วันอังคารที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2556

ยอดมนุษย์







พี่คะ....  วันนี้เป็นวันอาทิตย์ที่ปลอดโปร่ง ว่างงาน
น้องเก็บกวาดข้าวของรุงรังทั้งหลายในบ้าน อันเป็นงานที่ทำมาตลอดชีวิต และไม่เคยเสร็จ
ได้พบจดหมายของพี่ปึกใหญ่  (น้องไม่เคยทิ้งจดหมายของใครเลยสักฉบับ)

น้องตกใจเมื่อเหลือบดูวันที่  จากจดหมายฉบับแรก  8  สิงหาคม 2528....
แม่จ้าว..  เวลาผ่านไปเกือบ 30 ปี
ให้ความรู้สึกน่าตกใจไหมล่ะคะ

ลายมือคุ้นตาของพี่  บนกระดาษแผ่นยาว มีเส้นบรรทัด
สีหมึกยังสดใส   ลีลาการเขียนของพี่  ที่เหมือนพี่มายืนจ้ออยู่ตรงหน้า

ทำไมน้องจึงรู้สึกเหมือนเราเพิ่งนั่งคุยกันเมื่อไม่นานมานี้เอง....

น้องยังจำรสชาติน้ำพริกกะปิ ที่มีกะปิอย่างดี  กุ้งแห้งอย่างดี เป็นเครื่องปรุงได้ดี
กุ้งแห้งสีส้มอ่อนตัวอ้วน ๆ ในกระป๋องใบใหญ่  ที่พี่ชอบยกมาอวด
คุยว่ามีคนเอามาฝาก  แล้วเปิดฝาหยิบกินเอา ๆ  ยังกับกินขนม  ทั้งทีึ่่่มันก็ยังเค็มอยู่ดี

พริกขี้หนูสด  กระเทียมสด  มะเขือพวง  กับน้ำตาลโตนดอีกนิดหน่อย
โขลกรวม ๆ กันเข้าไป  คลุกเคล้ากับกะปิและกุ้งแห้ง แล้วก็บีบมะนาวที่เด็ดมาจากต้นท้ายครัว
เติืมน้ำขลุกขลิก (บางคนไม่ยอมให้เติมเด็ดขาด)  คนให้เข้ากัน

กินกับข้าวสวยหุงร้อน ๆ
เด็ดยอดผักบุ้งริมสระมาลวก  หรือยอดกระถินข้างรั้วสักกำมือหนึ่งมากินด้วย
มีปลาทูทอดสัก 2 -3 ตัวยิ่งวิเศษ
แค่นั้นก็เอร็ดอร่อย   น้ำหูน้ำตาเล็ด

มื้อเย็นพุงกางผ่านไป  ก่อนจะเริ่มการสนทนาสัพเพเหระทางวรรณกรรมหรืออื่น ๆ
ไปจนกระทั่งดึกดื่น   มีน้ำชากาแฟตามอัธยาศัย
มีแต่พี่นั่นแหละที่ไม่กินกาแฟ  พิลึกคน

ดึกแล้ว  สมาชิกคนไหนทนไม่ไหวก็เอนตัวลง
ทำท่าตะแคงฟังแบบตาปรือ ๆ  แล้วก็ค่อย ๆ ร่วงผล็อย หลับกรนไปก่อนเพื่อน
เสียงคนอื่นเดี๋ยวเบา เดี๋ยวดัง  แทรกเสียงหัวเราะเฮฮา ผ่านเข้ามาในโสตประสาท

บางคนนอนเอาแรงได้หน่อยก็ลืมตาตื่นขึ้นมากิน  แล้วจ้อกันต่อ
ใช้ชีวิตเหมือนเครื่องจักรแรงม้าสูง  ในวันที่ยังมีกำลังวังชา

บางครั้งก็ทำตัวเหมือนยิปซีร่อนเร่กลางทะเลทราย
ไปนอนบ้านคนนั้น คนนี้  แบบไม่กลัวคำนินทา - เพราะไปกันเป็นฝูง
ความสวยความงามแบบหญิง ๆ ไม่เคยไยดี  เอาแต่เนื้อ ๆ
เพื่อนชายได้แต่ส่ายหัว  ที่พวกหญิงหึก (ห้าวบวกถึก) ทั้งหลายไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย
ไม่เคยหยุดท้อถอย

นั่งคุย นอนคุยกันซะขนาดนั้นแล้ว  ก็ยังเขียนจดหมายตามมาคุยกันอีก
ฉบับแล้วฉบับเล่า  คนแล้วคนเล่า
สมกับเป็นนักเขียน (และนักคุย) เสียจริง ๆ

น้องรู้มาว่า พี่เขียนจดหมายถึงใครคนหนึ่งทุกวัน
เป็นเวลานับสิบ ๆ ปี ไม่เคยเว้น
ใครคนนั้น เป็นคนที่มีความหมายต่อพี่มาก
บุรุษไปรษณีย์คงจะมีคำถามกับจดหมายลายมือนี้

สิ่งที่น้องอยากรู้ก็คือ..
คนรับยังเก็บจดหมายหลายพันฉบับนั้นอยู่หรือเปล่า
และเธอรู้สึกกับมันอย่างไร..

หากมีเวทมนตร์
น้องอยากเสกให้จดหมายกองนี้ไปสถิตอยู่ในพิพิธภัณฑ์ที่ไหนสักแห่ง
ที่จะบอกให้โลกรู้ว่า  นี่แหละคือความรัก ที่ชายคนหนึ่งมีต่อหญิงสาวของเขา..
พี่อย่าเพิ่งด่าหรือทำท่าคลื่นไส้  เพราะน้องพูดออกมาจากใจจริง

"...เราเพิ่งเจอคนแปล วิมานลอย  ผู้หญิงคนนั้นแปลได้ไง  แค่เพียงอายุ 19
เรานั่งคุยกันอย่างมีความสุขยิ่ง  อายุแค่นั้นก็พบแล้วว่าคนเรามีหลายด้าน
และมีพัฒนาการในตัวละคร   งานแปลดี ๆ นั้นหนักนะ  ต้องลงทุน  ซื้อดิคฯชุดใหญ่ ๆ ราคาแพง
ต้องพิมพ์ ต้องอ่านสารพัด  เป็นงานที่ไม่คุ้มกันเลย  คนพวกนี้เป็นคนใจถึง.."

"...เมื่อคืนเราก็คุยกับเพื่อนฝรั่งเศสเรื่องการแปล  มันชอบพูดว่า  ถึงจะภาษาไหนก็ถ่าย
ความงามไปไม่ได้หรอก  เราว่าแล้วจะให้ทำไง มันก็ต้องแปล  และขั้นแรกก็คงไม่ถึงขั้น
แต่มันก็จะมีขั้นเหนือกว่าตามมาอีก  ก็เอาล่ะ  มันฝรั่งเศส  หยิ่งในภาษาตนว่าเพราะ
โธ่..กะไอ้ลีลาหวาน ๆ เสียงนุ่ม ๆ น่ะ  เอาเข้าจริงภาษาอังกฤษมีอะไรที่ทั้งหวาน
ทั้งหนัก เข้ม ได้หมด   ใครนะว่าภาษาฝรั่งเศสเพราะที่สุด  แต่ทำไมญี่ปุ่น  กุ ๆ กิ ๆ
แต่ฟังดี ๆ สิ  เสียงออกจากลำคอของเขาก็มีทุกรส  ของเราก็มีดีอย่างของเรา
การตกเสียง  น้ำหนักเสียง  ลองฟังคนมีอารมณ์พูดสิ  การตกคำ  จังหวะ...
ไม่มีใครคิดทำเรื่องรสคำ  มันต้องพูดให้ได้อารมณ์ความ  ได้รสเสียง....."

