วันศุกร์ที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

นักเรียนปอหนึ่ง






แปลกนะ..
มีเรื่องราวบางเรื่องบางตอนในชีวิต ที่เราไม่เคยลืมเลย แม้จะ"แก่"ขนาดไหน
ในขณะที่บางเรื่องเพิ่งเกิดขึ้นไม่นาน แต่กลับลืมสนิท

ฉันยังจำหน้าตาเพื่อนคนหนึ่ง สมัยเป็นนักเรียนประถมหนึ่งได้อย่างชัดเจน
จำได้ดีถึงรูปร่างอ้วนกลม  หน้ากลม  แก้มพอง  ปากหนาและชอบทำปากจู๋

เพื่อนคนนี้ชื่อนายผดุงเกียรติ
สิ่งที่ทำให้ฉันจำนายผดุงเกียรติได้ น่าจะเป็นเพราะครูประจำชั้น
(ที่ฉันจำชื่อและหน้าตาของครูไม่ได้เลย แปลกจริง) ชอบบิดพุงเขา
และเรียกเขาอย่างจริงจังว่า "นายผดุงขี้เกียจ"

คล้าย ๆ ว่า "นายผดุงขี้เกียจ" นี่แหละที่สอบได้ที่โหล่ของห้อง
และเมื่อครูตรวจกระเป๋านักเรียนเมื่อไร
กระเป๋าของนายคนนี้ก็จะมีแต่เศษกระดาษเต็มกระเป๋า

ชื่อ "นายผดุงขี้เกียจ" นี่เอง ที่ไม่เคยลบออกไปจากหน่วยความจำของฉัน
แม้เวลาจะผ่านไปนานแค่ไหน

เคยนึกอยากเจอนายคนนี้เหมือนกัน ซึ่งคงเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้
ก็ปอหนึ่งน่ะมันนานแค่ไหนกันแล้ว  เกือบ ๆ จะเท่ากับการระลึกชาติเลยทีเดียว
สิ่งที่ชัดเจน มโนแจ่ม มีเพียงใบหน้าอ้วน ๆ ของนายผดุงขี้เกียจ
และคำพูดของครูเท่านั้น

ชีวิตในช่วงปอหนึ่ง น่าจะมีอะไรพิเศษอยู่พอสมควร
เพราะฉันจำเพื่อนปอหนึ่งอีกคนหนึ่งได้ (จากคำพูดของครูอีกนั่นแหละ)

เพื่อนคนนี้เป็นผู้หญิง  ชื่อเด็กหญิงประโลม
แต่ครูเรียกเธอว่า แม่ประโลมโลก

(ครูเมื่อก่อนชอบเรียกนักเรียนหญิงว่าแม่นั่น แม่นี่  ถ้าเป็นคนเหนือก็จะเรียกหญิงนั่น หญิงนี่)
เป็นเพราะเด็กหญิงประโลม เป็นโรคผิวหนังชนิดหนึ่ง คล้าย ๆ โรคหิด
ขึ้นผื่นเต็มตัว  คันคะเยอตลอดปี
บางครั้งก็มีกลิ่นไม่พึงประสงค์โชยออกมาตามเนื้อตามตัว
เด็กหญิงประโลมจึงไม่ค่อยมีเพื่อน เพราะคนรังเกียจ

แต่เธอกลับอยู่ในใจฉันมาจนบัดนี้

ส่วนฉันก็สร้างวีรกรรมตอนปอหนึ่งด้วยเหมือนกัน
เพียงเพราะไม่กล้าพูดคำว่า "ปัสสาวะ"
ซึ่งเป็นคำใหม่ในชีวิต  ฟังดูหรูหราเกินไปสำหรับฉัน
ครูบังคับให้พูดคำว่าปัสสาวะ หรืออุจจาระ  เมื่อต้องการขออนุญาตไปปลดทุกข์

จึงฉี่มันกลางห้องซะเลย
จำได้ว่ากระโปรงเปียกไปทั้งตัว
แต่จำไม่ได้ว่าถูกครูด่าหรือเปล่า
คงจะอั้นจนหน้ามืด และลืมอายลืมกลัว

วีรกรรมอีกอย่างที่จำได้แม่นยำก็คือเมื่อคราวสอบปลายภาค
น่าจะเป็นวิชาสุขศึกษา  ข้อสอบของนักเรียนปอหนึ่ง ถามว่า

