วันพุธที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2556

แสดงงาน




จู่ ๆ ก็มีคนมาชวนให้ร่วมแสดงงานศิลปะ

ครั้งแรกในชีวิตเลยนะนี่

ความรู้สึกนึกสนุก ทำให้รับปากรับคำ
ทั้งที่ ทั้งความรู้และฝีมือมีเท่าหางอึ่ง
และมีแต่ตาและใจ ที่ชอบดูงานศิลปะของคนอื่นตลอดมา

หัวข้อเกี่ยวกับวันแม่
ที่ตอนหลังมาช่วยกันคิดจนได้ชื่อมาว่า  "จากสายเปลไกว..."

จัดแสดงที่หอศิลป์ลำปาง ระหว่างวันที่ 3-31 สิงหาคม 2556
หอศิลป์เล็ก ๆ (แต่งดงามและเปี่ยมพลัง) ของเอกชน
ที่ต้องขอบคุณตรงนี้อีกครั้ง ในจิตสาธารณะของเจ้าของ
คือมูลนิธินิยม ปัทมะเสวี









เดิมที ศิลปินแท้คนเริ่มความคิด ซึ่งจองคิวหอศิลป์มาข้ามปี
บอกว่าจะเป็นการแสดงงานของเพื่อนสองครอบครัว
คือครอบครัวเขา และครอบครัวเรา

แต่ไป ๆ มา ๆ  นอกจากพ่อแม่ลูกแล้วยังมีหลาน  เพื่อนของหลาน
เพื่อนของพ่อ น้องของพ่อ มาร่วมแจมอีก
จึงกลายเป็นงานสนุกสนานของพวกเราที่กลายเป็นครอบครัวใหญ่ขึ้นมาแทน

ฉันมีงานชิ้นหนึ่งทำไว้นานแล้ว
แขวนฝุ่นจับข้างฝาบ้านมาเป็นปี




คุณพ่อบ้านชี้ขาดว่า "ชิ้นนี้แหละ ๆ ๆ"
หลังจากฉันบอกจะขอสละสิทธิ์ เพราะคิดว่าไม่มีปัญญาเป็นศิลปินกับเขา
แรก ๆ ตอนตกปากรับคำรู้สึกสนุก แต่พอใกล้วันส่งงาน  ความจริงและความกลัวเริ่มปรากฏ
จึงจำเป็นต้องกินบุญเก่า

คิดถึงครั้งที่ลูกๆ จากบ้านไปร่ำเรียนห่างไกล
ฉันเก็บเสื้อผ้าเก่าของลูกที่โละ ๆ แล้วมาตัดปะเป็นเรื่องราว

กระโปรงดอกดวงของลูกสาว เสื้อเก่าของลูกชาย
รวมทั้งเสื้อสีอิฐของยาย ตั้งแต่ครั้งคุณยายยังสาว
ก็เอามาเย็บเป็นตัวผนังบ้าน

กลายเป็นภาพแทนใจ ไว้ดูเวลาคิดถึงลูก คิดถึงแม่

ส่วนอีก 2-3 ภาพที่เอาไป"โชว์"  (วาดจริง ๆ ราว 7-8 ภาพ)
วาดขึ้นสด ๆ ก่อนติดตั้งไม่เกิน 5 วัน
เป็นภาพผู้หญิงล้วน






ฉัน "สนุก" กับการวาดผู้หญิงพวกนี้อยู่ราว 2-3 วัน
คิดว่าเข้าใจลาง ๆ ถึง "อารมณ์ศิลปิน" แล้วล่ะ

ฉันใช้จานสีของลูก ที่ยังมีเนื้อสีแห้ง ๆ ติดอยู่ในช่องต่าง ๆ เยอะแยะ
ไม่รู้หรอกว่าสีอะไร เป็นอะไร
เพราะฉะนั้นจึงไม่มีคำอธิบายภาพว่าเป็นสีน้ำ  สีอะคริลิก ฯ
หรืออื่น ๆ เหมือนภาพอื่นเขา  เพราะไม่รู้ค่ะ
รู้แต่ว่าเป็นสีเหลือ