นึกเห็นท่าทางและรสเสียง รสคำ ของพี่เวลาเล่า ไม่ต่างจากดูละครเวทีเลย

"..ไปหาชีวิตและผลงานของกุสตาฟ โฟลแบร์ต มาอ่านซะ  แล้วจะเห็นเองว่า โฟลแบร์ต
ยิ่งใหญ่ขนาดไหน  ที่สุดเท่าที่มีย่อยมาให้อ่านกันแหละ   โอ๊ย..เขาเกิดมาเขียน
ลองดูวิธีทำงานของเขาสิ  มันเป็นงานของชีวิตทีเดียว  ทัศนะเขา  โอย..สารพัด
แล้วเธอก็จะเห็นว่า  ศิลปินแท้นั้นเป็นอย่างไร...."

"..ไม่มีเรื่องดีหรือเลวในโลกนี้  มีแต่เรื่องที่เขียนดีหรือไม่ดีเท่านั้น  โฟลแบร์ตว่า..."
"..เขียนดีไม่ดีก็ช่าง  ขอให้สนุกกับมัน"
"..หรือว่าเราแต่ละคน - ในประเทศนี้  ต่างก็ทำอะไรได้ครึ่ง ๆ กลาง ๆ อย่างนี้แหละ..."

เอ๊ะ ! นี่ว่าเราด้วยนี่หว่า..

"..เฮ้อ..เธอยังมีปีเหลืออีกมาก  หากบ่มดี ๆ ก็จะสุกก่อนงอมได้
ยังมีเวลาเรียนแดดร้อนลมแรงหรอก  แล้วอย่าหล่นเสียก่อนล่ะ..."

น้องหัวเราะกับตัวเอง ด้วยประโยคที่พี่บอกว่า  เธอยังมีปีเหลืออีกมาก..
น้องรู้สึกเหมือนตัวเองกำลังยืนอยู่บนขอบบ่อของกาลเวลา
แล้วชะโงกหน้าลงไปสำรวจ  ค้นหาสาระจากวันเวลาที่ล่วงผ่าน
น่าตกใจอยู่บ้าง  ที่น้องมองไม่เห็นอะไรเลย..

"ขณะที่อะไร ๆ ตกต่ำ.. เธอจะได้เห็นความโลเล ไม่มั่นคง เสียหลัก
ตกจากเส้นทางที่เคยเดิน  งานเขียนจะไม่เป็นงานที่มีเสน่ห์น่าพิสมัยอีกต่อไป
นักเขียนมาถึงทางแยกแล้วไง
พวกนักวิจารณ์ก็ร้องเพลงไม่ออก  ทุกส่วนในสังคมมันทรุดเสื่อม
วงการหนังสือหรือจะยืนหยัดอยู่ได้
แต่สภาพอย่างนี้แหละที่ท้าทาย...
ยิ่งสังคมทรุด  นักเขียนก็น่าจะต้องยิ่งตื่น
เสกสร้างความหวัง กำลังใจให้ผู้คน...."

"แหมโว้ย  เวลามันช่างมีน้อยเหลือเกินนะ  ไม่พอให้เราใช้เล้ย..
เธอเองก็ระวังนะ  ไม่มีเวลาเขียนอ่าน  อย่าเผลอนา
เวลาเราพูดอย่างงี้เนี่ย  เราก็เตือนตัวเองด้วยแล
สัปดาห์จะผ่านไป  เดือนจะผ่านไป  ปีก็เร็วเหลือเกิน..."

ใช่ค่ะ  ปีก็เร็วเหลือเกิน
เร็วจนอยากรู้ว่าเราแต่ละคนเติมอะไรลงไปในช่องว่างแห่งกาลเวลาของตัวเองกันบ้าง

ส่วนหญิงยิปซีฝูงนั้น ต่างก็มีวิถีชีวิตแยกกันไปคนละทิศละทาง
บางคนก็ไปอยู่ต่างแดน  บางคนก็เบื่อโลก ชิงจากไปก่อนวัยอันควร
และบางคนก็เชื่อคำของผู้หวังดีที่บอกว่า ให้หาผัวให้ได้เสียก่อนจะมาคิดทำอะไรกัน
เป็นคำแนะนำที่ทุกคนพากันขำกลิ้งในครั้งแรก  แต่ที่สุดก็ยอมรับว่าเป็นความจริง


พี่ล่ะคะ..
วันนี้ของพี่ยังเป็นวันของยอดมนุษย์อยู่ไหม

พี่ยังเขียนจดหมายถึงใครบางคนทุกวันหรือเปล่า
แล้วพี่ยังมีแรงขี่จักรยานไปดูดอกไม้กวาดอยู่ไหม
"ดอกไม้กวาดที่รับแดดแข่งกับดอกหญ้าและอากาศหนาว
สีเขียว ๆ ของต้นไม้เริ่มอมทอง  ไม่นานใบไม้จะสีสุก  แล้วก็หล่นโปรย..."

พี่ยังแอบเขย่าต้นเพกาแรง ๆ ให้ฝักมันแตก
เพื่อจะโปรยฝูงเมล็ดฟูฟ่องล่องลมลงมาให้ดูอีกหรือเปล่า

ดอกหิรัญญิการ์ที่บ้านพี่ยังเป็นสีชมพูอยู่ไหม
ในขณะที่บ้านคนอื่นเขาเป็นสีขาวกันหมด

หน้าหนาวของทุกปี  แขกของพี่คงยังเต็มบ้านอยู่กระมัง
แล้วพี่ยังต้องตามเก็บถ้วยชามอยู่อีกหรือเปล่า
ยังมีใครเอากะปิดี เอากุ้งแห้งตัวโต ๆ มาฝากพี่อีกไหม
แต่มันไม่เหมาะจะเป็นของกินเล่นของผู้สูงวัยหรอกนะคะ เพราะมันเค็ม
ความดันสูงจะเรียกหา

"ได้ไปเห็นงานที่คนอื่นเขาเขียนกันแล้วอิ่ม..ไม่อยากดูอีก  อยากทำของตัวเองบ้าง"
กำลังใจของพี่ช่างมีล้นเหลือเฟือฟาย เหมือนพวกยอดมนุษย์
และพี่ก็อยากดันให้คนอื่นเป็นยอดมนุษย์เหมือนพี่ด้วย
แต่จะมีสักกี่คนที่ทำได้...


อ่านจดหมายของพี่แล้วก็รู้ว่า
เวลามันผ่านไปนานแล้วจริง ๆ...











วันจันทร์ที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2556

เมี่ยงคำ







เมี่ยงคำเป็นอาหารวิจิตรอย่างหนึ่ง  ที่ไม่รู้ว่ามีกำเนิดมาจากไหน  
จะเรียกว่าเมี่ยงคำของเราได้หรือเปล่าก็ไม่รู้

เหมือนพืชผักหลายชนิดที่เคยเข้าใจว่าเป็นของไทยแท้ แต่แล้วก็กลับไม่ใช่
เช่นมะละกอ  เพราะไปนึกเชื่อมโยงกับส้มตำ อาหารไทยที่โ่ด่งดังไปทั่ว

นาน ๆ หรอกฉันจึงจะนึกอยากกินเมี่ยงคำ  
ค่าที่เครื่องเคราดูวุ่นวายหลายอย่าง ทั้งเครื่องสด เครื่องแห้ง
ทำให้ไม่ค่อยมีโอกาสได้ทำกินเองสักเท่าไร

คิดถึงเมี่ยงคำขึ้นมาเมื่อใด ก็มักจะคิดถึงเรื่องสั้นชื่อ "เมี่ยงคำ" 
ของ "มน.เมธี"  นักเขียนในดวงใจคนหนึ่งขึ้นมาทุกครั้ง