"อาหารชนิดใดที่ไม่ควรรับประทาน"

หลังจากสอบเสร็จ ฉันรีบวิ่งแจ้นกลับบ้านที่อยู่ใกล้ ๆ โรงเรียน

นี่เป็นการสอบครั้งแรกในชีวิตนักเรียน
กลับไปเล่าอวดข้อสอบให้แม่ฟัง
จำได้แม่นว่า เล่าเสร็จ ทุกคนในบ้านพากันหัวเราะท้องคัดท้องแข็ง
ทั้งที่คนเล่าก็ยังงุนงงสงสัยต่อไปอีกหลายปี  ว่ามันจะผิดไปได้ยังไง
กับคำตอบที่ว่า
"อาหารที่ไม่ควรรับประทานได้แก่ ช้าง เสือ สิงโต.."

หรือใครจะเถียงว่าไม่จริง


หวยอากาศ






"ยาย มะม่วงกองเท่าไร ?"
"สิบห้าบาทจ้า.."  
ยายจัดมะม่วงอกร่องสุกวางเป็นกอง ๆ บนผ้ายางที่ปูบนพื้นซีเมนต์หน้าตลาด

"สิบบาทได้มั้ย"  คนต่อราคาทรุดตัวลงนั่งยอง ๆ พลางหยิบจับมะม่วงในกองพลิกไปมา
"ไม่ได้ดอกจ้า"  น้ำเสียงของยายยังสดใสอยู่

"สิบบาทก็แล้วกันยาย  ฉันเอาสองกองเลย"
"ไม่ได้หรอกคุณ  กองนึงก็ตั้งเกือบสิบลูกแล้ว"

"แหม..ลดหน่อยก็ไม่ได้ ยายนี่.."  มือยังคงหยิบจับมะม่วงลูกโน้น ลูกนี้
"ลดไม่ได้หรอกค่า  แค่นี้ก็ขายถูกกว่าคนอื่นตั้งเยอะแล้ว"

"แต่มันไม่ค่อยสวยแล้วนี่  ยายลดหน่อยก็แล้วกัน"  มือข้างหนึ่งบีบมะม่วง
ทำนองสงสัยว่าลูกนี้จะช้ำในหรือเปล่าว้า

"นี่ก็ช้ำแล้วนี่"

"เห็นใจคนแก่เถอะแม่คู้น  นี่ฉันก็มาไกลตั้งพิจิตรโน่น"  น้ำเสียงของยายชักแข็งขึ้น

"น่า..นะ ลดหน่อย  สองกองยี่สิบห้าก็แล้วกัน"

"..............."  

ยายเริ่มหน้าตึง  เลิกตอบ  แววตาเริ่มขุ่นขวางมองตามมือที่คอยบีบมะม่วงอย่างไม่เกรงใจ

ฉันยืนรีรออยู่ข้างหลัง  ฟังการสนทนามาตั้งแต่ต้น
จะแทรกตัวเข้าไปก็ยังไม่ได้ เพราะคนต่อรองราคานั่งยอง ๆ ขวางทางแคบ ๆ นั้นอยู่

"ตกลงได้มั้ยเนี่ย.."

"................"  

ไม่มีคำตอบจากใบหน้าที่เริ่มงอง้ำของยาย

"งั้นเอากองเดียว !"  
คนพูดพูดอย่างไม่เต็มเสียงเต็มใจ  ค่าที่ลงทุนต่อรองอยู่เป็นนานแล้วไม่ได้ผล  
จะไม่ซื้อก็คงกลัวยายด่า เธออาจต้องเสียหน้ากลางตลาด

ว่าแล้วก็ลุกขึ้นยืน แทบจะโยนเงินเหรียญสิบและเหรียญห้าให้คนขายอย่างเสียไม่ได้

ยายค้อนควักตามเมื่อหล่อนเดินคล้อยหลัง

"ยายจ๊ะ   เอามะม่วงสองกอง"   ฉันบอก
ยายหยิบมะม่วงใส่ถุงยื่นให้  รับเงินสามสิบบาทจากฉันแล้วก็เริ่มให้ศีลให้พร

"ขอให้คุณเจริญ ๆ ร่ำรวย อยู่ดีมีสุข  ขอให้ถูกล็อตเตอรี่รางวัลที่ 1 นะแม่คู้น.."

