วันเสาร์ที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

บ้านใหม่หมอกจ๋าม







เมื่อ 20 กว่าปีก่อน ฉันเคยเดินทางไปบ้านใหม่หมอกจ๋าม
ที่ตำบลท่าตอน  อำเภอแม่อาย  เชียงใหม่

ถามคนที่นั่นเขาบอกว่า "หมอก" หมายถึงดอก
ส่วน"จ๋าม" คือดอกจำปา  ที่บ้านเราเรียกว่าลั่นทมนั่นแหละ
บ้านใหม่หมอกจ๋าม จึงน่าจะเป็นหมู่บ้านที่เคยมีดอกลั่นทมมากมาย
แต่ตอนที่ไปนั้นไม่ค่อยเห็นมีสักเท่าไร
ส่วนคำว่าบ้านใหม่  น่าจะพอเดาได้ว่าหมู่บ้านคงตั้งขึ้นมาไม่นานนัก

บ้านใหม่หมอกจ๋าม เป็นหมู่บ้านชาวไทยใหญ่ ตั้งอยู่ริมแม่น้ำกก
ปีที่ฉันไปมีจำนวนครัวเรือนราวสามร้อยกว่าหลังคาเรือน
ในจำนวนนั้นมีชาวไทยลื้ออยู่ด้วยประมาณ 10 หลัง
ชาวบ้านมีอาชีพทำนา ทำสวน ปลูกถั่วเหลือง ทำถั่วเน่า

แต่ละบ้านมีตะแกรงไม้ไผ่ตากถั่วเน่ากันเป็นแถว ๆ สวยงามมาก
เสียดายที่ไม่ได้บันทึกสูตรการทำถั่วเน่า อาหารที่มีประโยชน์มากมายนั้นมาด้วย
เพราะมุ่งไปที่เรื่องอื่นมากกว่า

ครั้งนั้นฉันมุ่งหน้าเพื่อไปตามหาช่างกระดาษคนหนึ่ง
ลุงจั่นตา  โพธิ
ในปีนั้นลุงมีอายุ  73 ปี

ช่วงที่ไป ภรรยาของลุงเพิ่งเสียชีวิตได้ไม่นาน
ลุงยังมีอาการโศกเศร้า  เอารูปป้าวางไว้บนหัวนอน
พลอยทำให้เรารู้สึกสูญเสียไปด้วย
เมื่อป้าตายลุงก็อยู่กับลูกชายคนเล็กวัย 25
ส่วนลูกสาวอีกสองคนมีครอบครัวและแยกไปอยู่ที่อื่น

ลุงจั่นตา เป็นชาวไทยใหญ่
เดิมอาศัยอยู่ที่เมืองสาด  ประเทศพม่า
ต่อมาราวปี พ.ศ. 2508  ได้อพยพครอบครัวเข้ามาอยู่ในเขตไทย
ที่บ้านใหม่หมอกจ๋ามนี่เอง

ระยะที่อพยพเข้ามาใหม่ ๆ ลุงบอกว่าไม่รู้จะประกอบอาชีพอะไร
เพราะไม่มีที่นา  และเป็นคนสุขภาพไม่ค่อยแข็งแรง
คนเฒ่าคนแก่ในหมู่บ้านจึงแนะนำให้ทำกระดาษ
เพราะเป็นอาชีพที่เคยเห็นมาตั้งแต่เป็นเด็ก ในหมู่บ้านเดิมของตัวเอง

ลุงจั่นตาเริ่มทำกระดาษเมื่อปี พศ. 2517
ความรู้และประสบการณ์จากถิ่นเดิมทำให้เริ่มได้โดยไม่ยาก
ทำแล้วก็ขายให้คนในหมู่บ้านบ้าง  ส่งไปขายที่เมืองฝางบ้าง พอเลี้ยงตัวเล็ก ๆ น้อย ๆ

ลุงยังเล่าอีกว่า ในปี พ.ศ. 2522  ในหลวงเสด็จมาที่หมู่บ้าน
ในหลวงทรงสนับสนุนงานทำกระดาษของลุง
นับเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ลุงจั่นตาเป็นที่รู้จักแก่คนทั่วไป
ในฐานะช่างกระดาษฝีมือดี

วิธีการทำกระดาษของลุง เป็นวิธีการของไทยใหญ่ในเขตพม่า
คือวิธีแตะ  (ศัพท์ทางงานกระดาษ คือการใช้มือแตะเยื่อในตะแกรงให้สม่ำเสมอ)

และก่อนที่จะเทเยื่อลงในตะแกรง  จะเอาเยื่อใส่ลงในกระบอกไม้ไผ่ที่มีน้ำอยู่จำนวนหนึ่ง
ใช้ไม้ด้ามยาว ที่ทำสลักไม้เสียบอยู่รอบ ๆ  กระทุ้งเยื่อในกระบอกให้กระจายตัวดี
จากนั้นจึงเทเยื่อที่ถูกกระทุ้งแล้วลงในตะแกรงสีเหลี่ยม
แตะเยื่อให้กระจายตัวสม่ำเสมอในตะแกรง 
แล้วจึงค่อย ๆ ยกตะแกรงขึ้นตั้งให้สะเด็ดน้ำ  และยกไปตากแดดเป็นขั้นตอนสุดท้าย

ลุงจั่นตาเป็นช่างกระดาษคนแรกและคนเดียวของหมู่บ้าน
จนกระทั่งปี 2526  จึงเริ่มมีคนอื่นทำบ้าง โดยมาเรียนรู้วิธีการทำจากลุง
ทำเป็นงานเสริม หลังว่างจากงานในไร่นา
ในขณะที่ลุงทำเป็นงานหลัก

ต่อมามีพ่อค้าจากอำเภอแม่สายเข้ามาติดต่อขอซื้อกระดาษเป็นจำนวนมาก
พ่อค้าลงทุนเอาเครื่องตีเยื่อเข้ามาให้ถึงหมู่บ้าน เมื่อ ปี 2531
(บ้านใหม่หมอกจ๋ามมีไฟฟ้าใช้ปี 2530)
เป็นลักษณะการให้ยืมใช้ ยังไม่มีการหักเงินใช้ค่าเครื่องในขณะนั้น

จากที่เคยทำอยู่คนเดียว
ลุงจั่นตาต้องจ้างคนงานมาช่วย บางช่วงมีคนงานถึง 6-7 คน

กรรมวิธีการผลิตที่เคยทำแบบดั้งเดิมจึงต้องเปลี่ยนแปลงให้ทันกับความต้องการ
มีการใช้สารเคมีคือ โซดาไฟ (โซเดียมไฮดรอกไซด์) แทนขี้เถ้า
และผงฟอกคลอรีน เพื่อให้เยื่อขาว  แทนสีธรรมชาติที่เคยมีเพียงสีเดียว
และบางทีก็ต้องย้อมสีอื่น ๆ ตามใจลูกค้า

ลุงบอกว่ามีหน่วยงานราชการพาไปอบรมเรื่องการย้อมสี
และสอนทำผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ จากกระดาษ
แต่เราก็ไม่ได้เห็นผลิตภัณฑ์ใด ๆ นอกเหนือจากกระดาษเป็นแผ่น ๆ และสมุดพับ
เพราะเพียงแค่นี้ลุงก็ทำไม่ทันแล้ว

ภาพชาวบ้านนั่งเรียงกันล้างเปลือกไม้ริมแม่น้ำกกที่เห็นในครั้งแรก
เคยเป็นภาพบริสุทธิ์ สวยงาม ติดตาติดใจ
แต่เมื่อจินตนาการถึงสายน้ำที่ต้องรองรับสารเคมีเหล่านี้วันแล้ววันเล่าแล้วก็น่าใจหาย
มันเป็นวิถีของความเจริญที่มาพร้อมกับการทำลายซ้ำแล้วซ้ำเล่า
เหมือนฉายหนังเรื่องเดิม ๆ จนเราชินชา ?

ก่อนกลับ ฉันซื้อสมุดพับ (คนเมืองเรียก "ปั๊บ" ) ของลุงมาเล่มหนึ่ง
ถูกใจมากเพราะเล่มใหญ่ได้ใจ  กระดาษสาสีธรรมชาติเนื้อเีนียนแน่น
(ตรงนี้ลุงมีเคล็ดลับในการทำกระดาษปั๊บที่น่าสนใจ แต่จะเล่าถึงในวันหลัง)

สมุดพับผูกพันกับวิถีชีวิตของคนโบราณแถบบ้านเรา
ซึ่งน่าจะรวมทั้งอุษาคเนย์
ใช้บันทึกสรรพตำราต่าง ๆ  ใช้เรียน ใช้สอน ทำถวายพระ ถวายวัด
จึงทำด้วยความประณีต  ถวายเป็นพุทธบูชา
ฝรั่งเรียก Accordion book เพราะต้องพับกระดาษทบไปทบมาแบบหีบเพลงชัก
มีเทคนิควิธีการทำเฉพาะตัว ที่ไม่ง่ายเลย

ปั๊บเล่มที่ฉันซื้อของลุงเล่มนี้ ความกว้างยาวของเล่มคือ  7 1/4 " x 18 3/4 "  หนา 2 1/2"
เมื่อคลี่ออก วัดความยาวของกระดาษดูแล้ว อยู่ที่  27 เมตร
แม่จ้าว !!   ฉันซื้อมาในราคา (เมื่อ 20กว่าปีก่อน) เพียง 200 บาท

อยากจะร้องกรี๊ดสส... และเป็นลมแปดตลบ
ให้กับราคาสมุดถูกแสนถูกของลุง
และอีกกรี๊ดสส..ให้กับราคาของทุกอย่างที่แพงขึ้นอย่างเสียสติในวันนี้

ฉันอยากกลับไปเยี่ยมลุงอีก  คิดไว้หลายครั้งแต่ก็ไม่เคยมีโอกาส
ป่านนี้ถ้าลุงยังอยู่ ลุงคงอายุ 90 กว่าแล้ว
หรือถ้าลุงไม่อยู่แล้ว ลูกชายของลุงที่เคยเป็นคนส่งของให้พ่อ
จะทำงานนี้ต่อหรือเปล่านะ
ลมหายใจของกระดาษบ้านใหม่หมอกจ๋ามจะยังมีอุ่นไออยู่หรือเปล่า ?
แม่น้ำกกสายนั้นยังอยู่ดีมีสุขอยู่หรือเปล่าหนอ ?

ล้วนเป็นคำถามที่ชวนให้จินตนาการต่อไปไม่รู้จบ...



















ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น