แต่เมี่ยงคำที่กำลังจะพูดถึงเจ้านี้ ไม่มีอะไรเชื่อมโยงหรือเกี่ยวข้องกับยาย
ในเรื่องของ มน.เมธี หรอก
เพราะคุณยายคนนี้ของฉัน เป็นคนผิวขาว หน้าตาหมดจด สะอาดสะอ้าน
เข้ากับป้ายที่เขียนวางไว้ในกระจาดของยายว่า  "เมี่ยงคำยายเนื่อง  ตำรับชาววัง"

คุณยายเนื่อง ขายเมี่ยงคำแพงกว่าเจ้าอื่น - นี่เป็นความรู้สึกครั้งแรกของฉัน
ที่ทำให้ตัดสินใจไม่ซื้อในครั้งนั้น
ต่อมา เมื่ออยากกินมาก ๆ เข้า่จึงลองซื้อ  และรู้ว่าคุณยายพิถีพิถันกับเครื่องปรุงทุกอย่าง
และทำได้อร่อย สมราคา

เมี่ยงคำจะอร่อย  นอกจากส่วนประกอบทั้งหลายจะต้องใหม่และสดแล้ว
ส่วนสำคัญที่สุดน่าจะเป็นน้ำกะปิ
น้ำกะปิของคุณยายเนื่อง ข้นจนน้ำตาลขึ้นเกล็ด 
เอามาอุ่นในไมโครเวฟสักเสี้ยวนาที  เกล็ดน้ำตาลจะละลายจนอร่อยพอดี

เป็นกลยุทธการขายของคุณยายหรือเปล่าไม่รู้ 
ที่ไปนั่งหั่นนั่งซอยเครื่องประกอบต่าง ๆ ให้ลูกค้าเห็น
เพื่อจะได้รู้สึกว่ากว่าจะได้กิน  มันช่างละเอียดลอออะไรปานนี้

ถ้าเป็นเจ้าอื่น ร้อยทั้งร้อยก็จะทำจนเสร็จ
บรรจุถุง ถุงเล็กถุงน้อย  อาจจัดวางบนจานโฟม
ใส่ถุงพลาสติก  มัดหนังยาง แล้วก็วางขาย

แต่คุณยายเนื่่องยังคงก้มหน้าก้มตาซอยหอม ซอยขิง หั่นมะนาว
สาละวนอยู่กับงาน จนแทบไม่เคยเห็นยายมองหน้าใคร
แม้แต่เมื่อเจรจากับลูกค้า ยายก็ยังคงก้มหน้าทำงานของยายอยู่

ตั้งแต่เป็นลูกค้าของยาย  ฉันก็ไม่เคยซื้อเมี่ยงคำเจ้าอื่นอีกเลย

วันหนึ่ง ฉันนึกอยากกินเมี่ยงคำจึงไปตลาด
เห็นคุณยายเนื่องนั่งอยู่ที่ประจำในท่าเดิม
ขะมักเขม้นก้มหน้าก้มตา ซอยนั่นหั่นนี่เหมือนเคย

ในกระจาดของยาย มีเมี่ยงคำที่ทำสำเร็จแล้วเพียงชุดเดียว
นอกนั้นเป็นถุงมะพร้าวคั่ว ที่ยายเอาถั่วลิสงโรยทับไว้ด้านบน
มีถุงถั่วลิสงคั่วล้วน ๆ  และน้ำกะปิถุงค่อนข้างใหญ่อยู่ 1 ถุง

ฉันยืนสำรวจอยู่หน้ากระจาด
ยายเงยหน้าขึ้นนิดหนึ่ง แล้วก็ก้มลงทำงานต่อ
พลางบอกโดยที่ฉันยังไม่ได้พูดอะไรว่า
"ชุดนี้มีคนจองแล้วค่ะ"

"............"

"เอาไปทำเองมั้ยคะ"  ยายเสนอ

ความหมายก็คือให้ฉันซื้อมะพร้าวคั่ว ถั่วลิสงคั่ว และน้ำกะปิ
ที่ยายแยกใส่เป็นถุง ๆ ไว้  แล้วไปหาพวกเครื่องเคราของสดเอาเอง

"ไม่เป็นไร... รอได้ค่ะคุณยาย"  ฉันยืนกราน  เพราะตัวขี้เกียจมีอำนาจเหนือ
คิดว่าจะยืนรอให้ยายจัดให้เพียง 1 ชุด คงไม่นานสักเท่าไร

"ไม่มีแล้วล่ะค่ะ  ที่เขาสั่งไว้ยายก็ยังทำให้เขาไม่ทันเลย"  ยายย้ำ

ฉันลังเล..  ตัวขี้เกียจกับตัวอยากกำลังถกเถียงกันอยู่ข้างใน

ในที่สุดตัวอยากก็ชนะ   คราวนี้คุณยายมีข้อเสนอใหม่มาอีก

"เอาไปหมดเลยมั้ยคะ  น้ำกะปิเหลือถุงเดียว  50  บาท
มะพร้าวคั่วกับถั่วเหลือ 5 ถุง  ยายให้หมดเลย  คิดคุณแค่ 90  บาท"

"โอย..กินไม่หมดหรอกค่ะคุณยาย  เยอะแยะขนาดนี้  เอาถุงเดียวก็พอค่ะ"

"เอาไปเถอะค่ะ  ใส่ตู้เย็นไว้ไม่เสียนี่คะ  หมดนี่ก็ไม่มีอีกแล้ว
ยายจะไม่ได้มาขายอีกหลายวันนะคะ"

"อ้าว !  ยายจะไปไหนล่ะคะ"
"ไปหาหมอ  หมอนัดค่ะ"
"เป็นอะไรเหรอคะยาย"
"ก็เจ็บแข้งเจ็บขานี่แหละค่ะ"

"ตกลงค่ะ  เหมาหมดก็ได้"  ฉันตัดสินใจฉับพลัน  
เพราะสงสารยาย  หรือเพราะตะกละ กลัวตัวเองจะอดกินก็ไม่รู้
ฉันหยิบถุงถั่วลิสงคั่วล้วน ๆ ที่ยังเหลืออยู่เพียงอย่างเดียวในกระจาด
ใส่รวมไปอีก 1 ถุง  บอกยายว่า
"เป็น 100 พอดีนะคะยาย "   ยายพยักหน้ายิ้มให้นิดหนึ่ง
ก่อนจะก้มหน้าก้มตาทำงานต่อ

คงหายอยากไปอีกนานแหละแก - ฉันพูดกับตัวเอง

ฉันไม่เห็นคุณยายเนื่องอีกเลย
ตรงที่ที่ยายเคยนั่ง มีแม่ค้าคนอื่นเข้ามานั่งขายแทน
บางวันฉันเดินเกร่เข้าไปถามแม่ค้าข้าง ๆ
ไม่มีใครได้ข่าว  และไม่มีใครสนใจ...

ฉันกินมะพร้าวคั่วหมดไปแล้ว 
เหลือน้ำกะปิที่เทใส่ขวดใบย่อม ๆ และแช่ตู้เย็นไว้ อีกนิดหน่อย
กะว่าถ้ายายมา จะบอกยายว่า  น้ำกะปิของยายน่ะ
แม้จะแช่เย็นไว้จนป่านนี้  รสชาติก็ยังอร่อยเหมือนเดิม


แต่นี่มันก็ตั้ง  6 - 7 เดือนเข้าไปแล้วนี่นะ
ทำไมยายยังไม่กลับมา....






วันจันทร์ที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2556

คิดถึงป้า









เส้นทางเดินรถสายเชียงใหม่ - แม่ฮ่องสอน  ต้องผ่านอำเภอจอมทอง และอำเภอฮอด
ฉันคุ้นเคยกับเส้นทางสายนั้นพอควร

ก่อนถึงอำเภอฮอด  เลยอำเภอจอมทองไปสักสิบกว่ากิโลเมตร ก็จะถึงบ้านป้า

ฉันไม่เคยรู้จักป้ามาก่อน  ทั้งที่คนอื่นจำนวนไม่น้อยคงรู้จักป้ากันมานานแล้ว
ครั้งแรกที่ฉันลองแวะ ก็เพียงเพราะติดใจชื่อบ้านของป้า
ติดใจต้นไผ่ที่เรียงราย ร่มครึ้ม

ฉันรู้ว่าป้าทอผ้าก็จากป้ายปากทาง
แวะดูก็ตามประสาคนชอบผ้าฝ้ายคนหนึ่งเท่านั้นเอง

แวบแรกที่เห็นผ้าทอของป้า ฉันถึงกับตะลึง
บอกได้เลยว่า  ผ้าของป้าไม่มีผ้าทอที่ใดเหมือน
ตรงไหนและอย่างไรฉันก็อธิบายไม่ถูก  รู้แต่ว่าผ้าป้างามกระทบใจ

มีสิ่งของไม่กี่อย่าง และคนไม่กี่คนหรอกที่จะทำให้เรารู้สึกว่าใจถูกกระทบได้

มีอะไรบางอย่างที่รู้สึกเหมือนงานศิลปะแถบลาตินอเมริกา
ที่เคยเห็นในหนังสือ หรือในภาพ และก็มีบางส่วนที่เหมือนมาจากภาพเขียนโบราณ

จากวันแรกวันนั้น  ฉันจึงได้รู้ว่า ที่แท้ป้าคือศิลปิน
หลังจากนั้นไม่นานป้าก็ได้รับการยกย่องให้เป็นศิลปินแห่งชาติ
ป้าแสงดา  บันสิทธิ์

นับจากวันแรกวันนั้น  ก๊วนของเรา 4-5 คน ก็พากันไปให้ป้าเห็นหน้าบ่อย ๆ
ถึงจะเบี้ยน้อยหอยน้อย  แต่ก็ใจใหญ่
พากันขนซื้อผ้ากลับมาทุกครั้งอย่างยั้งไม่อยู่  ขอยืมเงินกันวุ่นวาย

จังหวะนั้น ฉันได้ทุนก้อนเล็ก ๆ จากหน่วยงานแห่งหนึ่ง มาเก็บข้อมูลเรื่องราวของป้า
เงื่อนไขที่จะได้ไปหาป้าบ่อย ๆ จึงมีมากขึ้น

บ้านไม้สองชั้นหลังใหญ่ของป้า ร่มรื่น  น่าอยู่
ทัศนียภาพตรงระเบียงริมแม่น้ำปิงนั้นเหมือนแดนสวรรค์

"เดิมบ้านหลังนี้คือบ้านของเจ้าแก้วนวรัฐ  เจ้าผู้ครองนครองค์สุดท้ายของเชียงใหม่
เป็นบ้านพักตากอากาศของท่าน"   ป้าบอก

ป้าขอซื้อจากเจ้าในราคาสองหมื่นบาท
รวมกับที่ดินด้านหน้าราว 200 ไร่  (ราคาเมื่อเกือบร้อยปีก่อน)

นับว่าป้าและครอบครัวของป้าเอ็นดูพวกเรามากโขอยู่
เราจึงมีโอกาสบุกครัว กินน้ำพริก กินแกงฝีมือป้า
"กินจนลืมตาย"  ต้องพูดอย่างนี้
ข้าวนึ่งร้อน ๆ กินกับน้ำพริกตาแดง  ผักลวก
ผักโขมบ้านต้นเล็ก ๆ รากสีแดง  ดอกงิ้วป่ารสฝาดเฝื่อน เข้ากับน้ำพริกได้รสชาติที่ลงตัว
อร่อยไม่รู้ลืม..

ป้าเคยให้ย่ามพวกเราคนละใบ  เป็นผ้าย้อมคราม ลายน้ำไหล
บางคนประจบป้าเก่ง  ได้ตุงแขวนฝีมือป้าไปคนเดียว เพราะมีเหลือเพียงชิ้นเดียว
บางครั้งป้าก็ให้ผ้าคนละชิ้น  เป็นฝ้ายตุ่นสีธรรมชาติที่หายากแล้ว

ตกกลางคืน  บางครั้งพวกเราก็นอนที่เรือนหลังเล็ก ซึ่งอยู่ด้านหน้าเรือนหลังใหญ่
แต่บางครั้งป้าก็เมตตา ให้เรามากางมุ้งนอนหน้าห้องของป้าที่เรือนหลังใหญ่
"จะได้คุยกันดึก ๆ "  ป้าบอก

ป้าถอดมวยผมสีเทาเงิน ที่ยาวเกือบถึงกลางหลัง  สางผมอย่างบรรจง
เล่าเรื่องราวชีวิตของป้า  เหมือนทุกสิ่งแจ่มจ้าอยู่ในความทรงจำ...

ขุมความรู้เรื่องผ้า  เรื่องสี  เรื่องต้นไม้  ที่อยู่ในตัวป้า
ได้ถูกส่งผ่านออกมาเป็นผ้างาม  ผืนแล้วผืนเล่า
เป็นตำนานเรื่องราวที่เล่าขานกันไม่รู้จบ
เป็นขุมทรัพย์ของแผ่นดินที่น่าภาคภูมิใจ

ทุกครั้งที่หยิบภาพของป้าขึ้นมาดู
ฉันมักจะนึกเห็นภาพเด็กหญิงตัวเล็ก ๆ คนหนึ่ง
เป็นเด็กคนเดียวในหมู่บ้าน ที่ไม่ยอมวิ่งไปรับของแจก
ด้วยความคิด  ความเชื่อมั่นที่เด็ดเดี่ยวของตัวเอง
ว่าเรามีมือ มีตีน ทำงานได้  ทำไมจะต้องไปรอรับของแจก

แม้ว่าคณะที่ล่องเรือผ่านและแวะแจกของให้ชาวบ้านในครั้งนั้น
จะเป็นขบวนเรือของเจ้าดารารัศมี  พระชายาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ตาม

จากเด็กหญิงผู้เด็ดเดี่ยวในวันนั้น
เธอได้เติบโตขึ้น ผ่านร้อนผ่านหนาว  ผ่านชีวิตลำเค็ญ
สร้างสรรค์งานศิลปะบนผืนผ้ามาอย่างต่อเนื่อง ยาวนาน
เป็นทั้งความงดงามและศักดิ์ศรีของแผ่นดินเกิด

ป้าแสงดาจากเราไปเมื่อเดือนมกราคม  พุทธศักราช 2536
20 ปีผ่านไป...
ดอกงิ้วป่าร่วงหล่นอย่างเหงาเศร้าท่ามกลางลมหนาว
แต่เรื่องราวของป้ายังมีชีวิต  มีพลัง และงดงามเสมอ
ในบ้านไม้หลังใหญ่   ริมฝั่งแม่น้ำปิง
ที่ชื่อ  "บ้านไร่ไผ่งาม"














วันเสาร์ที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2556

คนเขียนหนังสือที่ถูกจับได้








"พี่ยังเขียนหนังสืออยู่หรือเปล่าครับ ? "

ฉันชะงัก  ไม่คิดว่าจะได้ยินคำถามแบบนี้  ในเวลาและสถานที่เช่นนี้

"....................."

ตอบไม่ทันและไม่ทันตอบ  สีหน้า แววตาของฉัน คงบ่งบอกถึงความไม่คาดคิดและงุนงง
ชายหนุ่มระบายยิ้มไปทั้งหน้า   ฉันอึก ๆ อัก ๆ  หน้าจะแดงด้วยหรือเปล่าก็ไม่รู้
ถามเขาตะกุกตะกักไปว่า

"รู้...รู้ได้ไง  ว่าพี่เขียนหนังสือ"
"ผมอ่านเจอ"

เออสิ  ก็เขาขายหนังสือนี่นา  ฉันบอกตัวเอง  ยามว่างไม่มีอะไรทำ  ก็คงอ่านหนังสือจนหมดแผง
เมื่อไม่นานมานี้ มีนิตยสารผู้หญิงฉบับหนึ่งมาสัมภาษณ์ฉัน ในฐานะคนเขียนเรื่องสั้น
ถ่ายรูปลงไปเสียครึ่งหน้า
เขาคงจะอ่านเจอจากเล่มนี้แหละ

"ไม่คิดว่าคุณจะสนใจ"   ฉันเปรยแบบถ่อมตัวนิด ๆ

"ผมรู้นามปากกาพี่ด้วยนะ"

เอาล่ะสิ   นึกย้อนไปแบบเข้าข้างตัวเอง  มิน่าล่ะ ทุกครั้งที่ฉันจอดรถซื้อหนังสือพิมพ์จากแผงของเขา  ซึ่งเป็นแผงที่อยู่ใกล้บ้านที่สุด  เด็กหนุ่มจะกุลีกุจอหยิบให้  และมักชวนพูดคุยแบบคนมีอัธยาศัย
บางครั้งยังอาสาไปเอาหนังสือบางเล่มที่ฉันเอ่ยถาม  แต่เขาไม่ได้เอามาขาย  จากร้านใหญ่ในเมืองมาให้ด้วย

หน้าตาคมเข้มหล่อเหลาของเขา มีส่วนละม้าย ศุ บุญเลี้ยง  เพียงแต่ตัวเล็กกว่า

วันนั้นฉันซื้อหนังสือพิมพ์ด้วยความรู้สึกแปลก ๆ  เหมือนเด็กเล่นซ่อนหา แล้วถูกจับได้ว่าแอบอยู่ตรงไหน  เหมือนเสียอิสรภาพไปนิด ๆ  เป็นอิสรภาพที่จะอยู่อย่างผู้สังเกตการณ์ ที่ไม่มีใครรู้จัก
เป็นความพึงพอใจส่วนตัว

เด็กหนุ่มชอบวาดรูป  บางวันฉันเห็นเขานั่งระบายสีภาพบนขาหยั่ง  หลังแผงหนังสือ เมื่อชะโงกดู เขาทำท่าเขิน พลางพูดถ่อมตัวว่า

"วาดไปอย่างนั้นแหละครับ  ชอบ"

บางภาพที่วาดเสร็จแล้ว  ใส่กรอบห้อยติดฝาบ้านด้านใน  ติดราคาขายไว้ด้วย  เกือบทั้งหมดเป็นภาพวิว ทิวทัศน์ในชนบท  ประเภทกองฟาง  ต้นมะพร้าว  ทุ่งนา

ฉันเคยเอากระดาษทำมือที่มีอยู่ไปให้เขาทดลองใช้หลายแผ่น  เขาตอบแทนกลับมาด้วยภาพวาดดอกไม้สีม่วง  ทำท่าถ่อมเนื้อถ่อมตัวตามเคย

เมื่อเปลี่ยนสภาพเป็น "คนเขียนหนังสือที่ถูกจับได้"  ฉันก็ดูเหมือนจะระวังตัวขึ้นนิดหนึ่งเมื่อแวะซื้อหนังสือพิมพ์  เขายังคงถามไถ่เรื่องงานเขียน   แล้ววันหนึ่งก็บอกความในใจว่าอยากให้ฉันเขียนเรื่องราวของลูกชายเขา ที่กำลังป่วยด้วยโรคชนิดหนึ่งอยู่   พลางเล่าเรื่องราวชีวิตครอบครัว ด้วยหมายว่าฉันจะเป็นนักเขียนที่สามารถบันทึกเรื่องราวของเขาออกมาเป็นนวนิยายได้

หวังมากไปนะพ่อหนุ่ม

ฉันรับฟังเรื่องราวคร่าว ๆ ของเขาอย่างเห็นใจ  แต่ไม่ได้รับปากว่าจะเอาไปเขียน แม้จะรู้สึกติดค้างบ้างเล็กน้อย ที่เขาให้ค่าคนเขียนหนังสืออย่างฉันมากไปนิด

แต่หลังจากนั้นไม่นานนักแผงหนังสือของเขาก็ปิดตัวลง   ร้านค้าที่อยู่ติดกันเห็นเป็นโอกาส จึงเข้าสวมรอยกิจการต่อทันที  เป็นจังหวะเดียวกับที่ฉันเลิกซื้อหนังสือพิมพ์อ่าน   รู้จากคนแถวนั้นว่าชายหนุ่มไปทำงานรับเหมาก่อสร้าง

ฝีมือทางศิลปะของเขา  ย้ายฐานจากผืนผ้าใบ ไปสู่ตึกรามบ้านช่องที่เขามีส่วนก่อสร้าง   งานหนัก ๆ อย่างนั้น คงทำให้เขาไม่มีเวลาที่จะอ่านหนังสือมากเหมือนตอนที่ขายหนังสืออีกแล้ว


การที่เราไม่ได้พบกันอีกเลย  ทำให้คนเขียนหนังสือที่ถูกจับได้อย่างฉัน  รู้สึกโล่งใจขึ้นมาเล็กน้อย  เหมือนได้รับอิสรภาพกลับมาอีกครั้งหนึ่ง





วันพุธที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2556

หลอกชบา





















อาจารย์นครถือเป็นญาติผู้ใหญ่ที่ครอบครัวเรารู้จักมานาน
เมื่อมาที่บ้านอาจารย์มักมีของดี ๆ มาฝาก
ถ้าไม่ใช่หนังสือ (ที่มักไม่ค่อยเห็นวางขายทั่วไป)
ก็จะเป็นต้นไม้แปลก ๆ  แต่ละต้นล้วนแต่ไม่เคยได้ยินชื่อ
หรือรู้จักมาก่อน

อาทิเช่น ประดู่ม่วง  ครั้งนั้นอาจารย์ไม่ได้มาเอง แต่ฝากคนอื่นมาให้ 
มีจดหมายน้อยแนบมา ความว่า

"ฝากต้นประดู่สีม่วงมาให้  งามทั้งดอก งามทั้งทรวดทรง อีกสัก 10 ปีคงเห็นดอก"
ต้นประดู่ม่วงต้นนั้นเล็กกระจี๊ดเดียว อยู่ในถุงดำใบเล็กจิ๋ว

เวลาผ่านไปนับสิบปี... 
ประดู่จิ๋วต้นนั้น  เดี๋ยวนี้สูงใหญ่ แข็งแรง  
ออกดอกสีม่วงแดงเป็นช่อเล็ก ๆ  ให้เชยชมมาหลายปีแล้ว

นอกจากนั้นยังมีต้น "คำมอกหลวง"
ไปค้นดูในหนังสือจึงรู้ว่าเป็นไม้ป่า ตระกูลพุด ดอกสีขาว
แต่เมื่อใกล้ร่วงโรยรา ดอกจะกลายเป็นสีเหลืองเข้ม

ต้นโอ๊ค  มาเป็นคู่  ตอนที่อาจารย์เอามาให้ก็ดูไม่ค่อยสดชื่นเท่าไร
ฉันเปลี่ยนดิน  เอาเธอลงกระถางไว้ก่อน

เธออยู่กับเรานานเป็นปีเหมือนกัน ก่อนจะจากไปโดยไม่รู้สาเหตุ
มาพร้อมกันและไปพร้อมกัน

ที่นี่คงไม่ใช่ถิ่นของเธอ
เธอคงพยายามปรับตัวแล้ว  แต่ไม่สำเร็จ
หรือเป็นฝ่ายเราเองที่ไม่เข้าใจเธอ ?

ต้นไม้บางต้นที่ฉันไม่รู้จักชื่อ  ก็ได้รู้จากอาจารย์นี่แหละ

มีอยู่ต้นหนึ่ง รูปใบยาว ๆ  ลักษณะคล้ายต้นกวนอิม
หรือไม้ตระกูลวาสนา  แต่ใบยาวเรียวและเล็กกว่า
เพียงได้เห็น  อาจารย์ก็ร้อง อ๋อ...ลากเสียงยาว

"ขี้เปี้ยลุกฟ้อน"
เราฟังชื่อพร้อมคำอธิบายความหมายแล้วก็พากันหัวเราะ

ขี้เปี้ย - เป็นคำพื้นเมืองทางเหนือ  หมายถึงคนง่อยเปลี้ยเสียขา
ต้นนี้คงเป็นสมุนไพร ประเภทบำรุงกำลัง
ขนาดว่าคนเป็นเปลี้ยเป็นง่อยได้กินแล้วยังลุกขึ้นมาฟ้อนมารำได้
คิดดูก็แล้วกันว่าให้แรงดีขนาดไหน

วันหนึ่งเมื่อมาเยี่ยมเราที่บ้าน อาจารย์ถามว่า
"รู้จักวิธีหลอกชบาหรือเปล่า ?"

.....!!!..............

อาจารย์ขยายความว่า

"หลอกให้เค้าบานในเวลาที่เราต้องการไง
อย่างเราจะจัดงานเลี้ยงที่บ้านตอนเย็น เราก็เอากระดาษหนังสือพิมพ์
ห่อดอกเขาไว้ตั้งแต่เช้ามืด
พอตกเย็น  เราก็เปิดไฟให้สว่างโร่เลยนะ   แล้วค่อย ๆ แกะกระดาษออก
แกคงนึกว่าเป็นแสงแดดตอนเช้า  แกก็จะพากันบานนนน...ฮ่า  ฮ่า  ฮ่า.."

เสียงหัวเราะร่วนของเราจะดังไปถึงหูของต้นชบา
ที่ปลูกเรียงรายอยู่หน้าบ้านนับสิบต้นนั่นหรือเปล่าหนอ ?...



วันพฤหัสบดีที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2556

ปกติ - ธรรมดา








                                        ปกติ
                                        ธรรมดา
                                        คือคำที่ไม่ธรรมดา

                                       จะมีชีวิตเป็นปกติ
                                        เป็นคนธรรมดา ๆ

                                        ยากเสียยิ่งกว่ายาก




วันพุธที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2556

ดอกไม้ของแม่



ปีนี้แม่อายุย่างเข้า  83  เป็นคนแก่ที่หมอเคยบอกว่าสุขภาพดีกว่าคนแก่วัยเดียวกัน  แม่กินมังสวิรัติมานานกว่า 30 ปี  เป็นคนมีวินัยในตัวเอง เคร่งครัดในเรื่องการกินการอยู่  แม่จึงดูแข็งแรงที่สุดในบรรดาป้าน้า พี่น้องที่ยังเหลือกันอยู่เพียงสองสามคน

แม่เล่าว่าตอนที่ฉันเป็นเด็กเล็ก ๆ ฉันติดแม่มาก  แม่เคยป่วยเป็นโรคหัวใจ  ต้องนอนรักษาตัวนานนับเดือน  ฉันซึ่งอายุราว 3-4 ขวบ  น่าจะกำลังซน  กลับไม่ยอมไปเที่ยวเล่นที่ไหน  ได้แต่นอนอยู่ข้าง ๆ แม่  แม้ญาติพี่น้องจะพากันหลอกล่อด้วยขนม  หรือบอกว่าจะพาไปเที่ยวที่โน่นที่นี่  ผิดกับน้องชายที่ฉลาดกว่า จึงได้กินขนม ได้ไปเที่ยวอยู่บ่อย ๆ

พ้นช่วงวัยเด็กเข้าสู่วัยรุ่น พวกเราก็จะเลิกติดแม่  ต่างคนต่างมีโลกส่วนตัวของตัวเอง และไม่สนใจโลกของคนอื่น รวมทั้งแม่ของเราด้วย  เวลาในช่วงนี้ยาวนานไปจนถึงช่วงกลางคน ซึ่งเราเริ่มมีครอบครัว  มีความวุ่นวายอยู่กับลูกเต้าและการงานของตัวเอง  จนเหน็ดเหนื่อยเกินกว่าจะเหลียวหลังแลหน้าไปที่ไหน

กลับมาคิดถึงแม่อีกครั้งก็เมื่อลูกเริ่มโตจนไม่ติดเรา  แม่เริ่มแก่และเราก็ล่วงเข้ากลางคนตอนปลายเข้าไปแล้ว  ชีวิตคนสองรุ่นจึงเริ่มหวนกลับมาพบกันอีกครั้งหนึ่ง

บุญของเราที่แม่ยังอยู่ ยังแข็งแรง สุขภาพดี สติสัมปชัญญะสมบูรณ์  และที่สำคัญแม่เป็นคนแก่อารมณ์ดี ที่ใครก็อยากให้ไปอยู่ด้วย  ผิดกับคนแก่ของบางบ้านที่เคยได้ยินได้ฟังมา จนลูกหลานไม่อยากให้อยู่ด้วย ทั้งที่อาจเริ่มต้นด้วยความรู้สึกดี ๆ มาก่อน

แม่เห็นฉันชอบทำการ์ดดอกไม้แห้ง  แม่จึงอาสามาช่วยเก็บช่วยอัดดอกไม้   เริ่มจากดอกไม้ธรรมดา ๆพื้น ๆ ไม่กี่ดอก ไม่กี่ชนิด อย่างดอกเข็ม ดอกกุหลาบ  กลายมาเป็นพันเป็นหมื่นดอก หลากหลายนานาพันธุ์  เวลาของคนแก่นั้นยาวนานกว่าใคร  ถ้าไม่มีอะไรให้ทำก็จะมีแต่ความเหี่ยวเฉา  แม่สนุกกับงานนี้  มันเป็นงานที่เข้ากับนิสัยของแม่  ที่เป็นคนละเอียดลออ ถี่ถ้วน  ทำอะไรต้องทำให้ดี เป็นระเบียบเรียบร้อย  แม้แม่จะเคยบอกว่าสมัยสาว ๆ แม่เป็นคนใจร้อน โมโหร้าย - เราก็รู้ว่าแม่เป็นคนขี้โมโห  แต่พอแก่ตัวก็ผ่อนคลายลงตามวัย  งานอัดดอกไม้น่าจะมีส่วนช่วยย้อมจิตใจให้เยือกเย็นลง  แต่ก็ยังมีบ้างบางวัน ที่แม่หลุดอาการโมโหร้ายออกมาให้เห็น  เมื่อทำงานบางอย่างผิดพลาด หรือบางวันที่อ่อนล้าเกินไป

เอาเป็นว่าตอนนี้แม่มีงานอัดดอกไม้เป็นหลักในชีวิตแล้ว  ไม่ว่าจะไปอยู่ที่ไหน  บ้านใคร  สายตาของแม่จะมองหาแต่ดอกไม้ที่จะเอามาอัด

จากดอกไม้พื้น ๆ  แม่ก็เริ่มแสวงหาความงามแบบแปลก ๆ ใหม่ ๆ จากดอกไม้ที่คนอื่น ๆ มองข้าม เช่นดอกหญ้าทั้งหลาย  บางดอกสวยงามแต่เล็กมาก  ดอกย่อยเล็ก ๆ ของพวงดอกอูน  อโศก  บุหงาส่าหรี  ปีบ  มะเขือพวง  ยอดอ่อนฟ้าทะลายโจร  ดอกจิ๋วกลีบบางของโมก  หรือแม้แต่ดอกใหญ่ ๆ อย่างชวนชม บานบุรี  กล้วยไม้  จำปี  ดอกจิก  แม่ก็จับมาอัดไว้หมด  ถือเป็นงานทดลองที่บางครั้งก็ให้ความชื่นใจเกินคาด  แม่ตื่นเต้นกับผลงานการอัดของตัวเอง  ทั้งสีสันและรูปทรง  แม่มีข้อมูลเรื่องฤดูกาล  ลมฟ้าอากาศ ที่มีผลต่อการอัดดอกไม้ของแม่  จนสรุปได้ว่าไม่ควรอัดดอกไม้ในหน้าฝน  หน้าหนาวเป็นฤดูที่ดีที่สุด เพราะอากาศแห้ง สีจะอยู่คงทน

ดอกไม้ที่อัดแล้วแม่จะเก็บรวบรวมใส่ซองกระดาษไว้จนมากพอ ก็จะส่งไปรษณีย์มาให้ฉัน  ครั้งหนึ่งฉันเคยบอกแม่ว่าไม่ต้องอัดแล้ว  เพราะลูกค้าที่เคยสั่งงานประเภทนี้หยุดสั่งของจากเราแล้ว  แม่มีอาการเคว้งคว้างขึ้นมาทันใด  น้องสาวผู้ชาญฉลาดมองเห็นเหตุการณ์จึงรีบพูดขึ้นว่า  ไม่เป็นไรนี่  ลูกค้ารายนี้ไม่สั่ง ก็อาจจะมีรายอื่นมาสั่ง  ถ้ารอให้มีคนสั่งแล้วค่อยทำก็จะไม่ทันการณ์  เราทำเก็บไว้ก็ไม่เสียหาย  เหตุผลของน้องสาวทำให้แม่ใจชื้น หน้าชื่น และกลับมาทำหน้าที่อัดดอกไม้ให้ลูกสาวต่อไป

สมัยที่ยังแข็งแรงกว่านี้  ช่วงสาย ๆ แม่ชอบไปเดินท่อม ๆ อยู่ในสวน  เลือกตัดดอกไม้ช่อนั้น ช่อนี้  ใช้วิจารณญานของแม่ ที่เกิดจากการสั่งสมสายตาชมชื่นดอกไม้ในสวนมานานวัน

แม่บอกว่าอัญชันต้องไปเก็บแต่เช้าตรู่ ก่อนพระอาทิตย์ขึ้น  ไม่งั้นจะไม่ได้กลีบเล็ก ๆ ที่เหมาะกับการทำการ์ด  ถ้าสายดอกจะบาน กลีบจะใหญ่เกินไป ไม่สวย  ชุดไหนที่แม่อัดได้สวย แม่จะเขียนบอกไว้หน้าซองด้วยลายมือตัวโต ๆ ที่พวกเราคุ้นเคย   เช่นกัน ชุดไหนไม่สวยแม่ก็จะเขียนบอก อาจมีเหตุผลบอกไว้ เหตุผลของบางซองเราเห็นแล้วก็ต้องอมยิ้ม  เช่นบอกว่า " อาม่าเป็นคนอัด  อัดไม่เป็นเลยไม่สวย"

อาม่าเป็นคนแก่ข้างบ้าน อายุรุ่นราวคราวเดียวกับแม่  อาม่าอยู่บ้านกับเด็กรับใช้ชาวพม่าทั้งวัน  มีเวลาว่างมากมาย  เมื่อเห็นงานอดิเรกของแม่ อาม่าจึงสนใจมาช่วยทำ  แรก ๆ ดูท่าแม่ไม่ค่อยอยากให้อาม่ามาช่วย  จะรู้สึกอย่างไรไม่รู้  ความที่แม่เป็นคนเนี้ยบ แม่จึงมักรู้สึกว่าคนอื่นทำได้ไม่ดีเท่าตัวเอง  นี่อาจจะเป็นเหตุผลหลักที่แม่ไม่ค่อยอยากให้อาม่าช่วย  อาม่าเก็บดอกไม้ในบ้านของแกมาอัดให้อยู่ระยะหนึ่งคือเข็มปัตตาเวีย และเข็มเล็ก ๆ ที่ปลูกอยู่ริมรั้วบ้าน  แต่อาม่าคงไม่รู้สึกสนุกกับงานนี้เท่าไร  กิจกรรมนี้จึงไม่ยาวนานเท่าแม่ของเรา




งานอัดดอกไม้เป็นงานที่ฉันหน่ายที่จะทำ  ทั้งที่น่าจะเป็นงานที่มีความสุข  แต่เพราะเป็นงานที่ต้องอาศัยเวลา  อาศัยความใจเย็น  ความอดทน  และเป็นงานละเอียด  ในขณะที่รู้สึกว่า่ตัวเองมีภาระเร่งร้อน รอทำอยู่มากมาย  หากว่าทำเป็นงานอดิเรกนาน ๆ ครั้งก็พอไหว  แต่ถ้ากลายเป็นงานที่ต้องทำในปริมาณมาก  ทำซ้ ำ ๆ  ความสุขก็จะพากันวิ่งหนี  เหลือแต่ความรีบเร่งและกังวล  จนกระทั่งกลายเป็นความหน่าย และความชุ่ยเข้าจนได้

เมื่อแม่มารับหน้าที่นี้แทน และทำได้ดีกว่าฉันทำเป็นร้อยเท่า  งานการ์ดของฉันจึงยังคงอยู่ต่อไป

แม่ทำงานประณีตทุกขั้นตอน ตั้งแต่การเลือกเก็บดอกไม้  ตัดดอกไม้ออกจากขั้วทีละดอก  ปลิดกลีบทีละกลีบ  เลือกคัดใบขนาดที่เหมาะสม  แยกประเภทดอก กลีบ ใบ เกสร  แรก ๆ แม่ใช้กระดาษทิชชูวางรองก่อนด้วยซ้ำ  เพราะกระดาษทิชชูเป็นตัวช่วยซับน้ำได้อย่างดี  เมื่อเรียงดอกไม้จนเต็มแผ่นก็ใช้กระดาษทิชชูวางทับบนดอกไม้อีกชั้นหนึ่ง  แต่ต่อมาแม่ก็เลิกใช้กระดาษทิชชู บอกว่าสิ้นเปลืองเกินไป  หนังสือที่ใช้อัดก็คือบรรดานิตยสารข่าวการเมืองรายสัปดาห์ในบ้าน  ดอกไม้ของแม่เรียงแถวกันอย่างเป็นระเบียบ ซ้อนกันหลายชั้นในแต่ละเล่ม  ไม่เหมือนเวลาที่ฉันทำเอง  แรก ๆ ก็ยังเป็นระเบียบเรียบร้อยดีอยู่หรอก  ต่อมาเมื่อยุ่งมาก ๆ เข้า  ดอกไม้จะถูกจับสาดเข้าไปเป็นกำ  แล้วก็เกลี่ย ๆ ให้ทั่วแผ่น เป็นอันเสร็จพิธี  แต่สำหรับแม่  จะไม่มีภาพอย่างนี้ให้เห็นเด็ดขาด  แม่จะนั่งเรียงทีละกลีบ ทีละใบเป็นแถวจนเต็มแผ่น  แผ่นแล้วแผ่นเล่า  บางวันจนเวลาเลยล่วงเพราะเก็บดอกไม้มามากเกิน และเสียดายหากจะทิ้ง  รุ่งขึ้นแม่ก็จะบ่นปวดหลังปวดเอว  บางครั้งลูกบังเกิดเกล้าทั้งสองสามคนก็จะพากันดุแม่ว่าทำอะไรไม่ประมาณตน

กองดอกไม้อัดของแม่ตั้งสูงขึ้น ๆ  ดูไม่สมดุลกับการเอาไปใช้  ทั้งที่บางช่วงเมื่องานเข้า ฉันต้องใช้ดอกไม้เป็นจำนวนมากนับพัน ๆ ดอก  แต่กองดอกไม้อัดของแม่ก็ยังดูไม่พร่อง  มีแต่จะสูงขึ้นไปด้วยซ้ำ  เมื่อจะรวบรวมส่งให้ฉัน แม่ก็จะต้องนั่งเปิดหน้าที่อัดไว้ทีละหน้า และใช้มีดประจำตัวเล่มเล็ก ๆ บาง ๆ ของแม่แซะกลีบดอกไม้ออกจากกระดาษ แยกใส่ซองตามประเภทของดอกไม้  ขั้นตอนนี้กินเวลาเอาเรื่องทีเดียว

นานวันเข้า ซองที่แม่ส่งมาให้ ดอกที่อัดมาก่อนนาน ๆ เริ่มหมดสภาพ  ดอกคูนและขี้เหล็กสีเหลือง หรือคอร์เดียสีส้ม เป็นประเภทที่ไปก่อนเขาเพื่อน  แมลงตัวเล็ก ๆ เข้าไปกัดกินกลีบดอกจนพรุน ใช้การไม่ได้  พุดน้ำบุษย์สีเหลืองส้มที่แม่ชอบอัดเพราะมีเยอะมาก แต่ก็เป็นดอกที่ราชอบขึ้นมากที่สุดเพราะน้ำเยอะ  จึงกลายเป็นเสียแรงเปล่า  เข็มบางประเภท  กุหลาบบางรุ่น  สีสันสดใสเมื่อแรกอัด  นานไปเหลือแต่ความซีดโทรม ผุกร่อน  จึงจำเป็นต้องทิ้ง




กว่า่จะรู้ซึ้งว่าแรงงานของแม่มหาศาลเพียงใด  ก็ตอนที่จำต้องขนดอกไม้หมดสภาพเหล่านี้ไปทิ้งด้วยความใจหาย  ซึ่งต้องทำตอนที่แม่ไม่อยู่  ไม่รู้สิ  แม้แม่จะเคยบอกว่า  อันไหนใช้ไม่ได้ก็ทิ้งไปซะ  แต่แม่จะต้องนึกไม่ถึงว่ามันจะมากมายขนาดนี้   สุสานดอกไม้ที่เกิดจากความเพียรพยายามของแม่ทำร้ายจิตใจ  จนหวั่นว่าจะทำร้ายจิตใจแม่ด้วย  แม่จึงไม่เคยรู้ว่าฉันทำอย่างนี้มาหลายรอบแล้ว



วันนี้..แม่ในวัย 83  ไม่อาจเดินท่อม ๆ เข้าไปในสวนได้เหมือนเมื่อก่อน  กำลังวังชาของแม่ถดถอย  ได้แต่เดินเล่นใกล้ ๆ รอบบ้าน  แม่อัดดอกไม้ได้น้อยลงเพราะไม่มีแรงเดินไปเก็บ  แม่ทำงานได้ช้าลง  แต่สายตาของแม่ก็ยังมองเห็นความงามของดอกไม้ก่อนอย่างอื่นเสมอ

"นั่นดอกอะไร  สีม่วง ๆ "  แม่ชี้มือไปทางป่ารกด้านตะวันออกของบ้าน  ดอกไม้สีม่วงดอกหนึ่งโผล่หน้าออกมาจากพุ่มหนาทึบ  ใจกลางดอกเป็นสีเหลืองเข้ม

"ช้องนาง"  ฉันบอก  แม่พยักหน้ารับรู้  ถ้าเป็นเมื่อก่อนแม่ก็คงจะเดินออกไปเด็ดมาอัดเลยโดยไม่ต้องถาม

วันนี้...กองดอกไม้ของฉันเริ่มหยุดนิ่งและต่ำเตี้ยลง เพราะไม่มีใครอัดเพิ่ม

ดอกไม้ในสวนคงชะเง้อคอรอใครบางคน....



วันศุกร์ที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2556

หนังสือเศร้า

หนังสือทุกเล่ม
ห่อหุ้มด้วยพลาสติก
ปิดสนิท

แม้แต่นิตยสาร

หนังสือพิมพ์ก็เย็บลวดเบอร์ใหญ่
อ่านได้แค่พาดหัว

หนังสือเล่ม
ไม่เหลือให้เปิดอ่านแม้แต่เล่มเดียว

บอกความหมายว่า"ห้ามอ่าน"

หรืออีกนัยหนึ่ง
"ห้ามมาเปิดอ่านฟรี"

เด็กนักเรียนที่เคยมา
จึงหายไปจากแผงแถวนี้จนหมด
เพราะไม่มีอะไรให้อ่าน

นี่คือร้านหนังสือร้านใหญ่




ตั้งอยู่หน้าโรงเรียน
ขนาดใหญ่

ร้านที่เด็ก ๆ ชอบมานัดพบกันที่นี่ในตอนเย็น
หลังโรงเรียนเลิก

 เพราะมีไอติม
มีลูกชิ้นปิ้งแสนอร่อยขายอยู่หน้าร้าน

เป็นร้านที่กว้างขวาง

มีบริเวณกว้างขวาง

ในร้านเปิดแอร์เย็นฉ่ำ







เด็ก ๆ ชอบเข้าไปนั่งเรียงกันที่พื้น
พื้นสะอาดกว่าบ้านเราอีก

บางทีก็นั่งขวางบันได

ซุบซิบ ๆ
คิกคัก ๆ


หยิบหนังสือจากชั้น เล่มนั้น เล่มนี้
อ่านกันเป็นล่ำเป็นสัน
อย่างมีความสุข

ราวกับอยู่ในวิมานของตัวเอง

มิไยที่ทางร้านจะขยันเขียนป้าย (อย่างสุภาพ)
ว่าอย่าขวางทางคนอื่นที่จะเข้ามาดูหนังสือ
แปะไว้ตรงนั้น  ตรงนี้

วันนี้ไม่มีหนังสือให้อ่าน
เพราะเจ้าของร้านเลิกใจดี

เด็กและหนังสือจ้องมองหน้ากัน
ผ่านถุงพลาสติก

มิอาจสัมผัสกันได้

หนังสือหลบตา..
เด็ก ๆ หน้าละห้อย..

หนูผิดหรือ
ที่อยากจะอ่านหนังสือ
ให้ได้มากกว่าปีละ 8 บรรทัด

วันอังคารที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2556

เทพ






















คนบางคน
เดินเข้ามาในชีวิตเราเหมือนความฝัน

เหมือนนึกจะมาก็มา
ทั้งที่ไม่เคยมีเค้ามาก่อน
และนำบางสิ่งบางอย่างมาให้
อย่างไม่คาดคิด

ต้องเป็นเทพเท่านั้น
จึงจะทำอย่างนี้ได้

เธอจะรู้สึกลังเล
รู้สึกเสียดาย
หรือรู้สึกสูญเสียบ้างไหมนะ

จะเหมือนเรื่องเล่าตลก ๆ
ที่ฟังต่อ ๆ กันมาหรือเปล่า

เธออาจจะมีคำถาม
เหมือนพระเอกที่โดดลงไปช่วยคนตกน้ำ
ในเรื่องเล่านั้นก็ได้ว่า

"ใครถีบกูลงมา"