ใครได้ยินก็คงจะงง  ซื้อมะม่วงแค่สองกอง ทำไมต้องให้ศีลให้พรอลังการขนาดนี้

แต่ฉันไม่แปลกใจหรอก
จริง ๆ แล้วยายคงอยากให้พรลูกค้าคนเมื่อกี้มากกว่า
และพรนั้นคงอยู่ฝั่งตรงข้ามกับพรที่ฉันได้รับ
จะดำดิ่งลงสู่เหวลึกขนาดไหนก็ลองประมาณกันดู  แต่ยายพูดออกมาดัง ๆ อย่างใจคิดไม่ได้

ฉันซึ่งเข้ามาเป็นตาชั่งอีกด้านหนึ่งในจังหวะนั้นพอดี
จึงถูกหวยอากาศเข้าไปเต็ม ๆ
กลายเป็นนางเอกฝ่ายดีไปโดยไม่รู้ตัว



วันเสาร์ที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

บ้านใหม่หมอกจ๋าม







เมื่อ 20 กว่าปีก่อน ฉันเคยเดินทางไปบ้านใหม่หมอกจ๋าม
ที่ตำบลท่าตอน  อำเภอแม่อาย  เชียงใหม่

ถามคนที่นั่นเขาบอกว่า "หมอก" หมายถึงดอก
ส่วน"จ๋าม" คือดอกจำปา  ที่บ้านเราเรียกว่าลั่นทมนั่นแหละ
บ้านใหม่หมอกจ๋าม จึงน่าจะเป็นหมู่บ้านที่เคยมีดอกลั่นทมมากมาย
แต่ตอนที่ไปนั้นไม่ค่อยเห็นมีสักเท่าไร
ส่วนคำว่าบ้านใหม่  น่าจะพอเดาได้ว่าหมู่บ้านคงตั้งขึ้นมาไม่นานนัก

บ้านใหม่หมอกจ๋าม เป็นหมู่บ้านชาวไทยใหญ่ ตั้งอยู่ริมแม่น้ำกก
ปีที่ฉันไปมีจำนวนครัวเรือนราวสามร้อยกว่าหลังคาเรือน
ในจำนวนนั้นมีชาวไทยลื้ออยู่ด้วยประมาณ 10 หลัง
ชาวบ้านมีอาชีพทำนา ทำสวน ปลูกถั่วเหลือง ทำถั่วเน่า

แต่ละบ้านมีตะแกรงไม้ไผ่ตากถั่วเน่ากันเป็นแถว ๆ สวยงามมาก
เสียดายที่ไม่ได้บันทึกสูตรการทำถั่วเน่า อาหารที่มีประโยชน์มากมายนั้นมาด้วย
เพราะมุ่งไปที่เรื่องอื่นมากกว่า

ครั้งนั้นฉันมุ่งหน้าเพื่อไปตามหาช่างกระดาษคนหนึ่ง
ลุงจั่นตา  โพธิ
ในปีนั้นลุงมีอายุ  73 ปี

ช่วงที่ไป ภรรยาของลุงเพิ่งเสียชีวิตได้ไม่นาน
ลุงยังมีอาการโศกเศร้า  เอารูปป้าวางไว้บนหัวนอน
พลอยทำให้เรารู้สึกสูญเสียไปด้วย
เมื่อป้าตายลุงก็อยู่กับลูกชายคนเล็กวัย 25
ส่วนลูกสาวอีกสองคนมีครอบครัวและแยกไปอยู่ที่อื่น

ลุงจั่นตา เป็นชาวไทยใหญ่
เดิมอาศัยอยู่ที่เมืองสาด  ประเทศพม่า
ต่อมาราวปี พ.ศ. 2508  ได้อพยพครอบครัวเข้ามาอยู่ในเขตไทย
ที่บ้านใหม่หมอกจ๋ามนี่เอง

ระยะที่อพยพเข้ามาใหม่ ๆ ลุงบอกว่าไม่รู้จะประกอบอาชีพอะไร
เพราะไม่มีที่นา  และเป็นคนสุขภาพไม่ค่อยแข็งแรง
คนเฒ่าคนแก่ในหมู่บ้านจึงแนะนำให้ทำกระดาษ
เพราะเป็นอาชีพที่เคยเห็นมาตั้งแต่เป็นเด็ก ในหมู่บ้านเดิมของตัวเอง

