วันพุธที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2560

กลับบ้าน

เมื่อ 30 กว่าปีก่อน ช่วงที่ทำงานการศึกษาชาวเขา

ข้าพเจ้าเคยพาเด็กน้อยคนหนึ่งออกจากหมู่บ้านเล็กๆบนดอย ในป่าลึกของจังหวัดแม่ฮ่องสอน

ฉีกชะตาชีวิตของเขา จากเด็กชายชนเผ่า ชาวป่า มาอยู่ในเมืองแบบ 360 องศา  

หรือว่านี่ก็คือชะตา

ย้อนคิดไป อดรู้สึกใจหายกับสิ่งที่ตัวเองทำลงไปไม่ได้

รู้สึกตกใจอยู่บ้าง ที่วัยหนุ่มสาวของเรา พาเรา"กล้า"ที่จะทำอะไร

แบบที่ผู้ใหญ่บางคนอาจบอกว่า "ไม่คิดหน้าคิดหลัง"

จากวันที่พาเขาเดินลัดเลาะป่าเขาลงมาจากหมู่บ้าน เป็นระยะทางหลายกิโลเมตร

เพื่อมาขึ้นรถโดยสาร และพาไปส่งยังที่หมาย

ข้าพเจ้าไม่เคยพบเขาอีกเลย...

ที่ไม่ได้กลับไปเยี่ยม เพราะเชื่อมั่น หายห่วง คิดว่าเขาได้ไปอยู่ในที่ที่ดี

อยู่กับคนดีๆ คนที่ข้าพเจ้าเชื่อมั่น

........

วันหนึ่ง ไม่นานมานี้ อยู่ๆข้าพเจ้าก็ได้รับโทรศัพท์จาก"เขา"

เด็กชายตัวน้อยในวันนั้น บัดนี้เป็นหนุ่มใหญ่

มีหน้าที่การงานในองค์กรใหญ่ พอเลี้ยงตัวได้

มีครอบครัวและมีลูกเล็กๆ

เขาไปควานหาเบอร์โทรของข้าพเจ้ามาได้อย่างไรไม่ทราบ

ข้าพเจ้าไม่รู้ว่าโตมาแล้วหน้าตาเขาจะเป็นอย่างไร

เมื่อพูดคุยกันในสายก็ยังนึกถึงแต่ใบหน้าเมื่อวัยเยาว์

ต่างคุยสารทุกข์สุกดิบ ถามไถ่ถึงพ่อแม่ ญาติพี่น้องบนดอย

พ่อของเขาในยุคที่ข้าพเจ้าขึ้นไปเยี่ยมเยือนนั้น

เป็นผู้นำหมู่บ้านทางจิตวิญญาน ที่พวกเรามักเรียกกันสั้นๆว่า"หมอผี"

เป็นคนเฉลียวฉลาด มองการณ์ไกล 

เดี๋ยวนี้มีถนนหนทางขึ้นไปถึงบนดอยแล้ว การเดินทางไม่ลำบากเหมือนเมื่อก่อน

เขาอยากมาเยี่ยมข้าพเจ้า  บังเอิญช่วงนั้นข้าพเจ้าไม่สะดวกจะรับแขก

เพราะในครอบครัวมีคนป่วย ที่จำเป็นต้องช่วยกันดูแลชิดใกล้

ข้าพเจ้าจึงขอให้เขาชะลอการเดินทางมาหาไว้ก่อน

เมื่อรู้แน่ว่าคงไม่ได้มาเจอในระยะเวลาอันใกล้  

เขาจึงตัดสินใจเปิดคุยยาวเรื่องที่อยากคุยทางโทรศัพท์

..........

"ครูครับ  ผมอยากกลับบ้าน"

ประโยคนี้ตรึงความรู้สึกของข้าพเจ้าไว้นิ่งนาน  แม้เมื่อวางสายไปแล้ว

"ผมอยากกลับบ้านไปดูแลพ่อแม่ อยากไปดูแลบ้าน  ป่าไม้แถวบ้านก็น้อยลงๆ 

ลำห้วยสมัยที่ผมยังเป็นเด็ก ตอนนี้แห้งขอด  น้ำที่เคยไหลมาจากร่องเขา ก็ไม่มีแล้ว.."