กระดาษที่วาดก็เป็นกระดาษไผ่ขนาดโปสการ์ด
เหลือจากการคัดส่งให้ลูกค้า  วางทิ้งๆ อยู่ตรงนั้นตรงนี้
เมื่อก่อนรู้สึกว่ากระดาษพวกนี้หนามาก จะเอาไปทำอะไรได้ ทำการ์ดก็ไม่สวย
แต่พอเอามาวาด  ทีนี้เลยเห็นช่องทางสนุกไปใหญ่

วิญญาณแม่ขี้เหนียวยังไม่หมด
ฉันไม่ยอมเอาภาพที่วาดไปใส่กรอบ
ประเมินแล้วหลายร้อยบาทแน่ ๆ
ฝีมือระดับเราจะต้องไปลงทุนอะไรขนาดนั้นเนอะ

นึกขึ้นได้ว่าตอนลูกเล็ก ๆ เรียนอยู่ชั้นประถม
ลูกเคยได้รางวัลโน่นนี่นั่นมากมาย
แรก ๆ ก็บ้าเห่อ เอาใบประกาศพวกนี้ไปใส่กรอบ ห้อยเต็มฝาบ้าน

นานวันเข้าเริ่มรู้สึกรก
จึงปลดลงมากอง ๆ รวมกัน ยังไม่รู้จะเอาไปไหน
คิดว่าถ้าพวกเขาโต มีบ้านของตัวเอง คงจะอยากกลับมาเก็บสมบัติเก่าพวกนี้ไปเก็บต่อ
จินตนาการไปแทน

ฉันไปรื้อกรอบจากกองพวกนี้แหละ
ลอกเทป  ถอนตะปู  เก็บใบประกาศของลูกรวม ๆ กันไว้ในถุง
ใส่รูปวาดของตัวเองไปแทน  มันช่างพอดี๊ พอดี

เป็นอันว่า ในส่วนของฉันไม่ต้องเสียเงินเลยสักบาท

ยังไงก็ขอบคุณอาจารย์สมพงษ์ ศิลปินตัวจริงที่ชักชวนไปร่วมสนุก
ขอบคุณหอศิลป์อีกครั้ง

ไม่ได้อยากเป็นศิลปิน เพราะรู้ว่ายากสำหรับตัวเอง
แต่สามวันที่ได้ "สนุก" กับการวาด ก็เป็นประสบการณ์ที่สุดคุ้มของฉัน

วันเปิดงาน พวกเรา 2-3-4 ครอบครัว แห่กันไปให้กำลังใจงานของตัวเอง
มีผู้คนเข้ามาดูงานกันมากมาย  ทั้งไทยทั้งเทศ  ลูกเด็กเล็กแดง
ที่ดีมาก ๆ คือเด็กนักเรียน วัยรุ่น ที่มากันเป็นกลุ่มใหญ่ ๆ สนุกสนาน




บรรยากาศของกาดกองต้ากับหอศิลป์เป็นกันเองมาก ๆ
เพราะกลมกลืนเป็นส่วนหนึ่งของกันและกัน
บางคนยังเดินแทะลูกชิ้นปิ้งอย่างเอร็ดอร่อย ตอนที่ก้าวเท้าเข้าประตูมา
(แต่ตามระเบียบก็ห้ามนำน้ำ อาหารขึ้นไปในส่วนของการแสดงงานอยู่แล้ว)

บางคนอาจรู้สึกเหมือนบรรยากาศงานวัด
แต่ก็เป็นงานวัดที่คลาสสิคเอามาก ๆ

ลูกหลานคนหนึ่งพูดว่า
หอศิลป์ที่กรุงเทพฯยังไม่เคยมีคนเข้ามาดูงานมากขนาดนี้เลย
ขอบอก

























วันจันทร์ที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2556

ผืนผ้าแห่งชีวิต







จักรซิงเกอร์หลังนี้อายุมากกว่าฉันราวปีสองปี

แม่เคยเล่าความหลังครั้งชีวิตยังอบอวลด้วยความรัก ช่วงแต่งงานใหม่ ๆ
จักรหลังนี้คล้าย ๆ จะเป็นของขวัญที่พ่อซื้อให้แม่หลังการแต่งงาน เพราะแม่อยากได้มาก