ลุงจั่นตาเริ่มทำกระดาษเมื่อปี พศ. 2517
ความรู้และประสบการณ์จากถิ่นเดิมทำให้เริ่มได้โดยไม่ยาก
ทำแล้วก็ขายให้คนในหมู่บ้านบ้าง  ส่งไปขายที่เมืองฝางบ้าง พอเลี้ยงตัวเล็ก ๆ น้อย ๆ

ลุงยังเล่าอีกว่า ในปี พ.ศ. 2522  ในหลวงเสด็จมาที่หมู่บ้าน
ในหลวงทรงสนับสนุนงานทำกระดาษของลุง
นับเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ลุงจั่นตาเป็นที่รู้จักแก่คนทั่วไป
ในฐานะช่างกระดาษฝีมือดี

วิธีการทำกระดาษของลุง เป็นวิธีการของไทยใหญ่ในเขตพม่า
คือวิธีแตะ  (ศัพท์ทางงานกระดาษ คือการใช้มือแตะเยื่อในตะแกรงให้สม่ำเสมอ)

และก่อนที่จะเทเยื่อลงในตะแกรง  จะเอาเยื่อใส่ลงในกระบอกไม้ไผ่ที่มีน้ำอยู่จำนวนหนึ่ง
ใช้ไม้ด้ามยาว ที่ทำสลักไม้เสียบอยู่รอบ ๆ  กระทุ้งเยื่อในกระบอกให้กระจายตัวดี
จากนั้นจึงเทเยื่อที่ถูกกระทุ้งแล้วลงในตะแกรงสีเหลี่ยม
แตะเยื่อให้กระจายตัวสม่ำเสมอในตะแกรง 
แล้วจึงค่อย ๆ ยกตะแกรงขึ้นตั้งให้สะเด็ดน้ำ  และยกไปตากแดดเป็นขั้นตอนสุดท้าย

ลุงจั่นตาเป็นช่างกระดาษคนแรกและคนเดียวของหมู่บ้าน
จนกระทั่งปี 2526  จึงเริ่มมีคนอื่นทำบ้าง โดยมาเรียนรู้วิธีการทำจากลุง
ทำเป็นงานเสริม หลังว่างจากงานในไร่นา
ในขณะที่ลุงทำเป็นงานหลัก

ต่อมามีพ่อค้าจากอำเภอแม่สายเข้ามาติดต่อขอซื้อกระดาษเป็นจำนวนมาก
พ่อค้าลงทุนเอาเครื่องตีเยื่อเข้ามาให้ถึงหมู่บ้าน เมื่อ ปี 2531
(บ้านใหม่หมอกจ๋ามมีไฟฟ้าใช้ปี 2530)
เป็นลักษณะการให้ยืมใช้ ยังไม่มีการหักเงินใช้ค่าเครื่องในขณะนั้น

จากที่เคยทำอยู่คนเดียว
ลุงจั่นตาต้องจ้างคนงานมาช่วย บางช่วงมีคนงานถึง 6-7 คน

กรรมวิธีการผลิตที่เคยทำแบบดั้งเดิมจึงต้องเปลี่ยนแปลงให้ทันกับความต้องการ
มีการใช้สารเคมีคือ โซดาไฟ (โซเดียมไฮดรอกไซด์) แทนขี้เถ้า
และผงฟอกคลอรีน เพื่อให้เยื่อขาว  แทนสีธรรมชาติที่เคยมีเพียงสีเดียว
และบางทีก็ต้องย้อมสีอื่น ๆ ตามใจลูกค้า

ลุงบอกว่ามีหน่วยงานราชการพาไปอบรมเรื่องการย้อมสี
และสอนทำผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ จากกระดาษ
แต่เราก็ไม่ได้เห็นผลิตภัณฑ์ใด ๆ นอกเหนือจากกระดาษเป็นแผ่น ๆ และสมุดพับ
เพราะเพียงแค่นี้ลุงก็ทำไม่ทันแล้ว

ภาพชาวบ้านนั่งเรียงกันล้างเปลือกไม้ริมแม่น้ำกกที่เห็นในครั้งแรก
เคยเป็นภาพบริสุทธิ์ สวยงาม ติดตาติดใจ
แต่เมื่อจินตนาการถึงสายน้ำที่ต้องรองรับสารเคมีเหล่านี้วันแล้ววันเล่าแล้วก็น่าใจหาย
มันเป็นวิถีของความเจริญที่มาพร้อมกับการทำลายซ้ำแล้วซ้ำเล่า
เหมือนฉายหนังเรื่องเดิม ๆ จนเราชินชา ?

ก่อนกลับ ฉันซื้อสมุดพับ (คนเมืองเรียก "ปั๊บ" ) ของลุงมาเล่มหนึ่ง
ถูกใจมากเพราะเล่มใหญ่ได้ใจ  กระดาษสาสีธรรมชาติเนื้อเีนียนแน่น
(ตรงนี้ลุงมีเคล็ดลับในการทำกระดาษปั๊บที่น่าสนใจ แต่จะเล่าถึงในวันหลัง)

สมุดพับผูกพันกับวิถีชีวิตของคนโบราณแถบบ้านเรา
ซึ่งน่าจะรวมทั้งอุษาคเนย์
ใช้บันทึกสรรพตำราต่าง ๆ  ใช้เรียน ใช้สอน ทำถวายพระ ถวายวัด
จึงทำด้วยความประณีต  ถวายเป็นพุทธบูชา
ฝรั่งเรียก Accordion book เพราะต้องพับกระดาษทบไปทบมาแบบหีบเพลงชัก
มีเทคนิควิธีการทำเฉพาะตัว ที่ไม่ง่ายเลย

ปั๊บเล่มที่ฉันซื้อของลุงเล่มนี้ ความกว้างยาวของเล่มคือ  7 1/4 " x 18 3/4 "  หนา 2 1/2"
เมื่อคลี่ออก วัดความยาวของกระดาษดูแล้ว อยู่ที่  27 เมตร
แม่จ้าว !!   ฉันซื้อมาในราคา (เมื่อ 20กว่าปีก่อน) เพียง 200 บาท

อยากจะร้องกรี๊ดสส... และเป็นลมแปดตลบ
ให้กับราคาสมุดถูกแสนถูกของลุง
และอีกกรี๊ดสส..ให้กับราคาของทุกอย่างที่แพงขึ้นอย่างเสียสติในวันนี้

ฉันอยากกลับไปเยี่ยมลุงอีก  คิดไว้หลายครั้งแต่ก็ไม่เคยมีโอกาส
ป่านนี้ถ้าลุงยังอยู่ ลุงคงอายุ 90 กว่าแล้ว
หรือถ้าลุงไม่อยู่แล้ว ลูกชายของลุงที่เคยเป็นคนส่งของให้พ่อ
จะทำงานนี้ต่อหรือเปล่านะ
ลมหายใจของกระดาษบ้านใหม่หมอกจ๋ามจะยังมีอุ่นไออยู่หรือเปล่า ?
แม่น้ำกกสายนั้นยังอยู่ดีมีสุขอยู่หรือเปล่าหนอ ?

ล้วนเป็นคำถามที่ชวนให้จินตนาการต่อไปไม่รู้จบ...



















วันพุธที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

ป้าอีเลนและลุงซิดนีย์








ปลายปี 2539  ฝรั่งอาวุโสสองคนผัวเมียนามอีเลน และซิดนีย์
นัดหมายมาหาเราที่บ้าน

อีเลน เป็นนักประวัติศาสตร์กระดาษชาวอเมริกัน เชื้อสายยิว
ขณะนั้นเธออายุราว 60 ปีเศษ
ในขณะที่ซิดนีย์ เป็นอดีตนายแพทย์  แก่กว่าอีเลนราว 10 ปี

ทั้งสองเป็นคู่สามีภรรยาที่น่ารัก สมกับคำกล่าวว่า ถือไม้เท้ายอดทอง กระบองยอดเพชร
ซิดนีย์เป็นสามีที่ให้เกียรติและยกย่องภรรยามาก
ขณะที่อีเลนเก็บข้อมูลต่าง ๆ  ซิดนีย์จะทำหน้าที่ช่างภาพ
ทั้งคู่เดินทางไปเก็บเรื่องราวการทำกระดาษในที่ต่าง ๆ มาทั่วโลก
และเธอเดินทางมาหาเราก็เพราะเราเป็นคนทำกระดาษนั่นเอง