"ชาวบ้านยังปลูกกะหล่ำกันทั้งดอยเหมือนก่อน"

โอ..กี่สิบปีมาแล้ว แนวรบด้านตะวันตก เหตุการณ์ไม่เปลี่ยนแปลง.. ข้าพเจ้ารำพึงในใจ

"แล้วยังใช้ปุ๋ย ใช้ยาเหมือนเดิมมั้ย" ข้าพเจ้าถาม

"ครับ"

.........

เรานิ่งกันไปหลายอึดใจ

"ผมกำลังลองๆเขียนโครงการดู ว่าจะกลับไปทำอะไรได้บ้าง"

"ดีๆ เอาความคิดของเราให้ชัดๆก่อน" ข้าพเจ้าบอก

เราคุยกันเรื่องโครงการในฝันมากมาย

และร่ำลากันด้วยความหวัง ว่าก่อนกลับบ้านเขาจะชัดเจนในตัวเองก่อนเป็นสิ่งแรก

ว่าอยากจะกลับไปทำอะไรบ้าง

อดคิดขึ้นมาไม่ได้ว่า เมื่อ 30 กว่าปีก่อน พระเจ้ากำหนดให้ข้าพเจ้าเป็นคนพาเขาออกมาจากหมู่บ้าน

วันนี้อาจถึงเวลาที่ต้องพาเขากลับไปสู่ภูเขาแล้วกระมัง

ถามตัวเองว่า ทำไมข้าพเจ้าต้องรับภาระที่ดูเหมือนเกินกำลังปานนี้หนอ

คำว่า"กลับบ้าน"เพียงคำเดียว

ช่างแฝงความรู้สึกไว้มากมายหลายชั้น  มีทั้งความโหยหาอาวรณ์

ความเศร้าอยู่ลึกๆ  รวมทั้งความหวังและกำลังใจ

เพราะมนุษย์ต้องมี"บ้าน"  จะอบอุ่นหรือไม่ก็ยังเป็นบ้าน ที่หัวใจลึกๆล้วนปรารถนาการโอบอุ้มใส่ใจ

ทั้งจากญาติพี่น้องและสิ่งแวดล้อม ต้นไม้ ลำธาร ผืนดิน

แม่พระธรณี ที่ให้ชีวิตเรามา

ขอให้เธอได้กลับบ้านสมใจ...

อดคิดถึงวันที่ข้าพเจ้าพาเขาออกจากหมู่บ้าน เดินลงดอยแสนไกลขึ้นมาไม่ได้

"เหนื่อยมั้ยครับ" ข้าพเจ้าถามในช่วงขณะนั่งพัก เพราะเราเหนื่อยแทบแย่

"ไม่เหนื่อยครับ

"คิดถึงบ้านมั้ย"

"ไม่คิดถึงครับ"

เป็นคำตอบหนักแน่น ที่คิดขึ้นมาเมื่อไรก็อดหัวเราะ(ขื่นๆ)คนเดียวขึ้นมาไม่ได้

เพราะรู้ว่าเบื้องหลังของคำตอบอันหนักแน่นเหมือนท่องมานั้น

มีความรู้สึกบางอย่างถูกกดข่มอยู่ลึกๆ

ในวันที่รู้ว่า จะต้องเดินหน้าไปให้สุดทาง...

ขอให้โชคดีนะลูก

แม้ในเมืองจะมีทั้งความโหดร้ายและความสวยสดงดงาม

ที่เธอคงได้ไปซึมซับมาไม่ใช่น้อย เป็นเวลากว่า 30 ปี

หวังว่าการได้ไปจนสุดทางมาแล้ว คงทำให้เธอได้ค้นพบทางของเธอเอง

ที่มีความหมายคุ้มค่าต่อตัวเธอมากที่สุด

แม้จะเป็นทางที่ดูเหมือนย้อนกลับ แต่ก็เป็นการย้อนกลับสู่ชีวิตที่แท้

ขอให้เป็นการกลับเพื่อเกิด..

แล้วครูจะไปเยี่ยม

วันอาทิตย์ที่ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2558

บ่อน้ำ





จิตของเราเองต่างหาก ที่ต้องชำระสะสาง
จิดของเราเองต่างหากที่ต้องบำบัด

เรื่องภายนอกทั้งปวง เป็นเพียงบททดสอบหรือข้อสอบที่ถูกส่งมา
เพื่อให้จิตรับมือ แก้โจทย์

จิตนิ่งหรือกระเพื่อมมากน้อยแค่ไหน
อยู่ที่การฝึกฝนอบรมจิต

จิดที่ฝึกดีแล้วย่อมรับมือกับการกระแทกกระทั้นได้อย่างสงบนิ่ง
จิตที่มีปัญญาย่อมแก้โจทย์ได้ทะลุตลอดปล้อง


โลกภายนอกใหญ่โตแค่ไหน วุ่นวายแค่ไหน
ก็เป็นเพียงโลกภายนอก

รักษาโลกภายใน  บ่อน้ำในใจ
ให้ใส สงบ ต่างหาก
คือหน้าที่การงานอันแท้จริง


วันอาทิตย์ที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2558

ลม


เธอคือลมเย็น
ที่พัดโบกโบยมา
ชื่นใจ..
ในยามบ่ายของฤดูร้อน...

รู้วิสัยลม
ว่าเดี๋ยวเธอก็จะพัดผ่านไป

ลมจะไม่อยู่กับเราตลอด
เพราะเธอคือลม

หากหลงยึดว่าความเย็นชื่นใจ
ที่ผ่านทางมา
คือสิ่งที่จะอยู่กับเราถาวร

ประตูทุกข์ต่างหาก
ที่จะเปิดรอเราอยู่
ถาวร...

วันพฤหัสบดีที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2558

ลาก่อนโคชิน



เจอหนุ่มน้อยสองคนนี้ที่ท่าเรือฟอร์ทโคชิน เลยขอถ่ายภาพไว้
จิ๊กโก๋มาก  โตขึ้นหล่อน่าดู

วันสุดท้ายที่โคชิน
ช่วงเช้า เราไปเดินตามหาร้านขายเครื่องเทศ
ใหญ่บอกว่าพริกไทยที่นี่เป็นพริกไทยที่ดีที่สุดในโลก
เราจะไปซื้อพริกไทยกัน  แต่ฉันขี้เกียจหอบ ใหญ่เลยซื้ออยู่คนเดียว

ในที่สุดเราก็เจอร้านที่ใหญ่ตามหา
เดินเหนื่อยพอประมาณ









พริกไทยดำ กิโลละ  500 รูปี  พริกไทยเขียวแพงกว่า กิโลละ 700 รูปี ที่เห็นบนชั้นคือเม็ดมะม่วงหิมพานต์





                                 
       
เอสเซนเชียลออยล์  มีค่ามากสำหรับคนทำสบู่ แต่ก็ไม่ได้ซื้อเพราะขี้เกียจหอบ










กลับมากินอาหารเที่ยง(อาหารทะเล)ที่ร้านเดิม  เดินซื้อของฝากกระจุกกระจิกกันแถวๆ นั้น




ที่ดีใจที่สุด คือเมื่อเดินผ่านร้านหนังสือเล็กๆแถบนั้น สายตาก็ปะทะเข้ากับหนังสือเล่มเล็กๆเล่มหนึ่ง
"เจ้าชายน้อย "
ฉันรี่เข้าไปถามราคา  เพียง 100 รูปี(ราว 60 บาท)  ดีใจจนเนื้อเต้น
เคยมีคนบอกว่าหนังสือที่อินเดียราคาถูก เพราะรัฐบาลเขาส่งเสริมเรื่องการอ่าน
เจ้าชายน้อยเล่มนี้ เป็นเวอร์ชั่นอินเดีย ภาษามาลยลัมของเกราลา


สุขใจจริงๆ   



เราเก็บของเช็คเอาท์จากโรงแรม เพื่อไปรอรถเมล์ที่จะไปสนามบิน   
รถเมล์มีเวลาที่แน่นอนของเขา เราจะไปเที่ยวสุดท้าย 18.05 น.
  ตอนลากกระเป๋าเดินออกมานั้น ปรากฏว่าฝนเริ่มตก  และตกหนักขึ้นเรื่อยๆ จึงต้องเรียกรถออโต้

                                                                  
รถเมล์มาตรงเวลา เป็นรถเมล์ปรับอากาศอย่างดี แต่คนแน่นมาก ค่ารถคนละ 70 รูปี




สนามบินโคชินใหญ่โตหรูหรามาก  กำหนดเครื่องออกเวลาห้าทุ่ม

..ลาก่อนโคชิน  
ลาก่อนอินเดีย..



มัตตันเชอรี่ - ชุมชนชาวยิว




วันสุดท้ายที่โคชิน เราเดินออกจากโรงแรมแล้วไปขึ้นรถเมล์
ต่อรถออโต้ไปลงที่ย่าน มัตตันเชอรี่  Mattancherry  ซึ่งเป็นชุมชนชาวยิว
เป็นย่านที่มีสีสันมาก  ทั้งจากสถาปัตยกรรมของอาคารบ้านเรือน
รวมทั้งเป็นแหล่งท่องเที่ยว มีอาคารร้านค้าขายของที่ระลึกมากมาย
และแน่นอน รวมทั้งเครื่องเทศที่เป็นเสน่ห์ของเมือง






ที่นี่มีโบสถ์ยิว ที่เป็นสถาปัตยกรรมผสมผสานหลากหลายเชื้อชาติ
เสียดายที่ห้ามถ่ายรูป

แต่จำได้ว่ากระเบื้องปูพื้นเป็นกระเบื้องลายน้ำเงินขาว เป็นเครื่องกังไสของจีน
สวยงามมาก






























ก่อนกลับ ซื้อสบู่ธรรมชาติ (ว่านหางจรเข้)มา 1 ก้อน
ซื้อก้อนเดียวเพราะเราทำสบู่ใช้เองอยู่แล้ว
ชอบใจแพ็กเกจ ที่ใช้กาบหมากขึ้นรูปเป็นกล่องในตัว  ก้อนละ 70 รูปี
ใช้ดีทีเดียว








ระบำพื้นเมืองของรัฐเกราลา - Kathakali






คืนที่สองที่โคชิน ได้มีโอกาสดูการแสดงพื้นเมืองของรัฐเกราลา
ที่เรียกว่า  กาทากาลิ  Kathakali
ซื้อตั๋วเข้าชม 2 รอบ อีกรอบหนึ่งคืนวันรุ่งขึ้น
เป็นการแสดงดนตรี  Indian Classical Music
ค่าตั๋วรวม 2 รอบ  คนละ  450  รูปี

โรงละครอยู่ไม่ไกลจากโรงแรมที่พัก สามารถเดินไปได้

กาทากาลิ เป็นศิลปะการแสดงโดยใช้เรื่องราวจากมหาภารตะบางช่วง บางตอนมานำเสนอ
ก่อนเริ่มการแสดง จะเป็นช่วงของการโชว์ศิลปะการแต่งหน้าของตัวละครแต่ละตัว
สีสันและรูปแบบที่ใช้คงสื่อความหมายต่างๆอยู่ในตัว
เช่นฝ่ายธรรมะ  ฝ่ายอธรรม
เนื้อหาของเรื่องราวก็มักจะเป็นการสู้รบระหว่างสองฝ่ายนี้



ด้านล่างเวที  จะมีการเขียนลวดลายที่เรียกว่า โกลัม  Kolams
ลงบนพื้นด้านหน้าและช่องว่างทางเดินระหว่างเก้าอี้นั่งสองฟากของผู้ชม
เชื่อกันว่า โกลัม จะเป็นเครื่องช่วยปกป้องคุ้มครองจากภูติผีต่างๆ


                           ใช้แม่พิมพ์โลหะ แล้วเอาแป้งโรยในแม่พิมพ์ให้แป้งลอดรูออกมาเป็นภาพสวยงาม


                          หนุ่มคนนี้เป็นผู้เขียนโกลัมและเป็นผู้ควบคุมการแสดงทั้งหมดในทุกๆด้าน













การแสดงเสร็จสิ้น ปรากฏว่าข้างนอกฝนตกหนัก   
ด้านหน้าโรงละครมีร้านอาหารอยู่ร้านเดียว  มีคนนั่งรอกินอาหารแน่นขนัด เพราะไม่มีที่ไป    
เราสามคนตัดสินใจกางร่มเดินกลับโรงแรม  มีขนมนมเนยตุนอยู่บ้างเล็กน้อย 
เป็นอันว่าเย็นนี้ไม่ได้กินข้าว แต่กินขนมแทน