ราคาในยุคเมื่อ 60 ปีก่อนนั้น  3500  บาท
หากเอามาเทียบกับค่าของเงินในสมัยนี้  คูณด้วยสิบ จะได้หรือเปล่าก็ยังไม่รู้

นับว่าไฮโซเอาการ แม่ฉัน

ทั้งที่พ่อเป็นเพียงเสมียนตัวเล็ก ๆ ของบริษัทขนส่งทางรถไฟแห่งหนึ่ง
แม่ก็เป็นเพียงแม่ค้าขายข้าวแกง  ในร้านของพี่สาวที่ได้สัมปทานจากสถานีรถไฟ
ไม่เคยได้เงินเดือนจากพี่สาว
ได้เพียงกินอยู่ฟรี และทำงานให้อย่างหนักตลอดเวลาหลายปี

แม่เล่าว่า ป้าสัญญาว่าจะซื้อทองให้แม่เป็นค่าตอบแทน
แต่ก็ไม่เคยให้  เพราะป้าติดเล่นหวยจนงอมแงม
ขายของดีแค่ไหน ได้เงินมากแค่ไหนก็ไม่เคยมีเหลือ เพราะไปเสียกับการเล่นหวย
มีหนี้มีสินรุงรังจนกระทั่งเลิกกิจการไป

ความรักในการเย็บผ้า ตัดผ้าของแม่แท้ ๆ ที่ทำให้ใจกล้า คิดซื้อจักรแพง ๆ อย่างนี้
ทั้งที่ไม่มีโอกาสได้ร่ำเรียนการตัดเย็บจากสถาบันไหน
แต่แม่ก็ขวนขวายเรียนด้วยตัวเอง
จากหนังสือผู้หญิงที่มีในยุคสมัยนั้น เช่นแม่บ้านการเรือน  หรือศรีสัปดาห์

ฉันยังเก็บสมุดวาดแพทเทิร์นเล่มหนึ่งของแม่ไว้จนบัดนี้





แม่เรียนหนังสือแค่ชั้น ป.4  แต่ลายมือสวยอย่างน่าทึ่ง
เป็นลายมือตัวโต ๆ ที่มีเส้นมั่นคง สม่ำเสมอ
เวลาเขียน แม่ตั้งใจและมีสมาธิอย่างยิ่ง








น่าแปลกอีกอย่างที่แม่เป็นคนชอบเขียนบันทึก  ดูผิดวิสัยคนเรียนมาน้อย
ไปทำอะไร  ที่ไหน  เมื่อไร  แม่เขียนไว้หมด
ใครพูดอะไรที่กระทบกระเทือนใจ หรือประทับใจ ก็จะบันทึกไว้

แม้แต่ดูโทรทัศน์  ตอนไหนใครพูดอะไรที่โดนใจก็จะจดไว้หมด
กระดาษจดของแม่มีไปทั่ว  ตั้งแต่เศษกระดาษที่ใคร ๆ ทิ้ง
ขอบหนังสือพิมพ์ส่วนที่ว่างอยู่  กระดาษซองบุหรี่

เรียกว่ากระดาษอะไรก็ตามที่มีที่ว่างให้เขียนและอยู่ใกล้มือ  แม่คว้ามาเขียนได้ทั้งนั้น

หลังจากนั้นก็จะรวบรวมไปเขียนลงในสมุดบันทึกเล่มเล็กเล่มน้อยของแม่
ที่มีหลายเล่ม หลายขนาด ตามแต่จะมีใครให้มา

ในตะกร้าใบเล็ก ๆ ของแม่ ที่หิ้วขึ้นหิ้วลงจากบ้านชั้นล่างขึ้นชั้นบน หรือหิ้วไปไหนมาไหน
นอกจากจะเต็มไปด้วยยาดม ยาหม่อง  ยาหอม และสารพัดยาแล้ว
ก็จะต้องมีสมุดบันทึกและปากกาอยู่ด้วยเสมอ

ผลงานตัดเย็บเสื้อผ้าที่แม่เรียนจากหนังสือ
ก็คือเสื้อผ้าของลูก ๆ
ทั้งชุดที่ใส่อยู่บ้านและเสื้อผ้าชุดนักเรียน  กระโปรง  กางเกง
ที่แม่ตั้งใจตัดให้ใหญ่เกินตัวไว้เสมอ