ทั้งคู่เป็นเจ้าของพิพิธภัณฑ์ทีชื่อ แคริเอจเฮ้าส์  ในนิวยอร์ก
เป็นพิพิธภัณฑ์เกี่ยวกับงานกระดาษ ที่ได้จากการเดินทางไปทั่วโลก
เปิดสอนการทำกระดาษและขายอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง

ทุกครั้งที่เดินทาง เธอจะเขียนหนังสือและพิมพ์หนังสือ
เล่าเรื่องราวที่เธอได้ไปสัมผัสพบเห็น

นอกจากนั้นเธอยังได้รับเชิญไปบรรยายตามสถาบันต่าง ๆ
และยังจัดทัวร์ พาศิลปินนานาชาติ ที่สนใจงานกระดาษมาทัวร์แถบเอเชีย
โดยประเทศที่เป็นเป้าหมายหลักในการมาศึกษาดูงานของเธอในทุกครั้ง
ก็คือประเทศพม่า

อีเลนมีความผูกพันกับประเทศพม่าเป็นพิเศษ
เธอเคยรับอุปการะเด็กพม่าหลายคน และพาบางคนไปอยู่ที่อเมริกาด้วย

ก่อนที่จะมาพบเรา อีเลนพาลูกทัวร์ไปเยือนพม่ามาแล้วนับครั้งไม่ถ้วน
ที่พม่า เธอพาลูกทัวร์ไปหมู่บ้านทำกระดาษใกล้เมืองมันดะเลย์
ที่เธอเขียนเล่าไว้ในหนังสือว่าเป็นกระดาษที่ทำเพื่อใช้รองแผ่นทองคำเปลว
คนพม่าทำบุญ ไหว้พระกันมากจนเป็นลักษณะเด่นประจำชาติ
วัฒนธรรมการทำกระดาษเพื่อใช้ในพิธีกรรมเหล่านี้ จึงยังคงอยู่ตลอดมา
แม้การเดินทางเข้าไปในหมู่บ้านจะยากลำบาก บางช่วงต้องนั่งเกวียน
แต่เธอก็พากันดั้นด้นไปจนถึง

จากการพบกันในวันนั้น อีเลนมีข้อเสนอว่าจะขอพาทัวร์ประจำปีของเธอ
มาปิดท้ายที่โรงงานเล็ก ๆ ของเรา
โดยปฏิทินทัวร์ของเธอมักจะจัดช่วงปลายปี
โดยตั้งใจให้ตรงกับเทศกาลลอยกระทง - ที่พวกเขาบอกว่าประทับใจ

ปีแรกที่เรารับลูกทัวร์ของอีเลน คือปี พศ.2540
มีสมาชิก (ไม่รวมอีเลนและซิดนีย์) 7 คน
มาจากออสเตรีย  เดนมาร์ก  สวิตเซอร์แลนด์  โคลอมเบีย และอเมริกา
มีผู้ชายเพียงคนเดียวจากอเมริกา

พวกเขาสนุกที่จะเรียนรู้  บางคนอายุเกือบ 80 แล้ว
แต่เข้มแข็งและองอาจ  กระตือรือร้นอย่างน่านับถือ

ช่วงเวลา 2-3 วันที่อยู่กับเรา
สมาชิกจะได้รับความรู้ในเรื่องการทำกระดาษไทย
ตั้งแต่วัตถุดิบ การเตรียม  ได้รู้จักอุปกรณ์เครื่องมือต่าง ๆ
และได้ลงมือปฏิบัติจริง  โดยมีคนงานของเราคอยเป็นผู้ช่วยอำนวยความสะดวกให้

ในช่วงปีแรก ๆ ของการต้อนรับทัวร์ศิลปิน
เราได้รับความช่วยเหลือจากพี่พร - อาจารย์พรพิมล ตรีโชติ
ผู้เชี่ยวชาญประเทศพม่า จากสถาบันเอเชียศึกษา ช่วยมาเป็นผู้ประสานงานให้

แรงจูงใจอย่างหนึ่งที่พี่พรบอกว่าอยากมาช่วย
คือความผูกพันที่ป้าอีเลนมีต่อชาวพม่า  เช่นเดียวกับที่พี่พรมี
ช่างเป็นความบังเอิญที่ลงตัวเสียจริง ๆ

ปีถัด ๆ มา เรามีศิลปินมาร่วมอีกหลายประเทศ
ทั้งจากสเปน  ออสเตรเลีย  เยอรมัน  แคนาดา  อังกฤษ  ฝรั่งเศส และญี่ปุ่น

ป้าอีเลนและลุงซิดนีย์นำลูกทัวร์มาหาเราอยู่ราว 2-3 ปี
เธอก็โอนภาระนี้ให้ ดอนนา - ลูกสาวคนเดียวของเธอเป็นผู้สืบทอด

ดอนนาในวัย 40 เศษ  เรียนจบทางด้านศิลปะ
เธอมาสานต่อธุรกิจของครอบครัว  ดูแลแคริเอจเฮาส์
และเป็นหัวหน้าทีม นำลูกทัวร์มาแทนแม่ครั้งแรกในช่วงเทศกาลลอยกระทง ปี 2000

ดอนนาเป็นผู้หญิงร่างเล็ก ผอมบาง บุคลิกของเธอเป็นคนเรียบง่าย
ดูเป็นคนจริงจังและกังวลอยู่นิด ๆ
เพราะต้องรับผิดชอบงานทั้งหมดของครอบครัว

ดอนนารับช่วงต่อจากแม่ได้ราว 3 ปี ก็เกิดเหตุการณ์  11 กันยายน 2002
ถล่มตึกเวิลด์เทรด  เหตุการณ์ทางการเมืองที่สะเทือนขวัญคนทั้งโลก
และเป็นสาเหตุให้โครงการทัวร์ของดอนนาต้องยุติลง
เพราะความหวั่นไหวของสมาชิก  ทำให้การเดินทางต่าง ๆ ต้องชะงักงัน
ทริปสุดท้ายของดอนนาคือปลายปี 2003  มีสมาชิกเหลือเพียง 3 คน

ส่วนอีเลนและซิดนีย์ แม้จะมอบกิจการให้ลูกสาวดำเนินการต่อ
ก็ใช่ว่าพวกเขาจะหยุดอยู่บ้านพักผ่อน เช่นคนแก่ทั่ว ๆ ไป

ปีแรกที่ดอนนามารับงานแทน
อีเลนและซิดนีย์เดินทางไปประเทศจีนตามเส้นทางสายไหม
อู่อารยธรรมอันยิ่งใหญ่ของโลก
สืบสาวเรื่องราวของกระดาษต่อไปอย่างไม่ลดละ

หลังการเดินทางครั้งนั้น พวกเขากลับมาเยี่ยมเราครั้งหนึ่งและเล่าให้ฟังว่า
หมู่บ้านบางแห่งที่พวกเขาไป ชาวบ้านไม่เคยเห็นชาวต่างชาติมาก่อนเลยในชีวิต

ความลำบากทางกายไม่เคยเป็นอุปสรรคสำหรับพวกเขา
เราไม่เคยได้ยินคำบ่น  ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการกิน การอยู่ หรือความไม่สะดวกสบายต่าง ๆ
สิ่งเหล่านั้นกลายเป็นเรื่องเล็กมาก
เมื่อเทียบกับความมุ่งมั่นในชีวิตของพวกเขา


ทุกวันนี้ อีเลนและซิดนีย์ยังคงเดินทางต่อไปด้วยหัวใจที่เปี่ยมพลัง
ทั้งที่มีคนเล่าให้เราฟังว่า
ดวงตาของซิดนีย์มองเห็นแค่ระยะไม่เกิน 1 ฟุตแล้่ว

ขอบคุณป้าอีเลน และลุงซิดนีย์
ที่เป็นแรงบันดาลใจอันยิ่งใหญ่
เวลาใดที่ทดท้อต่อชีวิต  เวลาใดที่จิตตก  งี่เง่า  ท้อถอย ไม่มีกำลังใจ
ลุงและป้าเหมือนเดินออกมาชี้หน้า ย้ำเตือนว่าให้ดูฉันเป็นตัวอย่าง
ชีวิตฉันมีค่าเสมอ

และฉันไม่เคยยอมแพ้