท้องถิ่นเลือกกลับไปใช้ชื่อเจนไน ซึ่งเป็นชื่อพื้นเมือง
ด้วยนโยบายชาตินิยม เพื่อหวนคืนสู่รากเหง้าดั้งเดิมของตน

ดูเป็นเมืองที่มีอะไรน่าสนใจหลายอย่าง
แต่คืนนี้เราจะไม่นอนเจนไน
ใหญ่ติดต่อเหมารถแท็กซี่จากเคาเตอร์ข้างๆทางออกสนามบิน
เราจะไปเมือง มามัลละปุรัม (หรือ มหาปาริปุรัม)  ระยะทางห่างจากเจนไนราว 60 กิโลเมตร

แท็กซี่ที่นี่เป็นรถคลาสสิคมาก ยี่ห้อแอมบาสซาเดอร์
บริษัทผู้ผลิตคือ  Hindustan Motors (HM)  -  เสียดายลืมถ่ายรูป
แม้สภาพภายนอกจะดูดี ทรงโค้งมนสวย ดูแกร่ง  แต่ภายในเก่ามาก
เบาะนั่งที่คงจะผ่านการใช้งานมาอย่างหนัก ถูกซ่อมแซม ห่อหุ้มด้วยผ้าห่มสักหลาดเก่าๆ
รถยนต์อินเดียใช้พวงมาลัยขวาเหมือนบ้านเรา

ค่าเหมาแท็กซี่  1275 รูปี  อยากรู้ว่ากี่บาทก็คูณด้วย  0.6



โชเฟอร์ขับรถอิสระเสรีมาก  เบี่ยงซ้ายเบี่ยงขวาตามใจชอบ  บีบแตรตลอดเวลา
เสียงแตรรถบนท้องถนนประสานเสียงกันสนั่นหู
การจราจรชุลมุนวุ่นวาย
แต่ก็แปลกนะ ตลอดเวลาที่อยู่ที่นี่ 10 กว่าวัน ยังไม่เคยเจออุบัติเหตุบนท้องถนนเลยสักครั้ง

ก้าวแรกในอินเดีย..
บนถนนสายฝุ่นในยามพลบค่ำ  มุ่งหน้าไปสู่มามัลละปุรัม
คลาคล่ำ เนืองแน่นไปด้วยผู้คนและพาหนะ
มีทั้งจักรยาน  มอเตอร์ไซค์  รถยนต์   รถเมล์  เกวียน
และวัว..



2 ความคิดเห็น: