วันศุกร์ที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

คนเล็กๆ







เคยรู้สึกเหมือนฉันไหม..

เคยคิดอยากช่วยคนเล็กๆ
แต่หลายครั้ง..คนเล็กๆกลับทำให้เราปวดใจ


หลายปีก่อนฉันเคยเรียกรถสามล้อจากตลาดกลับบ้าน
แทนที่จะขึ้นรถสี่ล้อ หรือรถสองแถว
เพียงเพราะอยากช่วยสามล้อ
อาชีพที่ใช้แรงกายล้วนๆ แลกกับค่าจ้าง

ฉันมีจุดอ่อนกับสามล้อ
เวลาเห็นคนถีบเกร็งขา  น่องโป่ง พยายามดันรถให้เคลื่อนไปข้างหน้า
โดยเฉพาะถ้าเป็นลุงแก่ๆแล้ว  น้ำตาแทบจะไหล

สมัยเป็นเด็ก จำได้ว่า เคยต่อว่าแม่ที่ไปต่อรองราคากับลุงสามล้อ
ไม่รู้เหมือนกันว่า ทำไมคำพูดเรียบๆของแม่ประโยคนั้น
จึงติดอยู่ในหัวฉันมาจนแก่

"ให้เขาแค่นี้  เขาก็พอซื้อข้าวซื้อกับกินอิ่มแล้วนะลูก"
บางทีแม่อาจจะพูดถูก
ฉันต่างหากที่ดราม่ามาตั้งแต่เด็ก
ชอบ"รู้สึก"เกินจริง
และเจ็บปวดกับการ"เกินจริง"นี้มาหลายรอบ

โรคนี้กว่าจะหาย (คิดว่าหายแล้วนะ) ก็ตอนย่างเข้าวัยปลาย

กลับมาเรื่องเมื่อหลายปีก่อนที่เล่าทิ้งไว้
ตอนที่โรคประจำตัวยังไม่หาย (ยุคนี้อาจจะเรียกว่าพวกโลกสวย)
สามล้อคันที่ฉันเรียก เป็นชายวัยกลางคน
จำได้ว่าเขาพูดภาษากลาง - ไม่ใช่คนพื้นถิ่น

ฉันบอกจุดหมายปลายทางที่จะไป
และไม่ได้ถามราคา
ที่จริงในใจมีตัวเลขคร่าวๆ อยู่แล้ว  คิดบวกลบไว้อีกจำนวนหนึ่ง
ด้วยเชื่อว่ามันอยู่ใน "เกณฑ์" ที่เคยจ่าย
หากบวกไปในเกณฑ์ที่รับได้ ฉันไม่เคยขัดข้อง
เพราะอยากให้อยู่แล้ว

ฉันจำตัวเลขไม่ได้
รู้แต่ว่าความปรารถนาดีในวันนั้นมันกระเด็นจากเกณฑ์ไปไกลมาก
มากจนทะลุเพดาน

สาวโลกสวยถึงกับอึ้ง
อาจจะเผลอต่อรองไป  ทั้งที่ไม่เคยคิดจะต่อรอง
แต่คนเรามักมีเพดาน ที่ถ้าจะทะลุจะต้องเจ็บตัวก่อน
ฉันจำรายละเอียดราคาและการต่อรองในฉากนี้ไม่ได้เลย
เพราะดันไปจำฉากอื่นที่มันเจ็บปวดมากกว่า

ฉากที่สามล้อคันนั้นโกรธ  (ยังมานึกสงสัยภายหลังว่าแกแกล้งโกรธหรือเปล่า?)
แล้วทิ้งท้ายคำพูดเชือดเฉือนใจไว้ประมาณว่า
"ถ้าอยากนั่งราคาถูก ก็ไปขึ้นสองแถวสิ"

ขำนะ..  กับตรรกะที่มันย้อนแย้งแบบสามล้อๆ อย่างเขา
แต่ก็สมน้ำหน้าตัวเองอยู่นาน..

ไงล่ะ?  คนเล็กๆที่น่ารัก  คนที่มึงอยากช่วยเหลือนัก

แต่ก็รีบแผ่เมตตานะ
เพราะสามล้อที่ยังอยู่ในใจฉันมาตลอดชีวิตก็ยังอยู่ ไม่หายไปไหน
แม้ว่าลุงจะตายไปตั้งนานแล้ว

ลุงดี สามล้อที่แม่ว่าจ้างเป็นรายเดือน
ให้มารับส่งฉันกับน้องไปกลับโรงเรียนทุกวัน เป็นปีๆ ตอนเรียนอยู่ชั้นป.1-ป.2
ลุงเป็นสามล้อที่สุภาพ ใจดี มารับเราตรงเวลาทุกวัน
ยังนึกขอบคุณลุงเสมอที่ทำให้ภาพสวยงามนี้อยู่ในใจฉันมาตลอด

เสียดายที่ลืมถามแม่ว่า แม่ให้ลุงเดือนละเท่าไร
หวังว่าฉันคงไม่ผิดใจกับแม่อีก  ถ้ารู้  (ยังไม่วายดราม่า)

หลังเหตุการณ์ในวันนั้น
ฉันไม่เคยนั่งสามล้ออีกเลย
ไม่ได้เข็ดเขี้ยวหรือเกลียดชัง
แต่สามล้อมีน้อยลง ๆ จนแทบหายไปจากสายตา
และไม่รู้สึกมีความจำเป็นจะต้องนั่งอีก

เวลาผ่านไปนับสิบปี น่าจะครบวงโคจรของดาวบางดวง
ฉันกลับมาเจอเรื่องราวใกล้เคียงกับเรื่องเดิมอีกครั้ง


วันนั้นตรงกับวันแผ่นดินไหวใหญ่ที่เป็นข่าว
ขณะเกิดเหตุ ฉันกำลังนั่งอยู่บนรถสี่ล้อแดงเมืองเชียงใหม่
จึงไม่รู้สึกรู้สาว่าแผ่นดินกำลังไหว
เพียงแต่แปลกใจที่เห็นคนออกมายืนริมถนนเป็นกลุ่มๆ อย่างผิดสังเกต

ฉันเรียกสี่ล้อจากไนท์บาซาร์
ไปที่พักแถวถนนมหิดล
ความที่ขาไป จ่ายไป 60 บาท (2 คน)
คิดว่าราคาน่าจะเท่าเก่า  จึงไม่ได้ถามราคา
บทเรียนคือ ต้องถามราคาทุกครั้ง
การไม่ถามราคาก่อนเป็นเรื่องอันตรายใหญ่หลวง  (มาสรุปตอนแก่ เฮ้อ!)

เมื่อถึงที่หมาย ลุงสี่ล้อบอกว่า 150 บาท !!
......??....

อารมณ์ตอนนั้นไม่รู้กี่ริกเตอร์
แข่งกับแผ่นดินที่กำลังไหวอยู่รอบตัว
ต่อราคากันไปมา ในที่สุดอยู่ที่ 120 บาท
บางทีปัญหาไม่ได้อยู่ที่จำนวนหรือราคาหรอก
แต่อยู่ที่ความรู้สึกว่าไม่เป็นธรรมต่างหาก

แต่เป็๋นเพราะหน้าตาลุงแกยิ้มมาก  ยิ้มหวานใจดีแบบคนเมืองเหนือ
ยิ้มทั้งผัวทั้งเมีย ยิ้มแล้วยิ้มอีก (เมียสี่ล้อมักมานั่งคุมผัวอยู่ด้านหน้า)
ฉันเลยโกรธลุงไม่ลง

เห็นอันตรายจากการเติบโตของเมืองใหญ่อย่างเชียงใหม่
ที่มันไร้ทิศทาง สะเปะสะปะ แล้วน่าเป็นห่วง

เคยเห็นสี่ล้อขี้โมโห ตะคอกด่าทอนักท่องเที่ยวชาวจีนโขมงโฉงเฉง
อาหมวย อาตี๋ หน้าเหรอหราวางตัวไม่ถูก เพราะสื่อสารกันผิดพลาด
ถูกสี่ล้อเชียงใหม่ด่าซะไม่รู้เข็ดหลาบหรือเปล่า

แต่ข่าวคราวนักท่องเที่ยวชาวจีนมาสร้างปัญหาให้เชียงใหม่ก็มากมายเหลือเกิน
คนเชียงใหม่ดูท่าจะมีภาระหนักในการรับมือกับปัญหาทั้งปวง
ต้นทุนนี้ใหญ่หลวงทีเดียว จะคุ้มค่ากับเม็ดเงินที่ได้มาหรือเปล่าก็ไม่รู้

สี่ล้อเรียกราคาตามใจ  ไม่มีมาตรฐาน
ขับรถตามใจฉัน ปาดหน้า พร้อมจะด่าทอกันทุกขณะ
เหมือนคนหน้ามืด จ้องแต่ตะครุบเหยื่อ
ยิ่งนักท่องเที่ยวเข้ามามากเท่าไร  ก็ยิ่งโหมกระพือความเห็นแก่ได้มากขึ้นเท่านั้น

คงไม่ใช่เฉพาะอาชีพสี่ล้อ อาชีพอื่นๆ ก็ดูเหมือนจะไปในแนวเดียวกัน
อาหารข้างทางจานละ 50-60 บาทแล้ว
น้ำแข็งเปล่า ที่เคยเป็นสิ่งวัดน้ำใจคนขาย เริ่มหายไปเกือบหมด
มีเพียงน้ำแข็งแห้งวางไว้ให้ บอกในทีให้เปิดน้ำเปล่าที่วางเรียงอยู่บนโต๊ะเอาเอง
ขายนะขาย   ของฟรีไม่มีอีกแล้ว
ดังนั้นเมื่อเจอร้านไหนให้น้ำแข็งเปล่าฟรี จะรู้สึกตื้นตันและอยากขอบคุณเป็นอันมาก

ทุกคนเหมือนจะพูดว่าเรากำลังลำบาก
ขอเราก่อนเถอะ  เรายังไม่พอ

โลกตกอยู่ในภาวะของความไม่พอไปทุกหนแห่ง

คนเล็กๆที่เคยน่ารักเป็นนามธรรมอยู่ในใจฉันหายไปหมดแล้ว
หายไปพร้อมกับโรคประจำตัวของฉัน
เหลือแต่มนุษย์ตาดำๆ ของจริงที่กำลังดิ้นรน ปากกัดตีนถีบเหมือนกันหมด
รวมทั้งมนุษย์ตาดำๆอย่างฉันด้วย


เพียงแต่...อดรู้สึกสังหรณ์ไม่ได้ว่า
มันเหมือนเป็นการดิ้นรนครั้งสุดท้าย..

ก่อนที่โลกจะแตก..











2 ความคิดเห็น:

  1. อ่านแล้วรู้สึกถึงความร้อนรุ่ม
    และแข่งขันกันในสังคมจริงๆ เลยเชียว
    แต่รู้สึกตัวเองโชคดีจังเลยค่ะ ที่หาดใหญ่ ยังมีร้านก๋วยเตี๋ยว
    ที่ชามละสามสิบห้าบาท และยังมีน้ำแข็งพร้อมน้ำฟรี

    และหนูก็ยังมีร้านประจำที่แม่ค้าคนขายยิ้มแย้มเสมอ
    รู้สึกสนิทใจไปเลยทีเดียวค่ะ
    มันก็เป็นเรื่องจริงในส่วนของความรู้สึก
    ถ้าเข้าร้านไหนมีน้ำแข็งฟรี และยังคงมีเหยือกพร้อมน้ำตั้งบนโต๊ะนี่
    แสดงว่าร้านนั้นใจถึงมาก

    หนูว่าคนค้าขายแบบนี้ต้องผ่านกระบวนการคิดแล้วคิดอีกแน่เลยค่ะ
    ใจเขาใจเรา
    เหมือนที่เวลาอ่านพวกสกู๊ปในข่าวเล็กๆ
    ร้านขายข้าวแกงที่ยังไม่ขึ้นราคา แม้ว่าจะต้องเจอราคาวัตถุดิบขึ้น
    เพราะเขานึกถึงฐานะของคนกินด้วย

    (หนูเองก็เป็นแม่ค้าตัวเล็กๆ คนนึง ขนมกล่องเดียวก็คิดแล้วคิดอีก สุดท้ายก็ไม่ขึ้นราคา)

    ปล*
    หนูไม่ได้ไปเชียงใหม่นานแล้ว
    หลายสิ่งหลายอย่างมันทำให้หนูรู้สึกไม่อยากไปเลยค่ะ
    อันนี้หนูก็ไม่แน่ใจเหมือนกัน ว่าเสพสื่อมากไปหรือเปล่า
    ฮ่าๆ

    :)

    ตอบลบ
  2. เรื่องราวเล็กๆของคนเล็กๆมีอยู่ทุกที่นะคะ เป็นเรื่องที่เล่าไม่รู้จบ
    มีทั้งแง่งามและแง่ลบ บอกความเป็นไปได้ดีกว่าเรื่องใหญ่ๆเสียอีก
    หนูอยู่ที่นั่นก็คงมีเรื่องราวมากมายที่น่าสนใจ เล่าให้ฟังบ้างนะคะ

    ตอบลบ