ฉันยังจำความรู้สึกอายเพื่อนได้
เมื่อต้องนุ่งกระโปรงยาวจนเกือบถึงตาตุ่มไปโรงเรียน
ดูเหมือนเราแทบจะไม่มีโอกาสได้ใส่เสื้อผ้าตัวใหม่ที่พอดีตัวเลยสักครั้ง
มีแต่เสื้อผ้า "เผื่อโต" แทบทั้งสิ้น

เมื่อพวกเราโตขึ้นและแยกย้ายกันไปเรียนหนังสือไกลบ้าน ไกลจากแม่
แม่ก็ไม่มีโอกาสเย็บเสื้อผ้าให้พวกเราใส่อีก

จักรของแม่ถูกทิ้งว่างไม่ได้ใช้งานอยู่นานหลายปี
จนผ้าคลุมจักรดั้งเดิมสีน้ำตาล ลายดอกไม้คุ้นตาผืนนั้นเปื่อยขาดหมด
แต่แม่ก็ยังคงหยอดน้ำมันจักรของแม่อยู่ไม่ขาด

ครอบครัวเราย้ายบ้านหลายครั้งหลายหน
แต่ก็ยังขนจักรหลังนี้ไปด้วยทุกครั้ง
กระทั่งสุดท้าย  แม่ยกให้เป็นสมบัติของฉัน
จักรหลังนี้จึงได้ตามฉันมาอยู่ที่บ้านหลังปัจจุบัน

ฉันใช้จักรเย็บผ้า  หัดตัดเสื้อผ้า ซ่อมแซมอะไรต่อมิอะไรมากมาย
ใช้งานหนักจนรู้สึกสำนึกในบุญคุณ

มีคนแนะนำให้ซื้อมอเตอร์มาใส่ จะได้เย็บเร็วขึ้น
แต่ฉันอยากถีบจักรแบบเก่ามากกว่า
ไม่เห็นจำเป็นต้องเร็วอะไรกันนักหนา

แวบหนึ่ง  คิดถึงสิ่งที่มหาตมะคานธีเคยบอกว่า
เครื่องมือเครื่องใช้สมัยใหม่ที่ท่านยอมรับได้เพียงอย่างเดียวก็คือ จักรเย็บผ้า
แต่ถ้าคานธีรู้ว่าจักรเย็บผ้ายุคนี้พัฒนาไปไกลขนาดไหนแล้ว
ท่านจะยังยืนยันความคิดเดิมอยู่หรือเปล่าก็ไม่รู้...


วันหนึ่ง จักรของฉันมีอาการรวนเรบางอย่าง
จนต้องไปตามหาช่างมาซ่อม

ช่างที่มาซ่อมให้ เป็นช่างประจำร้านซิงเกอร์ ชื่อช่างปรีชา
ช่างบอกฉันเมื่อซ่อมเสร็จแล้วว่า

"รักษาจักรหลังนี้ให้ดีนะครับ เป็นของแท้
กระสวยนี่ก็เป็นของแท้ ติดมากับจักร"

จักรหลังนี้เป็นจักรที่นำเข้าจากอังกฤษ
เขาบอกให้ฉันดูสัญญลักษณ์บางอย่าง บางที่ที่ฉันไม่เคยสนใจสังเกตมาก่อน




ของแท้นี่เองจึงราคาสูง และใช้งานได้ดี ทานทน ทนทานมาจนทุกวันนี้
หลังจากช่างเปลี่ยนอะไหล่บางตัวที่เสื่อมทรุดไปตามกาลเวลา
จักรหลังนี้ก็กลับมาใช้งานได้ดีเหมือนเดิม

แม้ลวดลายบางส่วนหลุดลอก
พื้นโลหะบางที่ที่ใช้งานบ่อยถลอกปอกเปิก
พื้นไม้บางส่วนมีรอยขีดข่วนจากการใช้งาน
และฝาผนังบางส่วนเริ่มเคลื่อนตัวแยกออกจากรอยเดิม

แต่แก่นแท้  คือโครงสร้าง และชิ้นส่วนสำคัญของจักรยังดีอยู่
จนนึกอยากติดทองคำเปลวตรงไหนสักที่ เป็นการคารวะ

ฉันเคยซื้อจักรอีกหลังหนึ่ง เมื่อไม่นานมานี้
ด้วยความคิดที่อยากทนุถนอมจักรหลังเก่า ไม่อยากให้ใช้งานหนักมาก
จะได้อยู่ด้วยกันนานๆ

จักรใหม่ตรานกหรือตาปลาอะไรสักอย่าง  เมดอินไชน่า
ราคาแค่สองพันบาท  เห็นแก่ของถูก
ซื้อมาแล้วก็เหมือนโยนเงินทิ้ง เพราะเป็นจักรที่ห่วยแตก (ทั้งที่ทดลองเย็บดูที่ร้าน ก็ดูดี)
แทบอยากยกไปคืนเจ๊เจ้าของร้าน   แต่รู้ว่าไม่มีทาง
ของถูกจึงกลายเป็นของแพงอย่างยิ่ง

ไป ๆมา ๆ ฉันก็ต้องกลับมาใช้จักรเก่า ที่ดีงามเสมอต้นเสมอปลาย
จักรใหม่ที่ใช้ไม่กี่ครั้ง กลายเป็นขยะ  เป็นของรกบ้าน
หากจะมีราคาอยู่บ้างก็ตรงที่จะถูกแยกส่วน เอาขาจักรออกมาทำเป็นขาโต๊ะ

จักรสองหลังทำให้คิดเรื่องของแท้ ของเทียม ไปได้อีกยาวไกล


วันหนึ่ง ฉันไปตามช่างปรีชาที่ร้านเดิม
คิดว่าจะวานช่างมาช่วยล้างเครื่องข้างในให้ใหม่หมดจดอีกสักรอบ

พนักงานที่ร้านบอกข่าวว่า
"ช่างปรีชาเสียไปหลายเดือนแล้วครับ"

ใจหาย...
เหมือนช่างเพิ่งบอกฉันเมื่อไม่กี่วันมานี้เอง..
ว่ารักษาจักรหลังนี้ให้ดีนะครับ

ผืนผ้าแห่งชีวิตของเราแต่ละคน กว้างใหญ่ และสั้นยาวไม่เท่ากัน
เรื่องราวบนผืนผ้าล้วนแตกต่าง  อยู่ที่ตัวเราจะเป็นผู้กำหนดลวดลายและสีสัน

ฝีจักรที่เหยียบย่ำไปบนผืนผ้า  ตอกย้ำเรื่องราวที่เราเองเป็นผู้กำหนด  ผืนแล้วผืนเล่า
บางผืนมีความงดงาม  ความสุข และรอยยิ้มจากการเย็บ
บางผืนอาจปวดร้าว ขมขื่น ที่เกิดจากเหตุไม่คาดคิดอันหลากหลาย


วันนี้ช่างปรีชาเลือกที่จะหยุดเย็บไปก่อนแล้ว

จักรหลังเก่าของคนสองรุ่นยังคงนิ่งสงบอยู่ที่ริมหน้าต่าง
รอให้เจ้าของจักรเข้าไปใช้งาน ตกแต่งผืนผ้าของตัวเองต่อไป

ฉันหวนนึกเห็นภาพตัวเองนุ่งกระโปรงนักเรียนยาวถึงตาตุ่ม
น้องชายใส่กางเกงตัวโคร่ง เอวสูง
เป็นภาพอดีตที่ทำให้ยิ้มกับตัวเองได้ทุกครั้ง  แม้ลึก ๆ น้ำตาจะเอ่อล้นอยู่ภายใน

วันนี้...ผืนผ้าแห่งชีวิตของฉัน ยังคงถักทอทำงาน
ท่ามกลางความผันแปร  ซับซ้อนที่ยากจะรู้ว่าสิ่งใดแท้ สิ่งใดเทียม

คิดถึงแม่และความรักของแม่ที่มีให้ลูกอย่างไม่มีข้อจำกัด
ของแท้ที่ไม่มีใครกล้าปฏิเสธ

และคิดถึงคำพูดของช่างที่บอกว่า
รักษาจักรหลังนี้ให้ดีนะครับ...